xs
xsm
sm
md
lg

“วัชระ” ค้าน “บิ๊ก บ.น้ำเมา” นั่ง “บอร์ด อสมท.” ชี้ อาจเข้าข่าย “ประโยชน์ทับซ้อน”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“วัชระ” ค้าน “บิ๊กไทยเบฟฯ” นั่ง “บอร์ด อสมท.” หวั่นแฝงส่งเสริมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภาพลักษณ์ไม่เหมาะสม ชี้กลุ่มไทยเบฟฯเป็นเจ้าของทีวีดิจิทัล อาจเข้าข่าย “ผลประโยชน์ทับซ้อน” มีกรรมการเป็นอดีตผู้บริหารสื่อคู่แข่ง ขัดข้อบังคับ อสมท.เอง

วันนี้ (17 ธ.ค.) เมื่อเวลา 10.40 น. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ เข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังและนายประภาส คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อขอให้พิจารณายับยั้งการแต่งตั้งกรรมการบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) โดยมี นายสมพาส นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับหนังสือแทน

นายวัชระ เปิดเผยว่า จากกรณีที่ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ได้เสนอ นายมารุต บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) เป็น กรรมการบริษัท บมจ.อสมท. ซึ่งเป็นบริษัทที่จดในทะเบียนหลักทรัพย์ ถือว่าไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะขัดกับหลักการที่จะไม่นำสินค้าของบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเจตนาเดิมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนส่วนใหญ่รณรงค์คัดค้านมาตลอด เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการส่งเสริมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้ภาครัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากภาษีสรรพสามิต แต่ก็ไม่คุ้มกับรายจ่ายของทั้งสังคมที่ต้องจ่ายเงินซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ ตลอดจนความไม่ปลอดภัยในสังคมมากขึ้น อีกทั้ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 32ห้ามมิให้มีการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่ม โดยตรงหรือโดยอ้อม

“การให้ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ อันมีสายสัมพันธ์กับบริษัทมายาวนาน เข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญใน บมจ.อสมท. ซึ่งมีสื่อครอบคลุมทั้งช่องทางโทรทัศน์ วิทยุ และสื่อใหม่ในรูปแบบต่างๆ ย่อมเป็นการสุ่มเสี่ยง หรือจะมีการเอื้อประโยชน์ไม่ว่ารูปแบบใดๆ ในการสนับสนุนให้มีการโฆษณาสินค้าแอลกอฮอล์หรือไม่” นายวัชระ ระบุ

นายวัชระ กล่าวต่อว่า ประเด็นสำคัญที่สุดคือ กลุ่มไทยเบฟฯ ได้ซื้อกิจการ บริษัท อมรินทร์ พรินติ้ง แอนด์ พับลิชชั่ง จำกัด เมื่อปลายปี 2559 ซึ่งบริษัท อมรินทร์ฯ ถือเป็นบริษัทแม่ของบริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด ที่เป็นผู้ถือครองใบอนุญาตทีวีดิจิทัลของ กสทช. ในช่องอมรินทร์ทีวี โดยจากกรณีดังกล่าวการเปลี่ยนมือเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นใหญ่ มีผลเท่ากับกลุ่มไทยเบฟฯ ซึ่งนายมารุต ได้ร่วมเป็นผู้ดูแลบริหาร วางนโยบายบริษัทสื่อทีวีดิจิทัล ที่เป็นคู่แข่งโดยตรงกับ บมจ.อสมท. ที่มีสื่อทีวีเป็นธุรกิจหลัก ซึ่งใน ข้อ 51 ของข้อบังคับ บมจ.อสมท. ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า ไม่ให้กรรมการประกอบอาชีพอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวหรือเป็นการแข่งขันกับกิจการของ บมจ.อสมท. หรือเข้าเป็นหุ้นส่วน หรือกรรมการของบริษัทดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนและหรือการเอื้อประโยชน์ อันอาจทำให้เกิดปัญหาความเสียหายกับ บมจ.อสมท.

“แม้ว่านายมารุต อาจจะลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ของ บริษัท ไทยเบฟฯ เพื่อเข้ารับตำแหน่งกรรมการ บมจ.อสมท. แต่การลาออกดังกล่าวก็มีผลในทางนิตินัยเท่านั้น หากแต่ทางพฤตินัยแล้ว ก็อาจเกิดปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนได้ และอาจเกิดวิกฤตศรัทธาต่อภาพลักษณ์ขององค์กรสื่อของรัฐได้ด้วย” นายวัชระ กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น