“อัษฎางค์ ยมนาค” ไล่บี้ “ทอน” จากการให้สัมภาษณ์งาน “วิ่งไล่ลุง” จับผิดทุกคำพูด อ้างประชาชนเป็นเกราะกำบัง “ลูกผู้ชายอะไร กล้าคิด กล้าทำ แต่ไม่กล้ารับ” แถวบ้านเรียก หน้า...
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (13 ม.ค. 63) เฟซบุ๊ก อัษฎางค์ ยมนาค ของนายอัษฎางค์ ยมนาค นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง โพสต์หัวข้อ “ธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) กับส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ในงานวิ่งไล่ลุง....”
โดยระบุว่า “ธนาธร : สิ่งที่เราเห็น คือความเป็นเผด็จการที่หลงเหลืออยู่
ผม : ตรงไหนที่เป็นเผด็จการ?
ถ้าพรรคฝ่ายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นเผด็จการ แล้วพรรคฝ่ายค้านที่มาจากการเลือกตั้งสนามเดียวกัน เป็นอะไร?
ธนาธร : ผมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ ยุติการข่มขู่คุกคามประชาชน ที่ลุกขึ้นมาแสดงสิทธิเสรีภาพของตัวเอง ในการเรียกร้องประชาธิปไตย
ผม : เจ้าหน้าที่รัฐ คุกคามประชาชน หรือคุกคามคุณ คุณคนที่ทำผิดกฎหมาย ซ้ำซาก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ยังอ้าปากพูดบิดเบือนว่าเจ้าหน้าที่คุกคามประชาชน
คำว่าประชาชน หมายถึงตัวคุณและพรรคพวกใช่มั้ย?
ธนาธร : ผมเชิญชวนพี่น้องทุกคนจงกล้าหาญ ต่อสู้กับอำนาจอยุติธรรมต่างๆ เหล่านี้
ผม : ตัวเองทำผิดกฎหมายซ้ำแล้วซ้ำอีก พอโดนเจ้าหน้าที่จับได้ ก็ออกมาโวยวายว่า โดนอำนาจอยุติธรรมเล่นงาน
ถ้าคนทั้งชาติที่ทำผิดกฎหมายแล้วต่างออกมาโจมตี การรักษากฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ ว่า มันคืออำนาจอยุติธรรม ประเทศชาติและสังคมไทยจะเป็นยังไง? โจรไม่เต็มบ้านเต็มเมืองหรือ ?
ธนาธร : เขาต้องการให้เรากลัว
ผม : คนที่กลัว คือประชาชนทั้งชาติ หรือเฉพาะตัวคุณและพรรคพวก กันแน่ ?
กฎหมายและเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย มีหน้าที่ที่จะบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้คนทำผิดกฎหมาย กลัว
ถ้าใครที่ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย จะต้องกลัวอะไร
นึกยังไงก็นึกไม่ออก ว่าจะกลัวอะไร ถ้าไม่ได้ทำอะไรผิด
คุณกลัว รึป่าว ? คุณกำลังกลัว ใช่มั้ย ?
คุณรู้ตัวว่ากำลังทำผิดกฎหมาย และกฎหมายกำลังเล่นงานคุณอยู่ ใช่หรือไม่ ?
คุณกลัว ก็ยอมรับมาดีๆ อย่าอ้างประชาชน ซึ่งเป็นคนอื่น ว่ากำลังกลัว ทั้งๆ ที่ตัวคุณนั้นแหละที่กำลังกลัว
ธนาธร : ถ้าเรากลัว เราจะไม่มีวันได้สังคมที่ดีกลับคืนมา
ผม : ก่อนที่ คสช.จะเข้ามา เรามีสังคมที่ดีอย่างนั้นหรือ?
ถ้าจำไม่ผิด สังคมก่อนที่ คสช.เข้ามา เป็นสังคมที่แตกแยกเป็นเสี่ยงๆ สังคมที่มีนักการเมืองโกงกินบ้านเมือง แล้วปลุกปั่นยั่วยุให้คนออกมาเผาบ้านเผาเมือง
แต่พอ คสช.เข้ามา ภาพความแตกแยก ภาพของความไม่สงบในบ้านเมือง หายไปเป็นปลิดทิ้ง
แต่พอพวกคุณกลับเข้ามาใหม่ บ้านเมืองทำท่าจะเกิดความไม่สงบ จะเกิดความแตกแยก อีกแล้ว
แบบนี้ใช่มั้ยที่คุณพูดว่า “ถ้าเรากลัว เราจะไม่มีวันได้สังคมที่ดีกลับคืนมา”
ธนาธร : ฝากไปถึงคุณประยุทธ์ เลิกได้แล้ว การคุกคามประชาชน
ผม : พล.อ.ประยุทธ์ คุกคามคุณ หรือคุกคามประชาชน เอาให้เคลียร์
พล.อ.ประยุทธ์ คุกคามประชาชนตรงไหน ?
คุณทำผิดกฎหมายซ้ำซาก พอโดนจับได้ คุณจึงก็รู้สึกกลัว และคิดว่ากำลังโดนคุกคาม
แต่คุณใช้คำว่าประชาชน แทนตัวเอง
คุณรู้สึกว่าตนเองโดนคุกคาม
แต่อ้าปากพูดว่า ประชาชนโดนคุกคาม
ใช่หรือไม่?
ลูกผู้ชายอะไร กล้าคิด กล้าทำ แต่ไม่กล้ารับ
แถมเอาประชาชนมาเป็นเกราะกำบังตัวเอง
แบบนี้แถวบ้านเรียก หน้า . . .
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 62 นายอัษฎางค์ ยมนาค เคยโพสต์กรณีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ไม่ยอมรับมติ กกต.ยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยระบุว่า ปัญหาอยู่ที่กฎหมายที่จ้องกำจัดศัตรูทางการเมืองจริงหรือ? หรือเพราะความไม่รอบคอบของตนเอง? ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ แถลงในฐานะตัวแทนพรรค ยืนยัน ไม่เห็นด้วยมติ กกต. ที่ส่งศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค
ที่น่าสนใจนับจากปิยบุตร ถามโดยตั้งข้อสังเกตว่า กกต.เร่งรัดคดีกู้เงินผิดสังเกต ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาไม่มีการสอบสวน มีเพียงการเรียกให้ชี้แจงเพียง 3 ครั้ง ในชั้นของกรรมการไต่สวน
ตอบ เรื่องนี้ไม่มีปัญหาข้อเท็จจริง เหมือนกรณีธนาธร ถือหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย ว่า โอนหุ้นเมื่อไรกันแน่ แต่กรณีเรื่องเงินกู้นี้ นายธนาธร ยอมรับเองว่า ให้พรรคอนาคตใหม่กู้เงิน และการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช ว่ามีรายการให้พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงิน 2 รายการรวม 191 ล้าน 2 แสนบาท เพราะฉะนั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องสอบสวน สืบสวน หรือต้องตั้งกรรมการไต่สวนใดๆ อีก นี่ ร.ศ.ดร.ปิยบุตร เป็นรองศาสตราจารย์ทางด้านกฎหมายไม่ใช่หรือ?
ปิยบุตร ถามเงินจากการกู้เงินจากหัวหน้าพรรค ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร?
ตอบ (ด้วยภาษาแบบที่ชาวบ้านเข้าใจ) กฎหมายรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยรายได้ ค่าใช้จ่ายของพรรคการเมือง มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้พรรคการเมืองถูกครอบงำจากนายทุน จึงจำกัดวงเงินที่พรรคการเมืองจะรับบริจาคจากผู้ให้บริจาคแต่ละรายไว้ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อปี นี่ รศ.ดร.ปิยบุตร เป็นรองศาสตราจารย์ทางด้านกฎหมายไม่ใช่หรือ?
การที่หัวหน้าพรรคบริจาคเงินหรือให้เงินกู้กับพรรค เข้าข่ายที่จะมีอิทธิพลครอบงำ เข้าใจมั้ย ใครก็ตามที่เป็นเจ้าของเงิน มักมีผลหรือมีอิทธิพล ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ต่อองค์กร เช่น คุณไปกู้เงินใครมาสักคน แล้ววันดีคืนดี เขาขอให้คุณช่วยเหลือเขา เช่น ฝากลูกเข้าเรียน เข้างาน หรือเขามีโครงการประมูลกับรัฐ อยากให้คุณช่วย เอาแค่เรื่องง่ายๆ ไม่ต้องโฉงฉ่าง แค่ช่วยพิจารณาโครงการของเขาด้วย คุณจะกล้าปฏิเสธผู้ให้การสนับสนุนพรรคมั้ย เห็นมั้ยว่าเจ้าของเงิน คือผู้มีอุปการะคุณ คุณกล้าปฏิเสธหรือว่าเมืองไทยไม่มีสังคมอุปถัมภ์ คุณกล้าปฏิเสธมั้ยว่าอเมริกาก็มีระบบอุปถัมภ์
ทรัมป์แบนความช่วยเหลือไทยเราล่าสุด ด้วยเหตุผลอะไร เรารู้กันดี เพราะช่วยปกป้องผลประโยชน์ของผู้ที่ออกเงินเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชูให้ทรัมป์ คุณว่าธนาธร กับทรัมป์ ใครรวยกว่ากัน แล้วทรัมป์รวยมหาศาลกว่าธนาธรไม่รู้เท่าไหร่ ทำไมยังต้องมีผู้อุปถัมภ์ ต่อให้เจ้าของเงินกู้ร้อยกว่าล้านไม่ใช่ธนาธร เจ้าของเงินกู้คนนั้นย่อมมีอิทธิพลไม่ทางตรงก็ทางอ้อมต่อพรรคแน่นอน กฎหมายถึงได้กำหนดขึ้นมาเป็นข้อปฏิบัติ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นและยากที่มองเห็นนี้
ปัญหานี้จัดการง่ายมาก “แค่คุณทำตามกฎหมาย”
กฎหมายไม่ได้เขียนขึ้นมาเพื่อฆ่าคุณโดยเฉพาะ เขาเขียนขึ้นมาก่อนคุณจะนำพรรคลงสมัครรับเลือกตั้ง เขาเขียนขึ้นมาเพื่อเป็นข้อบังคับสำหรับทุกพรรคและทุกคน ในขณะที่ทุกพรรคทำตามกฎหมาย แต่คุณไม่ทำตามกฎหมาย พอถูกกฎหมายเล่นงาน คุณก็ง่องแง่งเป็นเด็กๆ อ้างว่าถูกการเมืองเล่นงาน อ้างว่า 2 มาตราฐาน แล้วทำไมพรรคอื่นไม่โดน เพื่อไทยก็อยู่ฝ่ายเดียวกับคุณเขายังไม่โดน จะ 2 มาตรฐานได้ยังไง คุณไม่รอบคอบเอง
ตั้งแต่ธนาธร หัวหน้าพรรคคุณ ลืมโอนหุ้นแล้ว ก็เกิดจากความไม่รอบคอบ กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนก่อนหัวหน้าพรรคคุณสมัครรับเลือกตั้ง แต่เขากลับเป็นคนที่ไม่รอบคอบเอง ที่ลืมโอนหุ้นให้เรียบร้อย พอศาลเรียกไปชี้แจง กลับตอบว่าจำไม่ได้ ไม่ซึ่งมันคือการที่ไม่สามารถชี้แจงอะไรได้เลย พอศาลตัดสินว่าผิด หัวหน้าพรรคคุณกลับออกมาพูดนอกศาลว่า ศาลตัดสินด้วยการมโนไปเอง ไม่ได้พิจารณาตัดสินจากหลักฐาน คุณเห็นอะไรมั้ย?
คุณเห็นมั้ยว่าพรรคคุณมันมั่ว ไม่รอบคอบ ทำผิดกฎหมายจากความไม่รอบคอบ ผมไม่ได้บอกว่าคุณตั้งใจโกง คุณ(ยัง)ไม่ได้โกง แต่ผมบอกว่า คุณไม่รอบคอบ
กฎหมายเขียนไว้ว่าอย่างไร? พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 66 ที่ระบุว่า บุคคลใดจะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแห่งพรรคการเมือง มีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทต่อพรรคการเมืองต่อปีมิได้ และพรรคการเมืองจะรับบริจาคเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดซึ่งมีมูลค่าเกินกว่า 10 ล้านบาทมิได้
เรื่องนี้มันแดงมาได้ยังไง มันแดงมาจากปากของธนาธรเอง ไม่มีใครไปตามล่ามา แต่มันแดงมาจากนายธนาธร ไปพูดในวงประชุมสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ หลังการเลือกตั้งไม่นานว่า “พรรคอนาคตใหม่เป็นหนี้ตนอยู่ 100 กว่าล้านบาท เป็นเงินที่กู้มาใช้จ่าย สำหรับหาเสียงเลือกตั้ง”
คุณเห็นมั้ยว่า ไม่มีใครแกล้งคุณ คุณไม่รอบคอบ และคุณไม่รู้ตัวว่าทำผิดกฎหมาย ทั้งๆที่คุณเป็นพรรคการเมือง มีนักกฎหมายเต็มพรรค ไม่มีใครทำคุณ คุณมันไม่รอบคอบ
ไม่ตรวจสอบ ตรวจทาน ว่าข้อกฎหมายกำหนดอะไรไว้บ้าง คุณแหกกฎ ทำผิดกฎหมาย เพราะไม่รอบคอบ เรื่องเข้าใจง่ายแค่นี้เอง
ผิดพลาดเอง อย่าโยงไปเรื่องอื่นๆ หยุดง่องแง่งเป็นเด็กๆ หยุดปลุกระดมคนเข้ามาช่วยคนที่ไม่รอบคอบอย่างคุณเลย แค่คุณรอบคอบกว่านี้ ใครก็ทำอะไรคุณไม่ได้ กฎหมายกำหนดว่า ห้ามถือหุ้นสื่อ ถ้าคุณไม่ถือหุ้นสื่อ ใครจะทำอะไรคุณได้ กฎหมายห้ามรับเงินเกิน 10 ล้าน ถ้าคุณไม่ได้รับเงินใครเกิน 10 ล้าน ใครก็ทำอะไรคุณไม่ได้ จริงมั้ย พรรคคุณ(ยัง)ไม่ได้โกง ไม่มีทุจริตคอรัปชั่น อภิปรายในสภาอย่างเป็นระบบน่าเลื่อมใส แต่หัวหน้าพรรคและพรรคของคุณ ไม่รอบคอบ สะดุดขาตัวเองด้วยการทำผิดกฎหมายที่เขียนไว้ชัดเจน เสียเอง
ตายเพราะตกม้าตาย ไม่ได้ตายเพราะออกไปรบ
เห็นได้ชัดว่า โพสต์ของ อัษฎางค์ ยมนาค คือข้อเท็จจริงล้วนๆ ต่างจากหัวหน้าพรรคการเมืองบางพรรคที่เรียกตัวเองว่า เป็นนักประชาธิปไตยตัวยง แต่คำพูดเต็มไปด้วยวาทกรรมบิดเบือนเบี่ยงเบน ปลุกระดม หลอกลวง ก็ต้องดูว่า คนไทยจะเชื่อความจริง หรือคำลวง ไปอีกนานแค่ไหน?