อดีต ส.ส.ปชป.บุกสภาอีกรอบ ร้อง ปธ.สภาฯ ระงับขยายเวลาสร้างรัฐสภารอบ 4 ชี้เอื้อประโยชน์ผู้รับเหมา ยกความเห็นกลุ่มงานพัสดุค้าน แถมพบพิรุธอ้างส่งมอบล่าช้า ทั้งที่ปี 59 สภาส่งหมดแล้ว พร้อมขอให้ตั้ง กก.สอบ เลขาสภาฯ ทำเสียประโยชน์
วันนี้ (6 ธ.ค.) เมื่อเวลา 11.30น. นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางมายังอาคารรัฐสภาเพื่อมาส่งหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อขอให้ระงับการขยายระยะเวลาก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ครั้งที่ 4 เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับจ้างก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่
นายวัชระกล่าวว่า กลุ่มงานพัสดุได้มีความเห็นแล้วว่าให้ระงับการขยายเวลาการก่อสร้าง โดยมีข้อสังเกตุเกี่ยวกับหลักการคิดในการขยายเวลาการก่อสร้างให้กับผู้รับจ้างว่า เมื่อพิจารณาตามสัญญาจ้างก่อสร้างเลขที่ 116/2556 ลงวันที่ 30 เม.ย. 2556 ผนวก 16 การประสานงานระหว่างผู้รับจ้างหลักและผู้รับจ้างอื่น ผู้รับจ้างไม่สามารถยกเอาเหตุที่ผู้รับจ้างรายอื่นๆ รายใดรายหนึ่ง หรือหลายรายทำงานล่าช้า ขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อขอขยายเวลาทำงานอีกไม่ได้ นอกจากนี้ กลุ่มงานพัสดุ สำนักการคลังและงบประมาณ เคยมีหนังสือลงวันที่ 5 มี.ค. 2561 ถึงเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกรณีงบประมาณ ICT จำนวน 8,648 ล้านบาท ว่าหากจะประมูลให้ใช้วิธีเชิญชวนทั่วไป ไม่ใช้วิธีคัดเลือกด้วยวิธีพิเศษ ซึ่งเป็นการให้ความเห็นที่ถูกต้องตามระเบียบการเงินการคลัง และรักษาผลประโยชน์ของชาติไม่ต้องเสียงบประมาณ 8,648 ล้านบาทมาแล้ว ความเห็นของกลุ่มงานพัสดุจึงชอบด้วยกฎหมายหลักนิติรัฐนิติธรรมยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติย่อมเชื่อถือได้
นายวัชระกล่าวว่า ในการขอขยายระยะเวลาครั้งที่ 3 คือ 10 ก.พ. 2561 - 15 ธ.ค. 2562 ผู้รับจ้างอ้างว่ามีอุปสรรคจากความล่าช้าในการส่งมอบพื้นที่ครั้งที่ 4 บริเวณโรงเรียนโยธินบูรณะ พ้นที่ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ดุสิต และศูนย์สาธารณสุข 38 กรุงเทพมหานคร พื้นที่ชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้าและพื้นที่บ้านพักราชการกรมการอุตสาหกรรมทหาร แต่ปราฏว่านายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาฯ ได้มีหนังสือลงวันที่ 11 พ.ย. 2559 ว่าสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ได้ส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับจ้างส่วนที่เหลือทั้งหมดแล้ว และขอให้เร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามกำหนด จึงขอให้ประธานสภาฯ ระงับการขยายสัญญาการก่อสร้างครั้งที่ 4 ตามที่ผู้รับจ้างขอมาจำนวน 502 วัน เพราะขณะนี้กำลังจะมีการอนุมัติโดยสำนักงานเลขาธิการสภาฯ เป็นเวลา 382 วัน ซึ่งเห็นว่าน่าจะขัดต่อสัญญาและเอกสารต่างๆ
“การมายื่นหนังสือถึงประธานสภาฯ ไม่ได้ต้องการให้ระงับการก่อสร้าง แต่ต้องการให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเลขาธิการสภาฯ เพราะการขยายออกไปจะมีผลให้สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าวันละ 2 ล้านบาท ทั้งค่าเช่าอาคารสถานที่ และยานพาหนะที่รับส่งเจ้าหน้าที่จากอาคารต่างๆ มาทำงานยังรัฐสภา” นายวัชระกล่าว