xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: ‘โบอิ้ง’ ระงับผลิต ‘737 แม็กซ์’ เจ้าปัญหา ส่อกระทบเศรษฐกิจสหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โบอิ้ง ผู้ผลิตอากาศยานยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ประกาศระงับการผลิตเครื่องบินโบอิ้ง 737 แม็กซ์ ชั่วคราวตั้งแต่เดือน ม.ค. ปีหน้าเป็นต้นไป ซึ่งถือเป็นการพักสายการผลิตครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 20 ปี หลังจากอากาศยานขายดีรุ่นนี้ประสบอุบัติเหตุตกติดๆ กัน 2 ครั้งจนถูกสั่งห้ามบินทั่วโลก และยังไม่มีวี่แววว่าจะได้รับอนุญาตให้กลับขึ้นบินได้ในเร็วๆ นี้

มติของคณะกรรมการบริหารโบอิ้งภายหลังการประชุมนาน 2 วันยังเป็นการตอกย้ำความกังวลของนักลงทุนว่า โบอิ้งอาจต้องใช้เวลานานขึ้นในการพลิกฟื้นจากวิกฤตครั้งนี้ ซึ่งยังมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกและเศรษฐกิจสหรัฐฯ

โบอิ้งเริ่มออกมาเปรยถึงทางเลือกในการระงับผลิต 737 แม็กซ์ เป็นครั้งแรกในเดือน ก.ค. โดยขณะนั้น เดนนิส มุยเลนเบิร์ก ซีอีโอโบอิ้ง ย้ำว่า "ไม่ใช่สิ่งที่อยากจะทำ" เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อซัพพลายเออร์นับร้อยๆ ราย แต่ก็จำเป็นต้องวางแผนรองรับทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น

ทั้งนี้ โบอิ้ง ยืนยันว่าจะไม่มีการปลดพนักงาน 12,000 คนที่โรงงานในเมืองเรนตัน รัฐวอชิงตัน ซึ่งเป็นสถานที่ผลิตเครื่องบินรุ่น 737 และจะยังจ่ายเงินเดือนให้ตามปกติระหว่างที่สายการผลิตถูกระงับ ขณะที่หลายฝ่ายตั้งคำถามเกี่ยวกับผลกระทบต่อซัพพลายเออร์ซึ่งจัดส่งชิ้นส่วนป้อนสายการผลิต 737 แม็กซ์

“เราเคยประกาศไว้แล้วว่าจะประเมินแผนการผลิตอย่างต่อเนื่อง ในกรณีที่คำสั่งระงับบิน 737 แม็กซ์ ยืดเยื้อกว่าที่คาดไว้ จากผลการประเมินดังกล่าวเราจึงตัดสินใจว่าจะเน้นส่งมอบเครื่องบินที่มีอยู่แล้ว และระงับสายการผลิต 737 เอาไว้ชั่วคราว โดยเริ่มตั้งแต่เดือน ม.ค. เป็นต้นไป” ถ้อยแถลงของโบอิ้งระบุ

โบอิ้ง 737 แม็กซ์ ถูกสั่งระงับการใช้งานทั่วโลกตั้งแต่เดือนใน มี.ค. หลังเกิดโศกนาฏกรรมไลอ้อนแอร์ตกในอินโดนีเซียเมื่อเดือน ต.ค. ปี 2018 และหลังจากนั้นเพียง 5 เดือนก็มาเกิดอุบัติเหตุซ้ำกับสายการบินเอธิโอเปียนแอร์ไลน์ส รวมจำนวนลูกเรือและผู้โดยสารที่เสียชีวิตทั้งหมด 346 คน

คำสั่งระงับบินยังส่งผลให้โบอิ้งไม่สามารถส่งมอบเครื่องบินที่มียอดสั่งจองเอาไว้แล้ว สร้างความเสียหายให้แก่ผู้ผลิตอากาศยานรายนี้ไม่ต่ำกว่า 9,200 ล้านดอลลาร์

ปัจจุบัน โบอิ้ง ยังคงผลิตเครื่องรุ่น 737 แม็กซ์ ในอัตราเดือนละ 42 ลำ และมีเครื่องบินที่ผลิตเสร็จแล้วประมาณ 400 ลำ ซึ่งโบอิ้งยืนยันว่าพร้อมส่งมอบทันทีที่ 737 แม็กซ์ ได้ไฟเขียวขึ้นบิน

สัปดาห์ที่แล้ว สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) ได้ออกคำแถลงตำหนิโบอิ้งอย่างรุนแรงว่าพยายามวางกรอบเวลา “ที่ไม่อาจปฏิบัติได้จริง” ในการนำ 737 แม็กซ์ ขึ้นบินอีกครั้ง และมีเจตนากดดันหน่วยงานของรัฐ ขณะเดียวกันก็ย้ำว่าไม่สามารถอนุมัติให้ 737 แม็กซ์ ขึ้นบินได้ก่อนปี 2020 แม้ว่าทาง โบอิ้ง จะประกาศเกรียวกราวมานานว่ามีแผนจะได้ “ไฟเขียว” จาก FAA ก่อนสิ้นปีนี้ก็ตาม

โบอิ้ง และ FAA ถูกเพ่งเล็งเรื่องมาตรการตอบสนองต่อข้อบกพร่องในเครื่องบินรุ่นเจ้าปัญหานี้ โดยเฉพาะระบบควบคุมการบิน Maneuvering Characteristics Augmentation System (MCAS) ที่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าอาจจะเป็นสาเหตุของโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับไลอ้อนแอร์และเอธิโอเปียนแอร์ไลน์ส

โบอิ้ง ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะระงับสายการผลิต 737 แม็กซ์ นานแค่ไหน โดยย้ำว่าขึ้นอยู่กับคำสั่งของ FAA

นักวิเคราะห์มองว่า อนาคตธุรกิจของโบอิ้งจะยังมืดมนคลุมเครือต่อไปเรื่อยๆ จนกว่า 737 แม็กซ์ จะสามารถกลับขึ้นบินได้อีกครั้ง ขณะที่สายการบินทั่วโลกที่มีฝูงบิน 737 แม็กซ์ ก็จำเป็นต้องเลื่อนกำหนดการนำกลับมาใช้งานไปก่อนเช่นกัน

เซาท์เวสต์แอร์ไลน์สซึ่งเป็นสายการบินที่ใช้ 737 แม็กซ์ มากที่สุดในโลกระบุเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (12) ว่า บริษัทได้มีการทำข้อตกลงลับเพื่อให้โบอิ้งจ่ายชดเชยค่าเสียหายบางส่วนที่เกิดจากคำสั่งระงับบิน

แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมตั้งข้อสังเกตว่า การพักสายการผลิตชั่วคราวอาจเป็นข่าวดีสำหรับ โบอิ้ง ที่กำลังต้องการเงินสดอย่างมาก แต่ก็อาจนำมาซึ่งปัญหาอื่นๆ หลังจากขึ้นสายการผลิตอีกครั้ง เช่น ห่วงโซ่อุปทานที่เปราะบางเนื่องจากความต้องการเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ และเมื่อต้องปรับความเร็วในการผลิตอย่างกะทันหันก็อาจมีอาการสะดุดได้

สำหรับผลกระทบทางการเงินจากการพักสายการผลิตนั้น โบอิ้งเตรียมจะเปิดเผยระหว่างรายงานผลประกอบการประจำไตรมาสช่วงปลายเดือน ม.ค. แต่ก็มีนักวิเคราะห์จากธนาคารเจพีมอร์แกนเชสออกมาประเมินว่า โบอิ้งอาจจะต้องจ่ายมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือนเพื่อเป็นค่าจ้างพนักงาน และคงห่วงโซ่อุปทานไว้ตลอดระยะเวลาที่สายการผลิต 737 แม็กซ์ หยุดชะงัก ไม่รวมเงินที่อาจจะต้องจ่ายชดเชยให้แก่สายการบินต่างๆ จากการส่งมอบเครื่องบินล่าช้า

ขณะเดียวกัน มีคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญว่าการระงับสายการผลิต 737 แม็กซ์ ซึ่งเป็นเครื่องบินรุ่นขายดีที่สุดอาจส่งผลให้จีดีพีสหรัฐฯ หดหายไปอย่างน้อย 0.5% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2020

แม้โบอิ้งจะยืนยันว่าไม่มีแผนเลย์ออฟพนักงาน 12,000 คนที่อยู่ในสายการผลิต 737 แต่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าบริษัทรายย่อยกว่า 600 แห่งที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานอาจจำเป็นต้องปลดพนักงานบางส่วนออก หรือลดชั่วโมงทำงานลง ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถิติการจ้างงานในสหรัฐฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น