การสำรวจผู้ใช้รถยนต์ทั่วประเทศไทย เพื่อใช้เป็นผลตัดสินรางวัล TAQA ประจำปีนี้ ปรากฏว่ามีค่ายรถยนต์ที่มีภาพลักษณ์การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (E) คือ โตโยต้า ด้านรับผิดชอบต่อสังคม (S) คือ ฮอนด้า และด้านธรรมาภิบาล (G) คือ นิสสัน รวมถึง อีซูซุ ด้านประหยัดพลังงาน
การประกาศผลและมอบรางวัลธุรกิจยานยนต์ยอดนิยม หรือ Thailand Automotive Quality Award ที่วัดจากคะแนนนิยมของผู้ใช้รถยนต์และผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประโยชน์เกี่ยวข้องกับรถยนต์ ซึ่งจัดงานมอบรางวัลเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ อิมแพ็คเมืองทองธานี ซึ่งนับเป็นปีที่ 18 แล้ว โดยการร่วมมือของสถาบันยานยนต์ บริษัทสื่อสากลจำกัด บริษัท คัสต้อม เอเชีย จำกัด และสื่อในเครือผู้จัดการ
ก่อนพิธีมอบรางวัลโดย ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สุกิจ ตันสกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท คัสต้อม เอเชีย จำกัด ซึ่งกำกับดูแลการศึกษาวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคครั้งนี้ ได้กล่าวรายงานโดยระบุว่าข้อมูลจากการสำรวจผู้บริโภค 5,020 รายทั่วประเทศชี้ชัดว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ได้เข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบแล้ว
ยุคนี้ผู้บริโภคจะตรวจสอบข้อมูลคุณภาพรถและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องจากช่องทางเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย เป็นหลัก นอกจากนี้ รถยนต์ที่มีอุปกรณ์เสริมที่ช่วยให้เชื่อมต่อกับโลกภายนอกก็จะเป็นประเด็นพิจารณา ในระดับต้นๆ
แม้แต่รถยนต์ไฟฟ้า ที่เคยไม่แน่ใจว่าเป็นที่ยอมรับจริงเมื่อไหร่ ผู้บริหารบริษัทรถยนต์บางรายยังคาดว่าต้องใช้เวลาอีก 10 ปี แต่จากผลการสำรวจความสนใจของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง
จากปี 2017 สัดส่วน ผู้สนใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามีแค่ 8.6% แต่เมื่อถึงปี 2019 ผู้สนใจจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเป็น 13.9% ( อัตราการเพิ่มมีถึง 61.6 %) แสดงว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเกิดเต็มตัวจะมาเร็วกว่าที่คิด
ผู้บริหารบริษัทวิจัย คัสต้อม เอเชีย ขยายความว่า ปัจจัยที่สนับสนุนให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มสนใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากโครงสร้างประชากรที่มีระดับผู้บริหารประเทศเริ่มเปลี่ยนไปแล้ว เพราะผู้นำไม่ใช่คนจากยุค Baby Boomers อีกต่อไป
ขณะที่ปัจจุบัน Digital Technology ถูกพัฒนาจนเกิดความชัดเจนของยุคดิจิทัล และคนที่ขับเคลื่อนธุรกิจก็เป็นคนรุ่นใหม่มากขึ้น ซึ่งมีความคุ้นเคยกับอุปกรณ์และระบบเทคโนโลยีการสื่อสารที่สนับสนุนให้สะดวกรวดเร็วในการรับรู้-เรียนรู้และเปรียบเทียบเพื่อตัดสินใจซื้อที่คุ้มค่า
นอกจากนี้ มีการปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ที่ขยายวงจากคนรุ่นใหม่ แนวโน้มความอยากเป็นเจ้าของทรัพย์สิน เช่น รถยนต์ก็ยังลดลง เพราะมีความสะดวกสบายของเทคโนโลยีดิจิทัลก็เข้ามาตอบโจทย์การเรียกใช้บริการได้
ปัจจัยที่ทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดไวขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคต้องการความสะดวกในการดำรงชีวิต ขณะเดียวกัน เป็นเพราะสภาพแวดล้อมแปรเปลี่ยนไปมากอย่างเช่นภาวะโลกร้อนและอุณหภูมิโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว ทุกคนรู้แล้วถ้าไม่ปรับเปลี่ยนทั้งการผลิตและบริโภคในที่สุดโลกจะอยู่กันไม่ได้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เน้นเรื่องคุณภาพชีวิตเป็นสิ่งสำคัญ
นี่คือ ทิศทางของพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ ที่ไม่ใช่แค่พิจารณาประโยชน์การใช้ผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่เพราะเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลทำให้สังคมผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลและเปรียบเทียบคุณสมบัติสินค้าและบริการก่อนการตัดสินใจซื้อได้สะดวกรวดเร็ว
การมอบรางวัลสุดยอดธุรกิจยานยนต์ยอดนิยม หรือ TAQA ครั้งนี้จึงสะท้อนทัศนคติของผู้บริโภคที่ลงคะแนนซึ่งประเมินเป็นภาพลักษณ์ด้านต่างๆ จากผลการได้ใช้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มตัวอย่างดังนี้…
“โตโยต้า” สามารถครองใจผู้ใช้รถด้วยรางวัลธุรกิจยานยนต์ยอดนิยม รวมทั้งสิ้น 4 รางวัล
ด้านบริการหลังการขาย ประเภท รถยนต์นั่งส่วนบุคคล (เป็นรางวัลที่โตโยต้าได้รับติดต่อกันมาเป็นปีที่ 12 ) และ ประเภท รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ขนาด 1 ตัน รางวัลภาพลักษณ์ดีเด่น ด้านสร้างสรรค์นวัตกรรม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“ฮอนด้า” ได้รับ 2 รางวัล โดยยังคงครองใจมหาชนด้านการเป็นแบรนด์ที่น่าเชื่อถือ
(ฮอนด้าได้รับติดต่อกันมาเป็นปีที่ 8 แล้ว) และยังคว้ารางวัลภาพลักษณ์ดีเด่นด้านความรับผิดชอบต่อสังคมอีกด้วย
“อีซูซุ” ได้รับ 2 รางวัล ได้แก่ ภาพลักษณ์ดีเด่น ด้านความคุ้มค่าเงิน (ได้ติดต่อกันมาเป็นปีที่ 7) และยังคว้ารางวัล ภาพลักษณ์ดีเด่น ด้าน ประหยัดพลังงาน อีกด้วย
“เมอร์เซเดส-เบนซ์” ยังคงครอง 2 รางวัลอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ภาพลักษณ์ดีเด่น ด้านความปลอดภัยสูง และ เทคโนโลยีระดับสูง
“มาสด้า” ได้รับรางวัล ด้านขับขี่สนุก (ได้ติดต่อกันเป็นปีที่ 7)
“ฟอร์ด” ได้รับรางวัลภาพลักษณ์ดีเด่น ด้านควบคุมการขับขี่ได้ดี (ได้ติดต่อกันเป็นปีที่ 6)
“บีเอ็มดับเบิลยู” ยังครองรางวัล ภาพลักษณ์ดีเด่น ด้านรูปลักษณ์ดึงดูดใจ
“นิสสัน” ได้รับรางวัลภาพลักษณ์ดีเด่น ด้านธรรมาภิบาล
ส่วนผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่องกับรถยนต์ในปีนี้ นอกเหนือจาก 3 ค่ายที่ได้รับคว้ารางวัล Platinum Excellence Award ได้แก่ “ Lamina” "สถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น” และ “บริดจสโตน” ไปแล้วนั้น “เซลล์” ยังได้รับรางวัลด้านน้ำมันหล่อลื่น ติดต่อกันเป็นปีที่ 6 และคว้ารางวัลด้านน้ำมันเชื้อเพลิงมาได้อีก 1 รางวัล
ขณะที่ “เอ.พี.ฮอนด้า” ยังคงครองความเป็นที่หนึ่งในใจมหาชนโดยได้รับรางวัลด้านจักรยานยนต์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 ส่วน “3K” ได้รับรางวัลด้านแบตเตอรี่รถยนต์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 8
ข้อคิด...
ความผันผวนด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีของโลกยุคใหม่ขณะนี้ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ต่อวงการธุรกิจอุตสาหกรรม จนผู้ประกอบการชั้นนำต้องปรับแนวคิดการดำเนินกิจการ ขณะที่ผู้บริโภคมีความคล่องตัวในการรับรู้ เรียนรู้ และเปรียบเทียบ ข้อมูลเพื่อเลือกซื้อผลิตภัณฑ์และการบริการที่คุ้มค่าจากบริษัทที่มีภาพลักษณ์ เก่งและดี
เมื่อทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงข้อมูลอย่างสะดวดรวดเร็ว หลากหลายช่องทางการสื่อสารในยุคดิจิทัล ทุกคนก็ต้องปรับตัวให้ “ทันการณ์ -ทันเกมส์” การตลาดยุค 4.0 ขณะนี้จึงมุ่งไปที่การสร้างคุณค่า (Customer Value) และก่อให้เกิดผลลัพธ์ (Impact) ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงในทางบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ภาพรวมของรางวัลสุดยอดธุรกิจยานยนต์ หรือ TAQA สามารถจัดกลุ่มที่มุ่งสมรรถนะด้านประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ และด้านคุณค่าที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งธรรมาภิบาล
ทั้งนี้ แก่นแท้ก็ต้องเริ่มจากการมีจุดมุ่งหมายที่ดี มีการวิจัยและพัฒนาการผลิตรถยนต์ที่มีคุณภาพประสิทธิภาพและดำเนินธุรกิจอย่างซื่อสัตย์ รับผิดชอบ และยึดมั่นหลักธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นองค์ประกอบการมี CSR -in-Processและเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG s) ที่สหประชาชาติอยากให้โลกน่าอยู่
suwatmgr@gmail.com