xs
xsm
sm
md
lg

‘หัวเว่ย’เกี้ยว‘ซัปพลายเออร์ญี่ปุ่น’ในขณะ‘สหรัฐฯ’กำลังคาดคำนวณผิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สกอตต์ ฟอสเตอร์ จากโตเกียว



(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

Huawei appeals to Japan as the US miscalculates
By Scott Foster, Tokyo
06/12/2019

หัวเว่ยมีแผนการจะซื้อจากพวกซัปพลายเออร์ญี่ปุ่นเกือบ 10,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ ซึ่งเป็นกว่า 2 เท่าตัวของช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แล้วยังจะซื้อมากกว่านี้อีกในปี 2020 ขณะที่การวิเคราะห์ด้วยการถอดสมาร์ตโฟนรุ่นที่หัวเว่ยเปิดตัวเร็วๆ นี้ 2 รุ่น ออกมาเป็นชิ้นๆ ปรากฏว่า ไม่พบชิ้นส่วนอเมริกันใดๆ เลย

เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เหลียง หวา (Liang Hua) ประธานตามวาระหมุนเวียนของบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ได้บอกกับกลุ่มผู้บริหารภาคธุรกิจและนักวิชาการกลุ่มหนึ่งในกรุงโตเกียวว่า บริษัทของเขามีแผนการจะใช้จ่ายเงินเกือบๆ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในการจัดซื้อในประเทศญี่ปุ่นปีนี้ หรือเท่ากับกว่า 2 เท่าตัวของปริมาณที่บริษัทใช้จ่ายในแดนอาทิตย์อุทัยในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากนั้นแล้ว ตัวเลขนี้ยังจะสูงขึ้นไปอีกในปี 2020

ความเคลื่อนไหวเช่นนี้น่าจะทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นชาติซัปพลายเออร์ใหญ่ที่สุดของหัวเว่ย ในเมื่อตอนนี้พวกซัปพลายเออร์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และซอฟต์แวร์สหรัฐฯต่างถูกบังคับให้ต้องตัดขาดจากหนึ่งในลูกค้าชั้นเยี่ยมที่สุดของพวกเขารายนี้ ทั้งนี้พวกบริษัทอเมริกันขายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้หัวเว่ยคิดเป็นมูลค่าประมาณ 11,000 ล้านดอลลาร์ทีเดียวในปี 2018

เหลียงยังบอกกับผู้ฟังกลุ่มนี้ของเขา –ซึ่งมีทั้งผู้แทนจากฟูจิฟิล์ม (Fujifilm), ฟูรุกาวะ อิเล็กทริก (Furukawa Electric), มิตซูบิชิ อิเล็กทริก (Mitsubishi Electric), และมหาวิทยาลัยโตโฮกุ (Tohoku University) ที่มีภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งชื่อเสียงโด่งดัง รวมอยู่ด้วย – ว่าหัวเว่ยสามารถที่จะดำเนินกิจการต่อไปได้โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยพวกซัปพลายเออร์สหรัฐฯ พร้อมกับระบุว่า ญี่ปุ่นเป็นผู้แสดงบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของบริษัท อีกทั้งญี่ปุ่นยังเป็นตลาดที่สำคัญแห่งหนึ่งของหัวเว่ย

บริษัทญี่ปุ่นชั้นนำรายอื่นๆ ซึ่งซัปพลายผลิตภัณฑ์ให้หัวเว่ยอยู่ ยังมีอาทิ โซนี่ (Sony), พานาโซนิก (Panasonic), มูราตะ แมนูแฟคเจอริ่ง (Murata Manufacturing), คีอ็อกเซีย (Kioxia) ที่เดิมคือบริษัทโตชิบา เมโมรี (Toshiba Memory), เจแปน ดิสเพลย์ (Japan Display), และ นิเดค (Nidec)

ทำไมหัวเว่ยจึงคิดว่ามีความจำเป็นที่ตนจะต้องจัดการประชุมอย่างเปิดเผยเช่นนี้ขึ้นมา เพื่อหารือกันถึงสิ่งต่างๆ ซึ่งอาจดึงดูดความสนใจของพวกนักการทูตอเมริกัน และทำให้บริษัทญี่ปุ่นถูกจับตามอง ?

ถึงแม้ว่าได้ถูกกีดกันตัดชื่อออกจากพวกเครือข่ายระบบ 5จี ของเหล่าผู้ให้บริการการสื่อสารโทรคมนาคมของญี่ปุ่นไปแล้ว แต่ดูเหมือนหัวเว่ยยังคงต้องการเน้นย้ำถึงคุณูปการหรือการมีส่วนร่วมของตนในเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ก่อนหน้านี้ในปีนี้ บริษัทก็ได้เผยแพร่รายงานหลายชิ้นซึ่งแจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับคุณูปการที่บริษัทมีต่อสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรมาแล้ว

หากมองเรื่องนี้ในบริบทที่กว้างขวางใหญ่โตขึ้นมาอีก น่าสังเกตทีเดียวว่าการค้าระหว่างญี่ปุ่นกับจีนนั้นไม่ได้อยู่ในภาวะที่มูลค่าปริมาณการค้าเกิดการได้เปรียบ-เสียเปรียบกันอย่างรุนแรง รวมทั้งมีขนาดที่ใหญ่โตกว่าการค้าระหว่างสหรัฐฯกับญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก (ใหญ่กว่าถึง 42% เมื่อดูจากตัวเลขสถิติในปี 2018) แล้วญี่ปุ่นยังไม่เหมือนกับสหรัฐฯ กล่าวคือญี่ปุ่นมีผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม 5จี ของตนเอง (ได้แก่ เอ็นอีซี NEC กับ ฟูจิตสึ Fujitsu) ที่จะต้องให้การคุ้มครอง –และประเด็นนี้ก็เป็นสิ่งที่ฝ่ายจีนดูเหมือนจะเข้าอกเข้าใจ

ขณะที่หัวเว่ยกำลังเพิ่มการจัดซื้อจากญี่ปุ่น, ไต้หวัน, และยุโรป พวกสื่อมวลชนด้านข่าวสารของจีนก็กำลังเผยแพร่รายงานข่าวบทวิจารณ์ที่ระบุว่าหัวเว่ยกำลังปลดแอกตนเองให้เป็นอิสระจากการต้องพึ่งพาอาศัยพวกซัปพลายเออร์อเมริกันได้อย่างรวดเร็วขนาดไหน

ตามรายงานผลการวิเคราะห์ของ ฟอมัลเฮาต์ เทคโน โซลูชั่น ออฟ เจแปน (Fomalhaut Techno Solution of Japan) ที่นำเอาโทรศัพท์สมาร์ตโฟนมาแกะถอดดูกันเป็นชิ้นๆ ปรากฏว่า มือถือ 2 รุ่นที่หัวเว่ยเปิดตัวสู่ตลาดเมื่อเร็วๆ นี้ ได้แก่ รุ่น Y9 Prime ’19 และรุ่น Mate 30 ไม่มีส่วนประกอบอเมริกันใดๆ บรรจุอยู่เลย

หัวเว่ยแสดงท่าทีเรื่อยมาว่า บริษัทยังปรารถนาที่จะซื้อจากพวกซัปพลายเออร์อเมริกันต่อไป ขณะที่คณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็มีแผนการจะออกใบอนุญาตซึ่งจะทำให้เรื่องนี้มีความเป็นไปได้ในลักษณะพิจารณากันเป็นกรณีๆ ทว่ากระบวนการเช่นนี้ อำนาจในการวินิจฉัยตัดสินอยู่ในลักษณะพลการตามใจชอบ มีโอกาสถูกทบทวนอยู่เรื่อยๆ โดยขึ้นอยู่กับสภาพของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีน นั่นคือมองโดยภาพรวมแล้ว กระบวนการนี้ไม่สามารถที่จะพึ่งพาอาศัยได้ พวกบริษัทอเมริกันจำนวนมากจึงมีหวังที่จะต้องสูญเสียธุรกิจปริมาณใหญ่โตทีเดียว และบางทีอาจจะเป็นการสูญเสียอย่างถาวรอีกด้วย

การที่พวกซัปพลายเออร์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และซอฟต์แวร์สหรัฐฯ ถูกบังคับให้ตัดขาดจากหัวเว่ยนั้น สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์อเมริกัน ได้บรรจุชื่อหัวเว่ยเอาไว้ใน “บัญชีดำ” ที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “บัญชีบุคคลและหน่วยงาน” (entity list) ภายใต้ระเบียบข้อบังคับการบริหารการส่งออก (Export Administration Regulations)

ใน “รวบรวมบันทึกเอกสารทางการของสหรัฐฯ” (US Federal Register คล้ายๆ ราชกิจจานุเบกษา ของไทย -ผู้แปล) ระบุเอาไว้ว่า “บัญชีบุคคลและหน่วยงาน (ภาคผนวกหมายเลข 4 ของส่วนที่ 744 ของระเบียบข้อบังคับการบริหารการส่งออก) หมายถึง พวกบุคคลและหน่วยงานซึ่งมีเหตุอันทำให้เชื่อได้ โดยอิงกับข้อเท็จจริงที่เฉพาะและเจาะจง ว่า (บุคคลและหน่วยงานเหล่านี้) ได้เกี่ยวข้องพัวพัน, เข้าเกี่ยวข้องพัวพัน, หรือมีท่าทางที่จะเกิดความเสี่ยงอย่างสำคัญ ในการเข้าเกี่ยวข้องพัวพัน หรือกำลังจะเข้าเกี่ยวข้องพัวพัน ในกิจกรรมต่างๆ ซึ่งขัดแย้งกับความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือผลประโยชน์ด้านนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ”

เราคงจะต้องตั้งคำถามว่า มีด้านใดของการค้าระหว่างประเทศบ้าง ที่ไม่ถูกครอบคลุมด้วยวลีว่า “ผลประโยชน์ด้านนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ” ?

ออกจะเป็นเรื่องย้อนแย้งอยู่มาก ในเมื่อ มีเดียเทค (MediaTek) และบริษัทไต้หวันแห่งอื่นๆ ทำท่าจะกลายเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากความพยายามของอเมริกันในการปิดล้อมกีดกันจีน แต่ก็นั่นแหละ เรื่องอย่างนี้สามารถเกิดขึ้นมาได้ เมื่อมีผู้เกี่ยวข้องรายหนึ่งยังคงพยายามเล่นเกมง่ายๆ อย่างหมากฮอสขยายกระดานเพิ่มพลัง (power checkers) พร้อมกับวางอำนาจด้วยการถือค้อนเอาไว้ในมืออีกด้วย ทว่าผู้เกี่ยวข้องรายอื่นๆ กลับกำลังเล่นเกมที่ต้องขบคิดเชิงยุทธศาสตร์อันซับซ้อนอย่าง โกะ (หมากล้อม) หรือไม่ก็ หมากรุกสามมิติ (3D chess)

แน่นอนทีเดียวว่ามีผลิตภัณฑ์อเมริกันซึ่งหัวเว่ยและบริษัทจีนรายอื่นๆ จะพบว่ายากลำบากในการหาของที่ผลิตในที่อื่นมาทดแทน เท่าที่นึกออกได้ทันที ก็อย่างเช่น อุปกรณ์ลอจิกแบบโปรแกรมได้ (Field-programmable gate arrays หรือ FPGA), เครื่องมือใช้ตรวจสอบไอซี (IC inspection tools), ซอฟต์แวร์ออกแบบอิเล็กทรอนิกส์อัตโนมัติ (electronic design automation software), และแอปพลิเคชั่นโทรศัพท์มือถือบางอย่าง อย่างไรก็ดี อเมริกันไม่ได้มีฐานะเป็นผู้ผูกขาดผลิตภัณฑ์หรือเทคโนโลยีเหล่านี้เลย

อย่างที่ เว่ยยี อิน (Weiyee In) นักยุทธศาสตร์การลงทุนเทคโนโลยีชาวอเมริกันเชื้อสายไต้หวัน กล่าวเอาไว้ว่า “เรากำลังขับดันจีนให้ … โฟกัสที่ระบบปฏิบัติการและเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเคยอยู่แค่ชายขอบเท่านั้นมาโดยตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สืบเนื่องจากพวกโซลูชั่นส์อเมริกันนั้นใช้ง่ายและสะดวกสบายกว่า ถึงแม้ต้องเผชิญความเจ็บปวดในระยะใกล้ซึ่งพวกบริษัทจีนควรต้องรู้สึกจากการเจอพวกภาษีศุลกากรและการถูกขึ้นบัญชีดำ แต่เราก็ได้กลายเป็นตัวกระตุ้นให้จีนหันไปทำโซลูชั่นส์ต่างๆ ออกมา ซึ่งเป็นทางเลือกต่างหากจากนวัตกรรมของอเมริกัน” (ข้อความที่โพสต์ใน LinkedIn สื่อสังคมแวดวงธุรกิจ วันที่ 17 มิถุนายน 2019)

การที่จีนตั้งข้อจำกัดกีดกัน กูเกิล, เฟซบุ๊ก,และพวกบริษัทอินเทอร์เน็ตอเมริกันรายอื่นๆ ได้กลายเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกให้แก่การเติบโตขยายตัวของ ไป่ตู้, เทนเซนต์, และพวกบริษัทอินเทร์อเน็ตจีนรายอื่นๆ จนกระทั่งกลายเป็นคู่แข่งขันระดับเวิลด์คลาสของบริษัทสหรัฐฯไปเรียบร้อยแล้ว ทางอเมริกันนั้นได้ร้องเรียนมาเป็นแรมปีแล้วเรื่องที่ถูกกีดกันออกมาจากตลาดจีน แต่เวลานี้พวกเขากลับกำลังกีดกันพวกเขาเองออกมา

ผลที่อาจจะเกิดขึ้นก็คือ พวกกิจการสตาร์อัปของจีน ซึ่งอาจจะไม่มีทางทะยานขึ้นจากพื้นดินได้เลยในตลาดต่างๆ ที่ครอบงำโดยเหล่าคู่แข่งชาวอเมริกันซึ่งปีกกล้าขาแข็งกว่า เวลานี้กลับจะมีโอกาสที่จะชนะได้รับใบสั่งซื้อ, สร้างความได้เปรียบทางเศรษฐกิจอันเกิดจากขนาด (economies of scale), และได้รับประสบการณ์จากการดำเนินงาน พวกเขาไม่น่าที่จะทำให้โอกาสเช่นนี้เสียไปเปล่าๆ หรอก

พวกญี่ปุ่นและพวกยุโรปก็ควรที่จะได้รับผลประโยชน์จากความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมจีน ด้วยการหากำรี้กำไรจากตลาดต่างๆ ซึ่งบรรดาบริษัทสหรัฐฯไม่ได้มีการปรากฏตัวที่สำคัญอะไร ตลาดเหล่านี้มีอาทิ หุ่นยนต์อุตสาหกรรม, เซนเซอร์รูปภาพ (image sensors อุปกรณ์แปลงภาพที่เห็นด้วยตาให้เป็นสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์), และสารเคมีทางอุตสาหกรรมบางประเภท

เลนส์กล้องถ่ายภาพสำหรับสมาร์ตโฟนรุ่นก้าวหน้าที่สุดของหัวเว่ย นั่นคือ P30 Pro ได้รับการพัฒนาโดยการจับมือเป็นผู้ร่วมงานกับไลก้า (Leica) ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2014 รุ่น P30 Pro มีกล้องถ่ายภาพ 4 เลนส์ นั่นคือ เลนส์ตัวหลัก 40 เมกะพิกเซล และเลนส์พิเศษอีก 3 สำหรับถ่ายภาพ wide-angle, time-of-flight depth sensing, และ 10X periscope zoom ทั้งหมดเหล่านี้ใช้เซนเซอร์รูปภาพของโซนี่

หัวเว่ยเป็นผู้ผลิตสมาร์ตโฟนรายที่สองซึ่งใช้ Time-of-Flight sensors ของโซนี่ (รายแรกคือ ออปโป ซึ่งเป็นผู้ผลิตสมาร์ตโฟนสัญชาติจีนเช่นเดียวกัน) และเป็นเจ้าแรกที่ใช้มันทั้งสำหรับ augmented reality (AR) และ auto focus ทั้งนี้ โซนี่ยังเป็นผู้ซัปพลายอุปกรณ์นี้ให้ แอปเปิล และมีฐานะเป็นเจ้าตลาดผู้ครอบงำตลาดทั่วโลกในเรื่องเซนเซอร์รูปภาพ

มูราตะ แมนูแฟคเจอริ่ง เป็นผู้ผลิตชั้นนำในเรื่องตัวเก็บประจุเซรามิกแบบหลายชั้น (multi-layer ceramic capacitor หรือ MLCC) ติดตามมาด้วยบริษัทญี่ปุ่นอีก 2 ราย คือ ไตโย ยูเดน (Taiyo Yuden) และ ทีดีเค (TDK) แล้วจึงเป็น ซัมซุง สำหรับบริษัทญี่ปุ่นอีก 2 เจ้า คือ ฟูยูระ เมทัล (Furuya Metal) และ โตกุยามะ (Tokuyama) เป็นผู้ครองตลาดเอาไว้ราว 90% และ 75% สำหรับพวกส่วนประกอบอิริเดียม (iridium compounds) ซึ่งใช้ในส่วนจอภาพ และอลูมิเนียมไนไตรด์ระดับความบริสุทธิ์สูง ซึ่งใช้สำหรับการกระจายความร้อน ตามลำดับ

หันมาพูดถึงเรื่องการประกอบผลิตภัณฑ์กันบ้าง กิจการของจีนนั้นพึ่งพาอาศัยอุปกรณ์อัตโนมัติในโรงงาน ทั้งจากญี่ปุ่นและยุโรป เอบีบี (ABB) ยักษ์ใหญ่สวิส-สวีเดน กำลังสร้างโรงงานหุ่นยนต์อุตสาหกรรมแห่งใหม่ขึ้นใกล้ๆ นครเซี่ยงไฮ้ โดยที่บริษัทเชื่อว่า มันจะกลายเป็น “โรงงานที่ก้าวหน้าที่สุด, เป็นระบบอัตโนมัติที่สุด, และยืดหยุ่นที่สุด ในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ทั่วโลก (เอกสารข่าวเผยแพร่ของ เอบีบี วันที่ 12 กันยายน 2019)

พวกผู้ผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมสัญชาติญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น ฟานุค (Fanuc), ยาสกาวะ อิเล็กทริก (Yaskawa Electric), และคาวาซากิ เฮฟวี่ อินดันทรีส์ (Kawasaki Heavy Industries) ต่างก็กำลังขยายตัวในประเทศจีนเช่นกัน ขณะเดียวกันพวกผู้ผลิตส่วนประกอบ อย่างเช่น ฮาร์โนมิก ไดรฟ์ ซิสเทมส์ (Harmonic Drive Systems) ก็กำลังซัปพลายให้แก่พวกผู้ผลิตหุ่นยนต์สัญชาติจีน ตามข้อมูลจากสหพันธ์วิทยาการหุ่นยนต์ระหว่างประเทศ (International Federation of Robotics) เวลานี้จีนได้กลายเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในโลกสำหรับหุ่นยนต์อุตสาหกรรมไปเรียบร้อยแล้ว โดยที่จำนวนหุ่นยนต์ประเภทนี้ซึ่งจำหน่ายกันทั่วโลกนั้นเป็นการขายในประเทศจีนถึงราวหนึ่งในสาม ขณะเดียวกัน ก็ยังเป็นตลาดที่เติบโตขยายตัวรวดเร็วที่สุดอีกด้วย

เราจึงสามารถที่จะเขียนข้อสรุปเอาไว้ตรงนี้ได้รวม 3 ข้อ คือ (1) การลงโทษคว่ำบาตรของอเมริกันกำลังเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมของจีนเรียบร้อยแล้ว (2) ยุโรป, ญี่ปุ่น, และกระทั่งไต้หวัน คือตัวหลักที่ทำให้จีนก้าวหน้าทางด้านอุตสาหกรรมได้ และ (3) ถ้าคุณไม่คิดวางแผนจะเข้าไปในจีน นั่นบางทีอาจหมายถึงคุณกำลังวางแผนจะออกมาจากจีน – และอเมริกาก็กำลังวางแผนให้ตัวเองออกมาจากจีนอยู่ในเวลานี้

สกอตต์ ฟอสเตอร์ เป็นทั้งหุ้นส่วนและนักวิเคราะห์ให้ เจเอ รีเสิร์ส (JA Research) ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ในโตเกียว

หมายเหตุผู้แปล

เรื่องที่ไต้หวันซึ่งเป็นปรปักษ์กับจีน ทว่าพวกบริษัทซัปพลายเออร์ด้านเทคโนโลยีไต้หวันกลับกำลังได้รับอานิสงส์จากการที่สหรัฐฯออกมาตรการแบนหัวเว่ย นั้น เอเชียไทมส์ได้เสนอรายงานอีกชิ้นหนึ่ง พูดถึงกรณีของ TSMC ผู้ผลิตชิปรายยักษ์ของไต้หวัน ซึ่งกำลังขยายงานด้านชิป 5จี ขณะเดียวกับที่ หัวเว่ย พยายามเข้าไปติดต่อหาทางรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเอาไว้ จึงขอเก็บความนำมาเสนอเพิ่มเติมในที่นี้:


‘ยักษ์ใหญ่ชิปไต้หวัน’เร่งขยายงานผลิตชิป 5 จี ขณะ‘หัวเว่ย’หาทางจีบ
โดย เคจี ชาน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

TSMC forks out on 5G as Huawei seeks to retain partnership
By KG Chan
11/12/2019

TSMC บริษัทผู้ผลิตชิปรายยักษ์ของไต้หวัน กำลังทุ่มเทงบประมาณลงทุนเพื่อผลิตชิประดับ 5 นาโนเมตร และ 3 นาโนเมตร ขณะเดียวกัน หัวเว่ย ซึ่งถูกสหรัฐฯแบน ก็อยู่ในฐานะต้องพึ่งพาอาศัยพวกซัปพลายเออร์นอกอเมริกา อย่าง TSMC เพิ่มมากขึ้น

บริษัทไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟกเจอริ่ง คอมพานี (Taiwan Semiconductor Manufacturing Company ใช้อักษรย่อว่า TSMC) ผู้ผลิตชิปชั้นนำของไต้หวัน เพิ่งเปิดเผยแผนการรุกใหญ่ซึ่งจะใช้เงินมหาศาลลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา 5จี โดยบริษัทมีจุดมุ่งหมายที่จะรักษาความเป็นผู้นำของตนเอาไว้ต่อไป ในยุคใหม่แห่งการสื่อสารไร้สายความเร็วสูงลิบลิ่ว ซึ่งชิปจะยังคงเป็นส่วนประกอบแกนหลักที่ใช้สำหรับการต่อเชื่อมอุปกรณ์ต่างๆ และการถ่ายโอนข้อมูลปริมาณมหึมามหาศาล

ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ยักษ์ใหญ่รายนี้ ซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองซินจู๋ ทางตอนเหนือของเกาะไต้หวัน วางแผนการจะใช้จ่ายเป็นจำนวนระหว่าง 14,000 ล้าน ถึง 15,000 ล้านดอลลาร์ในปีหน้า ขณะที่ทั่วโลกกำลังสร้างเครือข่ายสื่อสารไร้สายและผลิตอุปกรณ์มือถือ จี5 ใหม่ๆ กันออกมาอย่างคึกคัก ซึ่งเพิ่มพูนความอุปสงค์ความต้องการใช้ชิปที่จะต้องมีขนาดเล็กลง, ก้าวหน้ามากขึ้น, และใช้กำลังไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เงินงบประมาณด้านวิจัยและพัฒนาก้อนมหึมาที่ตั้งเอาไว้นี้ จำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งถูกกันเอาไว้ใช้สำหรับเรื่องการผลิตชิปขนาด 5 นาโนเมตร เนื่องจากพวกลูกค้ารายหลักของบริษัทอย่างเช่น แอปเปิล กำลังยกระดับเตรียมเปิดตัว ไอโฟน 5จี กันในเดือนกันยายนปีหน้า เปรียบเทียบกันแล้ว ชิปหลักซึ่งปัจจุบันเป็นตัวให้กำลังแก่ ไอโฟน 11, เอ 13 ไอโอนิก (A13 Bionic) เป็นชิปขนาด 7 นาโนเมตร

TSMC ประกาศการลงทุนนี้ให้ทราบทั่วกัน ณ เวทีประชุมห่วงโซ่อุปทาน ประจำปีในซินจู๋ เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีหุ้นส่วนผู้ร่วมมือรายต่างๆ จากทั่วโลกเข้าร่วม 700 ราย พร้อมกับระบุด้วยว่า รายจ่ายด้านการลงทุนตามที่วางแผนไว้นี้จะก่อให้เกิดผลตอบแทนที่ยั่งยืนกลับคืนบริษัท ตราบเท่าที่ประเด็นปัญหาอย่างเช่น ภาวะคอขวดทางการผลิต สามารถแก้ไขคลี่คลายไปได้อย่างรวดเร็ว

“การเร่งรัดติดตั้งใช้งาน 5จี ในตลอดทั่วโลก กำลังทำให้อุปสงค์ความต้องการสำหรับชิปขนาด 7 นาโนเมตร และ 5 นาโนเมตร ของเราเข้มแข็งขึ้นอย่างมากมาย” เจเค หวัง (JK Wang) รองประธานบริหารอาวุโส ฝ่ายการผลิตและการดำเนินงานด้านชิป ของ TSMC กล่าว “ผลก็คือ (ในเดือนตุลาคม) เราได้เพิ่มการใช้จ่ายด้านเงินทุนสำหรับปี 2019 เป็นจำนวน 4,000 ล้านดอลลาร์ เราคาดหมายว่าการใช้จ่ายด้านเงินทุนในปีหน้าก็จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน”

หวังกล่าวว่า เทคโนโลยี 5จี ทำให้เกิดการเชื่อมต่อแบบ low-latency และ high-bandwidth ดังนั้น พวกเครื่องมืออุปกรณ์ที่สามารถใช้ปัญญาประดิษฐ์ได้ จึงทำการตัดสินใจได้ถูกต้องและรวดเร็ว ขณะที่เครื่องมืออุปกรณ์เหล่านี้เชื่อมโยงซึ่งกันและกันโดยผ่านเครือข่าย 5จี

เพื่อให้สามารถตอบสนองอุปสงค์ความต้องการอันคึกคักเช่นนี้ TSMC วางแผนจะเริ่มต้นการผลิต ชิป 5 นาโนเมตร ออกมาเป็นจำนวนมากๆ ในครึ่งแรกของปีหน้า ณ โรงงานระดับหลายพันล้านดอลลาร์ แห่งที่ตั้งอยู่ในเมืองไถ่หนาน ทางตอนใต้ของเกาะไต้หวัน ทั้งนี้ TSMC ประกาศในเดือนตุลาคมว่า บริษัทจะกลายเป็นผู้ผลิตชิปแห่งแรกซึ่งมีความสามารถที่จะปั๊มชิป 5 นาโนเมตรออกมาเป็นจำนวนมากๆ เมื่อการพัฒนาได้มาถึงขั้นใช้งานเทคโนโลยีเรื่องนี้ในระดับเชิงพาณิชย์ได้

ไม่เพียงเท่านั้น บริษัทยังวางแผนการจะเริ่มต้นการผลิตชิปขนาด 3 นาโนเมตร ออกมาเป็นจำนวนมากๆ ในปี 2022 ซึ่งสอดคล้องกับ กฎของมัวร์ (Moore’s Law) ที่ระบุว่า ปริมาณของทรานซิสเตอร์บนวงจรรวม จะเพิ่มเป็นเท่าตัวประมาณทุก ๆ สองปี

และเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่การพัฒนาเทคโนโลยีเจเนอเรชั่นหน้า ภายหลังจากชิปเซตขนาด 3 นาโนเมตรไปแล้ว TSMC กำลังตั้งความหวังอย่างสูงเอาไว้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งใหม่ซึ่งพร้อมจะลงมือก่อสร้างขึ้นแล้ว ในพื้นที่ใกล้ๆ สำนักงานใหญ่ในเมืองซินจู๋ โดยศูนย์แห่งใหม่นี้จะสามารถรองรับวิศวกรที่จะมาร่วมงานได้ 8,000 คน และ TSMC กำหนดให้แล้วเสร็จภายในปี 2021

เวลาเดียวกัน พวกหนังสือพิมพ์ไต้หวันยังเปิดเผยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า คณะผู้บริหารอาวุโสกลุ่มหนึ่งจาก หัวเว่ย ยักษ์ใหญ่เทเลอคอมของจีน ได้เข้าพบ มอร์ริส จาง (Morris Chang) ผู้ก่อตั้ง TSMC และสมาชิกอาวุโสของคณะบริหารในไต้หวัน เพื่อเสนอให้มีการร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการจัดตั้งโรงงานใหม่แห่งหนึ่งขึ้นในจีนแผ่นดินใหญ่ พร้อมกับคำมั่นสัญญาที่จะสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้นอีก

ปัจจุบัน TSMC เพียงประกอบชิปที่มีความก้าวหน้าน้อย อย่างเช่น ขนาด 8 นาโนเมตร และ 12 นาโนเมตร ในโรงงานของบริษัทบนแผ่นดินใหญ่ซึ่งมีทั้งที่ตั้งอยู่ในเซี่ยงไฮ้ และในเมืองหนานจิง

ท่ามกลางความพยายามของหัวเว่ยที่จะบรรเทาความเดือดร้อน จากการที่บริษัทถูกสหรัฐฯสั่งห้ามไม่ให้ส่งออกชิปและส่วนประกอบสำคัญอื่นๆ ให้ หัวเว่ยจึงต้องพยายามโน้มน้าว TSMC อย่าได้เดินตามรอย ควอลคอมม์ (Qualcomm) และบริษัทอื่นๆ ด้วยการตัดสายสัมพันธ์ ในเวลาที่สหรัฐฯกำลังเพิ่มแรงบีบคั้นกดดันบริษัทไต้หวันแห่งนี้

การรักษา TSMC ให้ยังคงเป็นซัปพลายเออร์แกนหลักเอาไว้ให้ได้ กำลังมีความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับหัวเว่ย เมื่อคำนึงถึงรายงานข่าวหลายกระแสที่ระบุว่า หัวเว่ยกำลังถูกบีบบังคับให้ต้องหาแหล่งซัปพลายชิปจากพวกบริษัทผู้ร่วมงานซึ่งอยู่นอกสหรัฐฯ สำหรับนำมาใช้กับสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ๆ ของบริษัท

รายงานของ ยูบีเอส (UBS) เมื่อเร็วๆ นี้ฉบับหนึ่งระบุว่า โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ๆ ซึ่ง หัวเว่ย นำออกสู่ตลาดล่าสุด รวมทั้ง รุ่นที่ถือเป็นเรือธงลำใหม่ ได้แก่ Mate 30 ที่เปิดตัวครั้งแรกในเดือนกันยายน โดยมุ่งแข่งขันกับ ไอโฟน 11 โปร นั้น ปรากฏว่าไม่มีการใช้ชิปจากสหรัฐฯเลย แต่หันไปใช้ชิปของพวกซัปพลายเออร์จากเนเธอร์แลนด์ ขณะที่วงจรขยายอิเล็กทรอนิกส์ (electronic amplifier ) ในสมาร์ตโฟนเหล่านี้ เวลานี้ก็ผลิตโดยบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ในเครือของหัวเว่ยเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น