พิษณุโลก - เลือดม่วงขาวศิษย์เก่าโรงเรียนชายพิศณุโลก (พิษณุโลก) นัดรวมพลใหญ่พรุ่งนี้ (7 ธ.ค.) โชว์พลัง 120 ปี พ.พ.คอนเนกชัน
นายบุญทรง แทนธานี นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก ในฐานะนายกสมาคมนักเรียนเก่าพิษณุโลกพิทยาคม เปิดเผยว่า วันพรุ่งนี้ (7 ธ.ค.) ในโอกาสครบรอบ 120 ปีโรงเรียนชาย-พิษณุโลกพิทยาคม น้องพี่ลูกสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจะจัดงาน "ราตรีม่วง-ขาว คืนสู่เหย้า 120 ปี พ.พ." ขึ้นบริเวณลานหน้าเสาธงของโรงเรียนฯ ต.ท่าทอง อ.เมืองพิษณุโลก
ช่วงเช้า 8.29 น. จะทำพิธีบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์ หน้าโรงเรียนฯ ทำบุญและทอดผ้าป่า ณ หอประชุมนเรศวร ถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ พิธีแสดงมุทิตาจิตครูอาวุโส และรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ช่วงเย็นก็จะมีการประชุมสามัญประจำปี ซึ่งปีนี้จะเลือกตั้งนายกสมาคมนักเรียนเก่า พ.พ. ซึ่งตนได้ทำหน้าที่ครบวาระแล้ว และจะทำการเลือกตั้งใหม่ คาดว่ามีตัวเต็ง คือ พลโท สุภโชค ธวัชพีระชัย แม่ทัพน้อยที่ 3 จะรับช่วงต่อ
จากนั้นก็จะเริ่มงาน "ราตรีม่วง-ขาวฯ” ซึ่งจะเชิญศิษย์เก่าดีเด่นแต่ละห้องเรียนในหลากหลายรุ่นที่คณะกรรมการของโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมเป็นผู้คัดเลือก ขึ้นเวทีรับมอบโล่นักเรียนเก่าดีเด่นประจำปี 2562 พร้อมสังสรรค์ “เลือดม่วงขาวสไตล์คาวบอย” ที่เติบใหญ่ในหลากหลายอาชีพ
สำหรับศิษย์เก่า พ.พ.ที่มีความเจริญในหน้าที่การงานหลากหลายอาชีพ ทั้งในเมืองหลวงและภูธรในระดับหัวหน้าส่วนราชการและข้าราชการทหารหลายนาย เช่น นายกอบชัย สิงสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พ.พ.รุ่น 21/23, นายรณรงค์ นครจินดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี พ.พ.22/24, นายพิพัฒน์ เอกภาพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พ.พ.19/21, พลโท สุภโชค ธวัชพีระชัย แม่ทัพน้อยที่ 3 พ.พ.20/22, พล.ต.อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ รองแม่ทัพภาคที่ 3 พ.พ.20/22, พล.ต.ต.ระวีพรรษ อมรมุนีพงศ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชร พ.พ.24/27
นายเจษฎา ลิ้มศรีตระกูล นายอำเภอเมือง (พิษณุโลก) พ.พ.19/21, พ.ต.อ.นฤชา สุวรรณลาภา รอง ผบก.จว.พิษณุโลก พ.พ.19/21, นายบุญทรง แทนธานี นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก พ.พ.19/21, นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก 25/28, พ.อ.สมบัติ บุญกอแก้ว เสธ.บชร.ที่ 3 พ.พ.22/24, พ.อ.นพดล วัชรจิตบวร รอง เสธ.มทบ.39 พ.พ.23/26, น.อ.ภาณุวัตร เรืองประยูร ผู้บังคับการกองบิน 46 พ.พ.27/30
พ.อ.พิทยา ราชะพริ้ง รอง เสธ.มทบ.39, นายวิบูลย์ ตั้งเกษมวิบูลย์ นายกเทศมนตรีบางระกำเมืองใหม่ พ.พ.23/25, นายทวีศักดิ์ ธนะเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พ.พ.23/25, นายแพทย์ ปิยะ ศิริลักษณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก พ.พ.25/28, นายนิสิต สวัสดิเทพ นายอำเภอนครไทย พ.พ.27/30, พ.ต.อ.ธรธวัช แจ่มอุดมโชค ผกก.นครไทย พ.พ.20/22, พ.ต.อ.วัฒนากร อู่นาท ผกก.วัดโบสถ์ พ.พ.24/27, นายพิชิต ศรีบัว ผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ สาขาพิษณุโลก พพ.25/28 ฯลฯ
ซึ่งศิษย์เก่าหลายคนได้จองโต๊ะราตรีม่วงขาวฯ ไปเกือบหมดแล้ว แต่หากศิษย์เก่ารายใดยังไม่มีสามารถติดต่อจองโต๊ะสมาคมนักเรียนเก่าพิษณุโลกพิทยาคม ราคาละ 2,500 บาท (8 ท่าน) ได้ที่ 1. ป้อม จนท.สมาคมฯ 08-7310-7548 2. เต้ 08-1688-0850 3. ตู่ 08-1041-7428
ทั้งนี้ โรงเรียนชายเมืองพิษณุโลก (พิศณุโลก) ตามพระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ ๕ คราวเสด็จมณฑลฝ่ายเหนือ เมืองพิศณุโลก (17 ตุลาคม รัตนโกสินทรศก 120) ระบุไว้ว่า ตั้งอยู่ในพื้นที่วัดนางพระยา (นางพญา) ซึ่งวัดนี้มีแต่วิหาร ไม่มีพระอุโบสถ มีพระสงฆ์เป็นครูผู้สอน มีนักเรียนมากที่คับแคบไม่พอ...
ปี 2442 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดตั้งโรงเรียนขึ้นทั่วราชอาณาจักร ก่อตั้ง "พิษณุโลกพิทยาคม" โรงเรียนประจำมณฑลพิษณุโลก มีพระครูโลกเชษฐ์ชินราชบริบาลเป็นครูใหญ่คนแรก ใช้ศาลาหน้าวัดนางพญาทำการเรียนการสอน
ปี 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ทรงเยี่ยม "พิษณุโลกพิทยาคม" ทรงปรารภว่า มีนักเรียนสนใจเรียนมาก แต่สถานที่คับแคบ ไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน
กระทั่งปี 2473 มีการสร้าง “สะพานนเรศวร” ข้ามแม่น้ำน่าน ตัวสะพานอยู่ตรงหน้าโรงเรียนพอดี เมื่อถมดินเชิงสะพานด้านตะวันออกจึงล้ำอาณาเขตเข้ามาในโรงเรียนติดอาคาร จำเป็นต้องย้าย ครั้งที่ 1 ไปทางทิศตะวันออก “วัดราชคฤห์” (ปัจจุบัน ร.ร.จ่าการบุญ) และยืม “ศาลาโรงโขน” ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นห้องเรียน กระทั่งสร้างสะพานเสร็จปี พ.ศ. 2475 เท่ากับว่าอาศัยพื้นที่วัดนางพญา 33 ปี จึงได้ย้ายฝั่งไปตะวันตก ที่พระราชวังจันทน์ในปัจจุบัน (ย้ายครั้งที่ 2)
ปี 2484 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงเรียนถูกกองทัพญี่ปุ่นยึดครองเป็นโรงพยาบาล โรงเรียนต้องหยุด สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ ปี 2489 ปีถัดมา 2490 จึงมีการจัดงานประจำปีของสมาคมนักเรียนเก่าพิษณุโลกพิทยาคมครั้งแรก ปี 2491 มีเพลงประจำโรงเรียน “พิทยาสถาพร” โดยนายสุพงษ์ ศรลัมภ์ (อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร) นักเรียนเตรียมอักษรศาสตร์ โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม เป็นผู้ประพันธ์เนื้อร้อง และ ครูบุญยงค์ แก้ววรรณรัตน์ ให้ทำนอง
ปี 2495 สร้างหอประชุมนเรศวร จอมพล ป.พิบูลสงคราม ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2497 ปี 2500 มีห้องเรียน 21 ห้อง นักเรียน 833 คน ครู 56 คน ปี 2501 ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชบนศาลเทพารักษ์
ปี 2503 สร้างศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แทนศาลไม้หลังเดิม (เห็นอยู่ด้านหลังของศาลที่สร้างขึ้นใหม่) และหล่อพระบรมรูปขึ้นใหม่ตามแบบของกรมศิลปากร พร้อมรื้อย้ายอาคารเก่าเกือบทั้งหมด ยกเว้นหอประชุมนเรศวร เพื่อมิให้บังหน้าศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ปี 2505 ในหลวงรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ทรงประกอบพิธีเปิดศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2505 ปี 2507 สมาคมนักเรียนเก่าพิษณุโลกพิทยาคมทำพิธีพุทธาภิเษก พระกริ่งนเรศวรและพระพุทธรูปบูชาต่างๆ หารายได้จัดสร้างตึกวิทยาศาสตร์ "ยรรยง สท้านไตรภพ"
ปี 2510 กระทรวงการคลังได้อนุมัติให้โรงเรียนเข้าใช้ที่ดินราชพัสดุ 13 ไร่เศษบริเวณสระสองห้อง (สระประวัติศาสตร์ปัจจุบันนี้) เพื่อสร้างอาคารเรียน, แปลงเกษตร และบ้านพักครู ปี 2522 อาคารเรียนไม้เหนือสนามวังจันทน์ถูกเพลิงไหม้
ปี 2532 มีการอัญเชิญพระพุทธวังจันทน์ประดิษฐานในโรงเรียน ด้านหน้าหอประชุมละเมียน อัมพวะศิริ และบูรณะศาลเทพารักษ์ ปี 2533 ฉลองครองราชย์ครบ 400 ปี ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จัดสร้างวัตถุมงคล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จฯ ทรงเป็นองค์ประธานในพิธีพุทธาภิเษก รายได้นำมาบูรณะศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ปี 2535 กรมสามัญศึกษาระงับการก่อสร้างอาคาร เหตุขุดค้นเจอโบราณสถาน ปี 2536 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนบริเวณวังจันทน์เป็นโบราณสถาน ตามที่หนังสือ ศธ ๐๗/๔๙๕๔ ให้กรมศิลปากรเข้ามาบูรณะบริเวณพระราชวังจันทน์ โรงเรียนจึงต้องจัดหาสถานที่แห่งใหม่ 339 ไร่บริเวณบึงแก่งใหญ่ หมู่ที่ 8 ต.ท่าทอง จึงย้ายโรงเรียนเป็นครั้งที่ 3 กระทั่งปี 2548 ก็สามารถย้ายวัสดุ-ครุภัณฑ์เสร็จสมบูรณ์ จนถึงปัจจุบันนี้