กรุงเทพโพลล์ เปิด “ความในใจแรงงานไทย” เผย 64% รู้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ได้รับจริงแค่ 59.6% ที่เหลือยังไม่ได้ปรับค่าแรง ระบุ ค่าจ้างขั้นต่ำยังไม่พอกับค่าใช้จ่ายรายวันถึง 39.9% ต้องไปกู้ยืม พบ 85.5% กังวลข้าวของแพงขึ้นหลังขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำติดกัน 2 ปี 19.8% ห่วงต่างด้าวแย่งงานทำ ขอนายจ้างเพิ่มเงินรายวันขึ้น เพิ่มสวัสดิการรักษาพยาบาล
วันนี้ (1 พ.ค.) กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ความในใจของแรงงานไทย 4.0” เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ หรือ วันเมย์เดย์ โดยเก็บข้อมูลผู้ใช้แรงงานพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 1,045 คน พบว่า ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ ร้อยละ 64.3 รับทราบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 308 - 330 บาท ตามที่รัฐมีมติปรับขึ้นเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา ขณะที่ร้อยละ 35.7 ยังไม่ทราบ
เมื่อถามต่อว่าได้รับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นตามที่รัฐมีมติปรับขึ้นค่าจ้างใหม่หรือไม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 59.6 ได้รับแล้ว ขณะที่ร้อยละ 40.4 ยังไม่ได้รับ ส่วนความรู้สึกในการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2 ปี ติดต่อกัน ส่วนใหญ่ร้อยละ 52.7 รู้สึกมีความสุข อยากให้ขึ้นแบบนี้ทุกๆ ปี ส่วนร้อยละ 35.7 รู้สึกเฉยๆ ไม่ได้ทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น ขณะที่ร้อยละ 11.6 รู้สึกแย่ คิดว่าน่าจะขึ้นมากกว่านี้
เมื่อถามว่าค่าแรงขั้นต่ำที่ได้รับในแต่ละวันเพียงพอกับค่าใช้จ่ายหรือไม่ ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 39.9 ระบุว่า ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ต้องกู้ ต้องหยิบยืม ขณะที่ร้อยละ 30.9 ระบุว่า เพียงพอกับค่าใช้จ่ายและมีเงินเก็บออม ส่วนร้อยละ 29.2 ระบุว่า พอดีกับค่าใช้จ่ายจึงไม่มีเงินเหลือเพื่อเก็บออม สำหรับเรื่องที่กังวลหลังจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2 ปีติดต่อกัน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 85.5 กังวลว่าข้าวของจะราคาแพงขึ้น เพราะต้นทุนผู้ประกอบการสูงมากที่สุด รองลงมาร้อยละ 25.1 กังวลว่าค่าแรงขั้นต่ำจะไม่ขึ้นอีกหลายปี และร้อยละ 19.8 กังวลว่าแรงงานต่างด้าวเข้ามาแย่งงาน
เมื่อถามว่าการขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำไปทั่วทุกภูมิภาค ทำให้อยากกลับไปทำงานที่บ้านเกิดหรือไม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 62.3 อยากกลับ ขณะที่ร้อยละ 37.7 ไม่อยากกลับ โดยในจำนวนนี้ให้เหตุผลว่า ใน กทม. และปริมณฑล มีสวัสดิการดีกว่า (ร้อยละ 43.4) รองลงมาคือ มีงานให้เลือกน้อย (ร้อยละ 41.4) และชอบอยู่ กทม. และปริมณฑลมากกว่า (ร้อยละ 37.2) สุดท้ายเมื่อถามถึงความในใจที่อยากบอกกับนายจ้าง พบว่า เรื่องที่อยากบอกนายจ้างมากที่สุด คือ อยากให้เพิ่มเงินรายวันให้มากขึ้น (ร้อยละ 35.0) รองลงมาคือ อยากให้เพิ่มสวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาล (ร้อยละ 17.1) และอยากให้มีงานจ้างทุกวัน (ร้อยละ 13.8)