กรุงเทพโพลล์ สำรวจ “ความในใจแรงงานไทย 4.0” เผย ส่วนใหญ่ยังไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายประจำวันต้องกู้ต้องหยิบยืม กังวลข้าวของจะแพงขึ้นอีก และ ยังอยากกลับไปทำงานที่บ้านเกิด
วันนี้ (1 พ.ค.) กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ความในใจของแรงงานไทย 4.0” โดยเก็บข้อมูลกับผู้ใช้แรงงาน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ ปริมณฑล จํานวน 1,045 คน พบว่า ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 64.3 รับทราบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ เป็น 308 - 330 บาท ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติปรับขึ้นเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา ขณะที่ร้อยละ 35.7 ยังไม่ทราบ
เมื่อถามต่อว่า ได้รับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นตามที่รัฐมีมติปรับขึ้นค่าจ้างใหม่หรือไม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 59.6 ได้รับแล้ว ขณะที่ร้อยละ 40.4 ยังไม่ได้รับ
เมื่อถามว่า รู้สึกอย่างไรกับการขึ้นค่าแรงขั้นตํ่า 2 ปี ติดต่อกัน ส่วนใหญ่ร้อยละ 52.7 รู้สึกมีความสุข อยากให้ขึ้นแบบนี้ทุกๆ ปี ส่วนร้อยละ 35.7 รู้สึกเฉยๆ ไม่ได้ทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น ขณะที่ร้อยละ 11.6 รู้สึกแย่ คิดว่าน่าจะขึ้นมากกว่านี้
ทั้งนี้ เมื่อถามว่า ค่าแรงขั้นต่ำที่ได้รับในแต่ละวันเพียงพอกับค่าใช้จ่ายหรือไม่ ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 39.9 ระบุว่า ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ต้องกู้ต้องหยิบยืม ขณะที่ร้อยละ 30.9 ระบุว่า เพียงพอกับค่าใช้จ่ายและมีเงินเก็บออม ส่วนร้อยละ 29.2 ระบุว่า พอดีกับค่าใช้จ่าย จึงไม่มีเงินเหลือเพื่อเก็บออม
สําหรับเรื่องที่กังวลหลังจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2 ปีติดต่อกัน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 85.5 กังวลว่า ข้าวของจะมีราคาแพงขึ้น เพราะต้นทุนผู้ประกอบการสูงมากที่สุด รองลงมา ร้อยละ 25.1 กังวลว่า ค่าแรงขั้นต่ำจะไม่ขึ้นอีกหลายปี และร้อยละ 19.8 กังวลว่า แรงงานต่างด้าวจะเข้ามาแย่งงาน
เมื่อถามว่า การขึ้นค่าแรงขึ้นตํ่าไปทั่วทุกภูมิภาค ทําให้อยากกลับไปทํางานที่บ้านเกิดหรือไม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 62.3 อยากกลับ ขณะที่ร้อยละ 37.7 ไม่อยากกลับ โดยในจำนวนนี้ให้เหตุผลว่า ใน กทม. และปริมณฑล มีสวัสดิการดีกว่า (ร้อยละ 43.4) รองลงมา คือ มีงานให้เลือกน้อย (ร้อยละ 41.4) และชอบอยู่ กทม. และปริมณฑล มากกว่า (ร้อยละ 37.2)