พล.ท.นันทเดช อดีตรองผอ.ข่าวกรองฯ ฟันธงเปรี้ยง เส้นทาง “ธนาธร” ใกล้จบ เหลือแต่เลือกจะอยู่ประเทศไหนในอนาคต
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (27 ธ.ค. 62) พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ กรรมการบริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) และอดีตรองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก หัวข้อ “ทำกับมือตัวเอง ดันไปโทษ รัฐธรรมนูญ”
โดยระบุว่า “ช่อ” เดินสายพูดว่า ถ้ามีรัฐธรรมนูญ แบบนี้ อีก10 ชาติ “ทอน” ก็เป็นนายกฯไม่ได้
เรื่องนี้สะท้อนความจริงได้อย่างชัดเจนว่า ช่อ ไม่เคยนึกถึงเรื่องจริงๆที่เกิดขึ้นเลย พูดไปเพื่อเอาใจ ทอน เท่านั้น เพราะ
1.ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ อาจทำให้พรรคอนาคตใหม่ มีส.ส.ที่มาจากเลือกตั้งได้แค่ 31 คน จากส.ส.เขตเลือกตั้งเท่านั้น ไม่มากมายเหมือนในปัจจุบันนี้
2. ถ้าไม่มี รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มายุบพรรคไทยรักษาชาติ จนแกนนำต้องหันกลับมาเทคะแนนเสียงให้พรรคอนาคตใหม่แทนแล้ว พอคาดได้ว่า อนาคตใหม่ อาจเหลืออยู่แค่15 คน ก็เป็นไปได้มากทีเดียว
3.ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญแบบนี้แล้ว คดีต่างๆของพรรค “ทอน” คงจะไม่มากมายขนาดนี้ เพราะ ช่อ ทอน และเพื่อน ท้าทายกฎหมาย ทุกคดีที่จะทำให้พรรคถูกยุบ หรือเสียหาย ล้วนแต่มาจาก “คิดเองทำเอง มากับมือตัวเอง ทั้งสิ้น” ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ,ทหาร หรือ ใครที่ “ช่อ”มักจะนำมาอ้างเพื่อให้พวกตนดูดี เลย
สุดท้ายยังโชว์ชายจูบชาย ที่รัฐสภาเพิ่มมาอีกด้วย
เส้นทางของ “ทอน” จึงไกล้จะจบแล้ว
คงเหลืออยู่แต่จะเลือกประเทศที่จะอยู่ในอนาคตเท่านั้นเอง
อย่าไปฝันว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีอีกเลย ครับ
ต้องยอมรับว่า สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ และพรรคอนาคตใหม่ คือ คดียุบพรรค 2 คดี และคดีแรก แทบพูดได้ว่า หายใจรดต้นคออยู่ในขณะนี้ คือ
คดีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้อง กรณีนายณฐพร โตประยูร (ผู้ร้อง) ยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของพรรคอนาคตใหม่ ผู้ถูกร้องที่ 1, นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ถูกร้องที่ 2, นายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ถูกร้องที่ 3 และคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ผู้ถูกร้อง 4 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่
คดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญระบุผลพิจารณาว่า ในคดีนี้มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องทำการไต่สวน(พรรคอนาคตใหม่ยื่นคำร้องขอให้ไต่สวน ถูกยกคำร้อง) ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง
ศาลรัฐธรรมนูญได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย และนัดอ่านคำวินิจฉัยในวันอังคารที่ 21 มกราคม 2563 เวลา 11.30 น.เป็นต้นไป
อีกคดีคือ คดีที่นายธนาธร ให้กู้เงินกับพรรคอนาคตใหม่ จำนวน 191.2 ล้านบาท ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้องกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่
โดยศาลรัฐธรรมนูญระบุ พิจารณาคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า เป็นกรณีที่ กกต.กล่าวอ้างว่าผู้ถูกร้องกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ซึ่งบัญญัติว่า
“ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย”
เมื่อผู้ร้องมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้ถูกร้องได้กระทำการอันเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 72
ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย(25 ธ.ค.62)ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7 (13) ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง พร้อมแจ้งให้ผู้ร้องทราบ และส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง
นี่คือ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
และที่สำคัญ หลังจากคดียุบพรรคงวดเข้ามาทุกที และพยานหลักฐานที่เป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมาย ก็ชัดเจนขึ้น ทำให้เห็นแนวโน้มที่พรรคอนาคตใหม่จะถูกยุบมากขึ้นตามไปด้วย
แต่แทนที่นายธนาธรและแกนนำพรรคอนาคตใหม่ จะมุ่งมั่นหาพยานหลักฐานมาต่อสู้คดีในศาล กลับชักชวนประชาชนออกมาต่อสู้ในรูปแบบต่างๆ เช่น แฟลชม็อบ ที่นายธนาธร นัดรวมตัวที่สกายวอล์กปทุมวัน ค้านระบบสืบทอดอำนาจ(14 ธ.ค.62 เวลา 17.00 น. เลิกเวลา 18.00 น.) และนัดใหม่อีกเดือนหน้า รวมทั้งการจัดกิจกรรม “วิ่ง ไล่ ลุง” ของกลุ่มนายธนวัฒน์ วงไชย นิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเพื่อนนิสิตจุฬาฯ ที่พรรคอนาคตใหม่ ก็ลับๆล่อๆว่าจะร่วม
ที่สำคัญ นายธนาธร ยังประกาศด้วยว่า แก้รัฐธรรมนูญ ทำได้สองทาง คือ แก้ด้วยเลือด กับแก้ด้วยการมีส่วนร่วมของทุกคน จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างสูงจากหลายฝ่าย ว่ากำลังจะนำไปสู่การนองเลือดซ้ำรอยประวัติศาสตร์หลายครั้งที่ผ่านมา และสุดท้าย ก็ยังวนเวียนอยู่กับการรัฐประหาร โดยทหารกลุ่มใหม่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้าสู่อำนาจ
นี่เอง วันนี้(27 ธ.ค.62) เช่นกัน ที่ชั้น 5 ห้างอิมพีเรียลลาดพร้าว ร้านกาแฟ พีซคอฟฟี่ แอนด์ไลบรารี่ มีการจัดงานปีใหม่ 2563 โดยมี แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)เข้าร่วมจำนวนมาก
และนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ได้วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองตอนหนึ่งว่า...
ในวันที่ 21 มกราคม ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัย ในคดีล้มล้างการปกครองของพรรคอนาคตใหม่ คิดว่า ตนคาดไม่ผิด ศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่อย่างแน่นอน ด้วยการพรรณนาเหตุจากลัทธิชังชาติ
อยากจะขอแนะกรรมการพรรคอนาคตใหม่ว่า หากวันที่ 21 มกราคมนี้ พรรคอนาคตใหม่ถูกตัดสินยุบพรรคจริง กรรมการบริหารพรรคที่เป็น ส.ส.อยู่ในขณะนี้ จำนวน 11 คน จะถูกตัดสิทธิไปด้วย ส่งผลให้ จำนวน ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ลดลงไป 11 คน เพื่อให้จำนวน ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ไม่หาย กรรมการบริหารพรรคทั้ง 11 คนที่เป็น ส.ส.ควรลาออกจากการเป็น ส.ส. เพื่อให้บัญชีรายชื่อลำดับถัดไป ได้เป็นแทน
เตรียมการไว้ให้ดี หากทัพแตก พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ส.ส.จะย้ายไปสังกัดพรรคใดแทน ระหว่างทางจะถูกฉก ส.ส.ไปอีกหรือไม่
ส่วนคดีเงินกู้พรรคอนาคตใหม่ ยังไม่รู้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะให้นำสืบหรือไม่ ยังมีอีกคดีคือ คดีแรกที่นายธนาธรถูกตัดสิทธิจากการเป็น ส.ส. ก็อาจเจอโทษทางอาญาด้วย ทั้งหมดทั้งปวงนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่กำลังเดินไป
"นายธนาธร หากจะตัดสินใจลงถนนจริง ควรมีการเตรียมความพร้อม ในเรื่องการชุมนุม ผมมีประสบการณ์มาตั้งแต่เด็ก ประชาชนมากันเองลอย ๆ มาได้ครั้งสองครั้ง ถ้าไม่มีการบริหารจัดการ จะถูกแทรกแซง และจบด้วยการล้อมปราบ ไม่ว่านายธนาธรจะตัดสินใจอย่างไร ต้องมีความพร้อม"
ส่วนกิจกรรม วิ่ง ไล่ ลุง (12 ม.ค.63) นายจตุพร เห็นว่าการใช้กลไกรัฐเข้าแทรกแซง จะเป็นการเพิ่มจำนวนคนมาร่วมกิจกรรม อย่างคาดไม่ถึง สิ่งสำคัญที่สุดตอนนี้คือ มีพรรคร่วมรัฐบาลพรรคหนึ่ง กำลังเดินสายปลุกระดม สร้างความขัดแย้ง โดยตั้งเวทีต่อต้านลัทธิชังชาติ ซึ่งทางรัฐบาลก็ยังไม่มีการตักเตือน ยังปล่อยให้ทำอยู่ แม้ว่าจะดูว่าคนที่มาร่วมฟังเวทีดังกล่าวมีไม่มากนัก แต่เป็นการบ่มเพาะความขัดแย้ง
ยกตัวอย่างเหตุการณ์เมื่อปี 2556 เป็นต้น รวมถึงหากรัฐบาล ไม่ห้ามพรรคร่วมดำเนินการดังกล่าว เท่ากับว่า รัฐบาลกำลังจะก้าวเข้าไปเป็นหนึ่งในคู่ขัดแย้ง ในกระดานการเมือง ถ้าเริ่มต้นด้วยกลไกรัฐตั้งเวทีรอ อีกฝ่ายตั้งเวทีคู่ขนาน สิ่งที่จะเกิดขึ้น จบลงอย่างเดียว คือ ยึดอำนาจอีกรอบ...
เห็นได้ชัด ไม่ว่าจะมองมุมไหน นายธนาธร ต่างมีจุดจบที่สั้นกว่าที่คิด และนับเป็นก้าวเดินที่ผิดพลาดอย่างมหันต์ นับแต่ดูเบาข้อกฎหมาย และท้าทายด้วยคิดว่า คนของตัวเอง ก็แน่จริงด้านกฎหมาย สุดท้ายก็เอวังด้วยประการฉะนี้