ปธ.สภาฯ ร่ายยาว ปัดออกระเบียบสภาฯแทรกแซงงานกมธ. ยันทำตามข้อบังคับการประชุม ย้ำกมธ.มีอำนาจเชิญคนมาชี้แจงได้ แต่ต้องให้เกียรติ หากเชิญผิดกฎหมายต้องมีโทษ ชี้ มีกมธ.บางชุดโด่งดังขัดแย้งภายใน โยนจัดการกันเอง
วันนี้ (18พ.ย.) นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฏร กล่าวถึงกรณีประกาศระเบียบสภาผู้แทนราษฎรให้กรรมาธิการ(กมธ.)แต่ละคณะปฏิบัติ เพื่อไม่ให้การทำงานซ้ำซ้อน ว่า ระเบียบดังกล่าวเป็นข้อบังคับการประชุมสภาฯที่กำหนดไว้เช่นนั้น ทางเลขาธิการสภาฯจึงเสนอระเบียบนี้เข้ามา เพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ ก่อนหน้านี้ก็เคยมี แต่ครั้งนี้เป็นระเบียบใหม่ตามข้อบังคับการประชุมสภาฯที่เพิ่งออกมาว่าการดำเนินการของคณะกมธ.ต้องรายงานให้ประธานสภาฯทราบ
เมื่อถามว่าการออกระเบียบครั้งนี้เป็นเพราะคณะกมธ.ป้องกันและปราบปรามทุจริตประพฤติมิชอบ ที่มีพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช เป็นประธาน โดยเชิญพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มาชี้แจงหลายรอบ หรือไม่ นายชวน กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน และต้องไปอ่านข้อบังคับที่ 90 กำหนดให้กมธ.ต้องรายงานการปฏิบัติภารกิจให้ประธานสภาฯรับทราบ ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องที่กมธ.บางชุดมีปัญหา ยืนยันว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงภารกิจของคณะกมธ. เพียงแต่สมมุติมีปัญหาก็สามารถแจ้งมายังประธานสภาฯได้ เพราะไม่ต้องการให้กมธ.แต่ละชุดมีปัญหากัน อยากให้ร่วมกันทำงานในภารกิจที่ต้องทำตามข้อบังคับ ส่วนภารกิจใดที่ซ้ำซ้อน กมธ.แต่ละชุดจะต้องศึกษาให้ถ่องแท้ว่าภารกิจของเขาคืออะไร ต้องพยายามหลีกเลี่ยง ไม่เช่นนั้นจะเป็นภาระของเจ้าหน้าที่และบุคคลที่ถูกเชิญมา ซึ่งเรื่องนี้สมัยก่อนก็มีปัญหาจึงได้มีการกำชับเป็นพิเศษว่าแต่ละฝ่ายให้ทำหน้าที่ของตัวเองให้สมบูรณ์ตามอำนาจหน้าที่ที่สมบูรณ์
“หลายเรื่องอยู่ที่ปฏิบัติ ระเบียบ ข้อบังคับไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก แต่ผู้ปฏิบัติมีส่วนสำคัญที่ต้องดูว่าภารกิจของกมธ.ชุดนั้นมีอะไรบ้าง แล้วทำไปตามภารกิจนั้นโดยเคร่งครัด” นายชวน กล่าว
เมื่อถามถึงตามระเบียบระบุว่าประธานสภาฯสามารถตรวจสอบภารกิจของกมธ.ในการเชิญบุคคลได้ ประธานสภาฯ ชี้แจงว่า การตรวจสอบและการที่จะเชิญใครมาเป็นอำนาจของกมธ. อย่างที่เคยบอกแล้วว่ากมธ.ต้องให้เกียรติผู้ชี้แจง เพราะเขาไม่ได้เป็นจำเลย ดังนั้น จึงไม่ควรทำอะไรให้เขาเสียเกียรติเสียศักดิ์ศรีและที่จริงทั้งหมดคือความร่วมมือเชิญมาเพื่อให้ข้อมูล เพราะทั้งหมดเป็นประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่ประโยชน์ของกมธ.คนใดคนหนึ่ง ทั้งนี้ ยืนยันว่ากมธ.ต้องทำตามหน้าที่ที่ระเบียบให้ไว้
“ที่จริงผมทราบว่าทั่วๆไปไม่ค่อยมีปัญหา มีโด่งดัง 1-2 คณะที่มีปัญหาขัดแย้งภายใน ซึ่งในกรณีเช่นนี้เป็นเรื่องภายในกมธ.ทั้ง 15 คน และที่ปรึกษาต้องช่วยกันพยายามให้การทำงานเป็นไปโดยราบรืน โดยมองประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง และถือว่าผู้ที่ได้รับเชิญให้ชี้แจงต้องให้ความร่วมมือ ถ้าสมมติว่าผู้เชิญเชิญผิดกฏหมายผู้นั้นก็มีโทษเหมือนกัน เช่นเดียวกับผู้ที่ถูกเชิญหากไม่ร่วมมือตามกฏหมายที่บังคับไว้ก็มีโทษเช่นกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายก็มีกฏหมายกำหนดภารกิจและโทษเอาไว้ ทางที่ดีที่สุดคือให้เคารพกติกา แต่ระบบนี้ต้องถือว่าสภามีอำนาจตรวจสอบ แต่สภาตรวจสอบได้ภายใต้ข้อจำกัดในอำนาจหน้าที่ของตัวเอง” นายชวน กล่าว
เมื่อถามต่อว่า กมธ.ปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เชิญนายกรัฐมนตรีมาชี้แจงถึง 4 รอบ ทั้งที่เรื่องจะสอบถามผู้ถูกเชิญได้ทำหนังสือชี้แจงมาแล้ว กมธ.ยังสามารถเชิญได้อีกหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องดูรายละเอียดของคณะกมธ.ว่ามีประเด็นอะไรที่ขัดแย้งกัน เช่น การเชิญหรือประเด็นที่เชิญนั้นเกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของกมธ.ชุดนั้นหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องภายในของกมธ.แต่ละชุดจะพิจารณาเอง และขอให้พยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง โดยตนพยายามข้อร้องไม่ให้มีความขัดแย้ง บางเรื่องอธิบายกันได้ เวลาที่มาขอคณะอนุกมธ.เพิ่ม 2-4 คณะ ตนก็ให้คำแนะนำไปว่าถ้าเราให้กมธ.ชุดใดชุดหนึ่ง ทุกชุดก็ต้องได้รับเหมือนกัน แต่ตนแนะนำว่าในทางบริหารให้ใช้วิธีบริหาร จึงจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ การตั้งองค์กรเพิ่มมากก็จะทำให้งบประมาณเพิ่มมาก ซึ่งไม่ใช่ตัวสำเร็จเสมอไป ต้องใช้ศักยภาพความสามารถในการบริหารในคณะกมธ.แต่ละชุด ซึ่งเขาก็รับฟังดี อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าประธานสภาฯไม่ไปแทรกแซงการทำงานของกมธ. เพราะประธานสภาฯไม่มีสิทธิ์ที่จะสั่งให้กมธ.ทำอะไรที่ขัดต่อภารกิจของเขานอกจากทำล่วงล้ำจากภารกิจประธานสภาฯก็มีสิทธิ์ทำความเข้าใจเพื่อให้การทำงานอยู่ในกรอบภารกิจ แต่ขณะนี้ยังไม่มีถึงขั้นนั้นและยังไม่มีใครร้องให้ประธานสภาฯเข้าไปช่วย