นายกฯ หวังไตรมาสแรกปีหน้าดีขึ้น ขออย่าตื่นตระหนกกันมากเกินไป ชี้ทุกคนต้องร่วมมือกัน และอย่าเหมารวมปลดพนง.-ธุรกิจปิดตัว เพราะพิษศก. ยกตัวเลขการจ้างงานมีมากกว่าคนตกงาน
วันนี้ (24 ธ.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น.ที่ทำเนียบรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) กล่าวถึงเป้าหมายปี 2563 ของรัฐบาล และความคาดหวังไตรมาสแรกปีหน้าของรัฐบาลว่า เราคาดหวังว่าไตรมาสแรกของปีหน้าน่าจะดีขึ้น ซึ่งรัฐบาลดำเนินการมาตลอดต่อเนื่อง ทั้งมาตรการสั้น กลาง ยาว และต้องยอมรับว่าภาวะเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลง ทุกประเทศกำลังลำบาก ทุกคนทราบสาเหตุอยู่แล้ว ทั้งนี้เรื่องของเศรฐกิจเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนประเทศ ถ้าเราทำให้เกิดความรู้สึกโดยตลอดว่า มันไม่ดีมากๆ บางครั้งก็เกินเลยไปหน่อย ซึ่งหากเราร่วมกันสร้างความมั่นใจว่าเศรษฐกิจยังไปได้อยู่อาจน้อยบ้าง ชะลอตัวบ้าง แต่ถ้าทุกคนร่วมมือกันก็จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และเชื่อมั่นว่าโครงการถนนคนเดินทั่วประเทศ จะทำให้การจับจ่ายใช้สอยทุกพื้นที่
ทำให้เศรษฐกิจฐากรากมีการหมุนเวียนทุกอย่างก็จะดีขึ้นและเมื่อภาครัฐมีเงินงบประมาณเติมเข้าสู่ระบบหลังพ.ร.บ.งบประมาณผ่านตามขั้นตอนก็จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นและน่ายินดีว่า งานโอทอปซิตี้ 2019 ที่ผ่านมา มียอดขายรวมมากกว่า 1,372 ล้านบาท ทำลายสถิติรอบ 5 ที่ผ่านมา เป็นการแสดงให้เห็นว่า ชุมชนและสินค้าต่างๆ มีการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้น สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
“ผมต้องการให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ไตรมาส 4 ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งผลไปยังไตรมาสแรกของปี 2563 รวมทั้งการเน้นการลงทุนในรัฐวิสาหกิจต่างๆ เกือบแสนล้านบาท ซึ่งต้องเร่งดำเนินการให้ได้โดยเร็ว โดยต้องใช้เงินอย่างเหมาะสม ซึ่งทุกคนต้องช่วยกันด้วยความเข้าใจจะไปบังคับเขาไม่ได้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกฯ กล่าวว่า สำหรับมาตรการทางการเงินวันนี้ ทุกคนทราบดีว่าเรามีปัญหาเรื่องค่าเงินบาทแข็งตัว ซึ่งมีมาจากหลายสาเหตุ โดยเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยและหน่วยงานต่างๆ เพื่อหามาตราการการผ่อนคลายว่าจะต้องทำอย่างไร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้มีมากยิ่งขึ้น โดยจะมีการออกมาตรการที่จะให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้ จึงไม่อยากให้ทุกคนตื่นตระหนกกันมากเกินไป
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ทุกคนต้องร่วมมือกันทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิต เพราะไม่เช่นนั้นจะกระเทือนไปถึงปัญหาเศรษฐกิจ การปลดพนักงาน ธุรกิจปิดตัว รัฐบาลก็มีมาตราการรองรับไว้หลายด้าน จึงไม่อยากให้เหมารวมว่า เป็นเพราะปัญหาเศรษฐกิจ ถ้าตรวจสอบดูจะพบว่า หลายโรงงานเขาสมัครใจที่จะปิดตัวเอง เพราะสู้ต้นทุนไม่ไหว หรือไม่สามารถพัฒนาสินค้าได้ จึงจำเป็นต้องปิดตัวลง ซึ่งมีโรงงานที่ปิดตัวลงจำนวน 1,480 แห่ง แต่ขณะเดียวกันก็มีการเปิดโรงงานใหม่ ๆ มากขึ้นเพิ่มเป็นสามเท่า มีการจ้างงานใหม่จำนวน 178,733 คน มีมูลค่าการลงทุนแสนล้านบาทมีการหมุนเวียนแรงงานและทุกคนต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง ซึ่งภาวะการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทุกปี วันนี้ตัวเลขการจ้างงานมีมากกว่าคนตกงาน ถือเป็นเรื่องธรรมดาของโลกปัจจุบัน