ฝ่ายค้านจวก รบ.ทำงบขัด รธน. ขู่ยื่น ป.ป.ช.สอบ ฉะจัดสรรงบแบบฟุ้งซ่านเน้นงานอีเวนต์ไร้ประโยชน์กับ ปชช. “กรณ์” แนะจัดให้เหมาะสมรับมือดิสรัปชัน ด้าน กมธ.ฝ่ายข้างมากยกกฤษฎีกา-กรมบัญชีกลางการันตียันงบฯ 63 ไม่ขัด รธน.ก่อนโหวตผ่านมาตรา 4
วันนี้ (8 ม.ค.) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 หลังจากที่คณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาแล้วเสร็จ โดยมีการอภิปรายในมาตรา 4 เกี่ยวกับภาพรวมงบประมาณ 3.2 ล้านบาทโดยกรรมาธิการเสียงข้างน้อยส่วนหนึ่งแปรญัตติขอปรับลดงบประมาณตั้งแต่ 1-20% อาทิ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กรรมาธิการเสียงข้างน้อยขอตัด 15% หรือ 480,000 ล้านบาทว่า การจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณครั้งนี้ มีเงื่อนไขที่ต้องปรับตัวใหม่ เพราะต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับใหม่ที่มีเงื่อนไขบังคับหลายเรื่อง แต่งบประมาณบางกระทรวงกลับได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยกระทรวงอื่นๆ โดยเฉพาะงบประมาณของกองทัพ และงบประมาณควรจะคำนวณให้สอดคล้องกับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศหรือจีดีพี
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล กมธ.เสียงข้างน้อย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การพิจารณางบประมาณครั้งนี้มีความผิดปกติหลายเรื่อง อาทิ ไม่ได้เขียนเรื่องเงินนอกงบประมาณไว้ในร่าง พ.ร.บ. แสดงให้เห็นว่ามีเงินส่วนหนึ่งที่รัฐบาลใช้จ่าย โดยไม่ผ่านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ กังวลว่า หาก ส.ส.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.นี้อาจนำไปสู่การยื่นให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบได้
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อย ขอตัดลดงบ 15% หรือ 4.8 แสนล้านบาท เนื่องจากเดิมคาดว่าอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2563 จะโต 3-4% แต่ปัจจุบันโตแค่ 2.6% ทำให้รายได้ประเทศลดลง ขณะที่งบประมาณด้านการลงทุนที่ตั้งไว้ 6.4 แสนล้านบาทนั้น มีระยะเวลาการใช้งบประมาณเพียง 6 เดือน ตั้งแต่เดือนปลายเดือน ก.พ.ที่คาดว่างบประมาณรายจ่ายปี 2563 จะมีผลบังคับใช้ไปจนถึงปลายเดือน ต.ค. ถือว่ามีเวลาใช้งบ 6 เดือน จึงจำเป็นต้องปรับลดงบรายจ่ายลง
น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ อภิปรายถึงการจัดสรรงบประมาณที่ไม่สอดคล้องกับการดำเนินงานจริง ไม่คำนึงถึงความเหมาะสมและความจำเป็นของโครงการ เช่น กรมวิชาการเกษตรตัดงบโครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร ทั้งที่เป็นเรื่องจำเป็น แม้มีหลายๆ หน่วยงานทำหน้าที่ชี้วัด แต่ไม่มีการประเมินผลอย่างจริงจัง ขณะที่การปฏิรูประบบราชการไม่เป็นผล มีหน่วยงานราชการเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องเพิ่มรายจ่ายประจำปีขึ้นไปด้วย และมีหลายหน่วยงานราชการทำงานซ้ำซ้อนและทำงานในภารกิจที่ไม่จำเป็น และชี้ว่ามีงบประมาณในอนาคตถูกใช้ไปแล้วเกือบ 100,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการก่อหนี้ผูกพันกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. จากโครงการประกันรายได้
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า การจัดสรรงบรายจ่ายปี 2563 ทั้งอำนาจ งบประมาณ และกำลังพลล้วนกระจุกอยู่ที่ส่วนกลาง ฟุ้งซ่านกับการทำโครงการต่างๆที่สร้างภาระแก่ผู้ปฏิบัติงาน มีแต่งานอีเวนต์ นิทรรศการ แต่ไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชน โดยเฉพาะในท้องถิ่นที่การใช้จ่ายงบประมาณไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ไม่ได้ถูกนำไปสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้เกิดการหมุนเวียนในท้องถิ่น เพราะถูกสูบมาไว้ที่นายทุนส่วนกลาง
นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอเสนอตัดงบรายจ่าย 1% เพื่อให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับดิสรัปชัน เช่น ปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้า ความได้เปรียบที่เราเคยมีจากอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ไม่มีอีกแล้ว ที่ผ่านมาประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกมากไปจนเกิดปัญหา หรือปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยนไป นำมาสู่การเกิดปัญหาหนี้สินจำนวนมาก คนไทยถูกฟ้องล้มละลายเป็นล้านคน พฤติกรรมการใช้เงินเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการใช้เงินผ่านร้านสะดวกซื้อหรือซื้อของออนไลน์ นำมาซึ่งการกระจุกตัวในแง่อำนาจเศรษฐกิจ การแก้ปัญหานี้ต้องดำเนินการผ่านงบประมาณจะต้องปฏิรูประบบภาษี เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีในการแข่งขัน อยากฝากรัฐบาลว่าจำเป็นต้องจัดงบประมาณให้เหมาะสม เพื่อให้ประชาชนรู้สึกว่างบประมาณที่ใช้เป็นไปเพื่อตอบสนองประชาชน ไม่ใช่หน่วยงานรัฐบาลเท่านั้น
นายอนุรักษ์ จุรีมาศ ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างมาก กล่าวว่า ได้หารือคณะกรรมการกฤษฎีกา และกรมบัญชีกลางแล้ว ยืนยันว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมายใดๆ ส่วนเงินนอกงบประมาณนั้น หน้าที่ของ กมธ.พิจารณาเฉพาะเงินรายจ่ายในงบประมาณแผ่นดินเท่านั้น อย่างไรก็ตาม กมธ.ตั้งข้อสังเกตในส่วนเงินนอกงบประมาณว่า ถ้าหน่วยงานต่างๆมีเงินนอกงบประมาณจะต้องนำมาแสดงในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ด้วย เพราะยอมรับว่า บางหน่วยงานอาจชี้แจงไม่ชัดเจนพอ
นายสันติ กีระนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ ชี้แจงถึงปัจจัยต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้งบประมาณ อย่างการใช้งบกลางในการแก้ไขภัยแล้ง ขณะที่สมมติฐานการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น เป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยากถึงสภาพเศรษฐกิจที่มีผลจากต่างประเทศ แต่หากปรับลดประมาณต่ำกว่า 3.2 ล้านบาท สิ่งที่ปรับลดไม่ได้แน่ๆ คือรายจ่ายประจำที่มีอยู่กว่าร้อยละ 70 ของงบประมาณทั้งหมด และหากมีการปรับลดก็จะกระทบต่องบลงทุน จึงควรใช้วิธีการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพแทนที่จะใช้วิธีการปรับลด ส่วนภาระหนี้สาธารณะ จากการชดเชยรายจ่ายที่ขาดดุลซึ่งตั้งไว้ 469,000 ล้านบาท แต่ยอดเงินกู้จริงจะอยู่ประมาณ 389,000 ล้านบาท เพราะหักลบงบที่จัดสรรใช้หนี้เงินกู้ไปแล้ว 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเทียบเคียงได้ว่าไม่สูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว พร้อมย้ำว่าช่วงแรกของปีงบประมาณ 2563 เดือนตุลาคมจนถึงเดือนธันวาคม ยังสามารถจัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการที่ 6,349 ล้านบาท ที่มาจากการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการจัดเก็บรายได้ โดยดึงกลุ่มที่ไม่ได้เสียภาษีกลับมาเสียภาษี พร้อมย้ำว่าค่าเงินบาทเริ่มอ่อนตัวแล้ว แม้ค่าเงินบาทแข็งอยู่ ส่งผลกระทบต่อการส่งออก แต่ด้านดีก็ได้เปรียบเกี่ยวกับการนำเข้า
ส่วนความกังวลว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 เป็นไปตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ว่ามีรับฟังความคิดเห็นหรือไม่นั้น นายสันติกล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ที่ส่งมาจากสำนักงบประมาณมีการชี้แจงรายละเอียดการรับฟังความคิดเห็นการกระทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นไปตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญทุกประการ
ภายหลังจาก กมธ.และ ส.ส.อภิปรายมาตรา 4 ครบถ้วนแล้ว ที่ประชุมลงมติเห็นชอบมาตราดังกล่าวตามที่ กมธ.เสนอมาด้วยคะแนน 244 ต่อ 88 งดออกเสียง 137 และไม่ลงคะแนน 3 เสียง