xs
xsm
sm
md
lg

กฎมีอยู่ “ชวน” เซ็นตั้งแต่ 31 ต.ค. ห้าม กมธ.เชิญคนชี้แจงมั่ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร (แฟ้มภาพ)
เผย “ชวน” เช็นตั้งแต่ 31 ต.ค.ระเบียบสภาผู้แทนฯ ห้าม กมธ.เชิญมั่ว ให้ประธาน กมธ.รายงานประธานสภาทุกวันศุกร์ พิจารณาเรื่องไหน ประเด็นอะไร เชิญใคร กันทำงานซ้ำซ้อน

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงนามในประกาศระเบียบสภาผู้แทนราษฎรว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดที่มีความเกี่ยวข้องกันของคณะกรรมาธิการหลายคณะ พ.ศ. 2562 มีเนื้อหาว่า

โดยที่เป็นการสมควรให้มีระเบียบสภาผู้แทนราษฎรว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดที่มีความเกี่ยวข้องกันของคณะกรรมาธิการหลายคณะ

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 4 และข้อ 90 วรรคหก แห่งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ประธานสภาผู้แทนราษฎรจึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบสภาผู้แทนราษฎรว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดที่มีความเกี่ยวข้องกันของคณะกรรมาธิการหลายคณะ พ.ศ. 2562”

ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3 ในระเบียบนี้
“ประธานสภา” หมายความว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎร
“คณะกรรมาธิการ” หมายความว่า คณะกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎร
“ที่ประชุม” หมายความว่า ที่ประชุมร่วมกันระหว่างประธานสภาและประธานคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องทุกคณะ

ข้อ 4 เมื่อคณะกรรมาธิการจะกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ให้ประธานคณะกรรมาธิการทุกคณะรายงานต่อประธานสภาทราบภายในวันศุกร์ของทุกสัปดาห์ ว่าจะมีการพิจารณาเรื่องใด ประเด็นใด และเชิญผู้ใด หรือหน่วยงานใดเข้าร่วมการพิจารณาในสัปดาห์ถัดไป

ข้อ 5 ให้ประธานสภาตรวจสอบรายงานตามข้อ 9 หากพบว่ามีคณะกรรมาธิการมากกว่าหนึ่งคณะ จะกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดที่มีความเกี่ยวข้องกัน ให้ประธานสภาแจ้งให้ประธานคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องทราบโดยไม่ชักช้า และจัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างประธานสภาและประธานคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องทุกคณะ เพื่อร่วมกันดำเนินการ ทั้งนี้ ให้คณะกรมาธิการที่เกี่ยวข้องยุติการกระทำกิจการพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องนั้นไว้เป็นการชั่วคราว ในกรณีที่ไม่อาจยุติการดำเนินการดังกล่าวได้ ให้คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจไปพลางก่อนได้ แต่ต้องไม่เกินเจ็ดวันนับแต่วันที่ประธานสภาแจ้งให้ทราบ

ข้อ 6 การร่วมกันดำเนินการตามข้อ 5 อาจพิจารณาดำเนินการในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) ให้คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องทุกคณะร่วมกันกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องนั้น โดยตกลงร่วมกันให้ประธานคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องคณะใดคณะหนึ่งเป็นประธานในการดำเนินการดังกล่าว หากไม่อาจตกลงกันได้ ให้ประธานสภาเป็นผู้กำหนด

(2) ให้คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องทุกคณะร่วมกันกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องนั้น โดยให้คณะกรรมาธิการคณะใดคณะหนึ่งเป็นหลักในการดำเนินการ และให้คณะกรรมาธิการคณะอื่นที่เกี่ยวข้องส่งกรรมาธิการตามจำนวนที่ที่ประชุมกำหนดเข้าร่วมการดำเนินการนั้นด้วย

(3) แนวทางอื่นที่ที่ประชุมเห็นชอบให้คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการ เมื่อที่ประชุมเห็นขอบให้ร่วมกันดำเนินการตาม (1) (2) หรือ (3) แล้ว ให้ประธานสภาแจ้งคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องทุกคณะทราบเพื่อดำเนินการต่อไป

ข้อ 7 ในกรณีที่มีญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้ ให้ประธานสภาเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัย และคำวินิจฉัยของประธานสภาให้ถือเป็นเด็ดขาด

ข้อ 8 ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้

ประกาศณวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ลงชื่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์กรณีกรรมาธิการ ป.ป.ช.ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นประธาน ได้ออกหนังสือเชิญนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มาชี้แจงกรณีเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปี 2563 โดยไม่ถูกต้อง เนื่องจากยังถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนถึง 3 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดมีการอ้างถึงการใช้อำนาจออกคำสั่งเรียกตามพระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาด้วย ซึ่งในขณะนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาตรา 5 มาตรา 8 และมาตรา 13 เกี่ยวกับการใช้อำนาจออกคำสั่งเรียก รวมถึงบทลงโทษทางอาญา ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 หรือไม่ ตามคำร้องของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ






กำลังโหลดความคิดเห็น