รมว.พาณิชย์ นั่งหัวโต๊ะประชุม คกก.มันสำปะหลัง แจงเคาะ 1 ธ.ค.เริ่มจ่ายส่วนต่างประกันรายได้มันสำปะหลัง กก.ละ 2.50 บาท ครัวละไม่เกิน 100 ตัน ชงเรื่องเข้า ครม.พรุ่งนี้
วันนี้ (11 พ.ย.) เวลา 10.45 น. ที่ศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง ใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมง
นายจุรินทร์แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังปี 2562/2563 วงเงิน 9,671 ล้านบาท โดยจะประกันรายได้ผลผลิตหัวมันสำปะหลังสด เชื้อแป้งร้อยละ 25 ในพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศ กิโลกรัม (กก.) ละ 2.50 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 100 ตัน สำหรับเกษตรกรที่สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ ต้องขึ้นทะเบียนผู้ปลูกมันสำปะหลังกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2561 - 30 พ.ย. 2562 ซึ่งปัจจุบันมีผู้ขึ้นทะเบียนแล้ว ประมาณ 540,000 ราย และจะเปิดโอกาสให้เกษตรกรขึ้นทะเบียนได้ต่อเนื่อง โดยเกษตรกรสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยวเป็นต้นไป และโดยรัฐบาลจะโอนเงินงวดแรกในวันที่ 1 ธ.ค. 2562 สำหรับเกษตรกรที่ได้รับสิทธิที่เก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. - 30 พ.ย. 2562 ซึ่งมีประมาณร้อยละ 20 ของจำนวนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนทั้งหมด และจะโอนเงินทุกวันทำการแรกของเดือนให้กับเกษตรกรที่เหลือที่เก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2562 - 31 เม.ย. 2563 มีประมาณร้อยละ 80 ของจำนวนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนทั้งหมด และจะโอนเงินครั้งสุดท้ายวันที่ 1 พ.ค. 2563 รวมทั้งมีการเก็บเกษตรกรที่ตกหล่นจนถึงวันที่ 31 พ.ค. 2563 ทั้งเกษตรกร 1 รายสามารถใช้สิทธิได้ 1 ครั้ง และเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวหลังจากนั้น สามารถขึ้นทะเบียนใหม่สำหรับโครงการระยะที่ 2 อีกทั้ง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะโอนเงินชดเชยส่วนต่างเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง ตามช่วงระยะเวลาที่กำหนดภายใน 3 วัน นับตั้งแต่วันที่ประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงในแต่ละรอบ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดภาระในการเข้าร่วม โครงการฯ เกษตรกรไม่ต้องทำสัญญาประกันรายได้กับ ธ.ก.ส. โดยภายใต้โครงการนี้ รัฐบาลจะจ่ายเงินทุกวันที่ 1 ของเดือน จำนวน 12 ครั้งต่อปี
นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบมาตรการคู่ขนานเพื่อรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง ในการสร้างมาตรฐานของมันสำปะหลังและเข้มงวดการกำกับดูแลการนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังให้เป็นไปตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัด ได้แก่ (1. ต้องมีการตรวจสอบคุณภาพของมันสำปะหลังที่นำมาขายที่ลานมัน ซึ่งจะต้องมีความเป็นธรรมแก่เกษตรกรและผู้รับซื้อ เพราะมีบางกรณีพบว่ามีดินติดมันสำปะหลังมาด้วย จนทำให้เกิดการถกเถียงกันระหว่างลานมันกับเกษตรกร ซึ่งทำให้เกษตรกรเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะฉะนั้น คณะกรรมการฯจึงเห็นควรให้ลานมันติดเครื่องร่อนดินก่อนที่จะนำไปชั่งน้ำหนัก โดยให้มีการจัดเตรียมเงินกู้แก่ลานมัน ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ คือ ร้อยละ 3 (2. ให้ลานมันขึ้นป้ายกำหนดราคารับซื้อมันสำปะหลังที่มีเชื้อแป้งร้อยละ 25 ทุกเช้า เพื่อให้เกษตรกรตัดสินใจในการนำมันสำปะหลังมาขายหรือไม่ และจะมีการกำหนดสูตรว่าระหว่างเชื่อแป้งร้อยล 1 จะบวกหรือลบ คิดเป็นราคาเท่าไหร่ โดยให้กรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ดำเนินการ (3. เรื่องของเครื่องชั่งและเครื่องตรวจวัดเชื้อแป้งมันสำปะหลัง จะต้องได้รับการรับรองจากกรมการค้าภายในเท่านั้น (4. สำหรับมาตรฐานมันสำปะหลังในการส่งออกนั้น ให้กรมการค้าต่างประเทศตรวจมันทุกชนิด ก่อนที่จะส่งออก เพื่อป้องกันมาตรฐานกับผู้รับซื้อในต่างประเทศ (5. ให้ ธ.ก.ส.เตรียมวงเงินกู้ 1,500 ล้านบาทให้กับสถาบัน เกษตรกรกู้ซื้อมันสำปะหลัง เพื่อเก็บไว้สำหรับแปรรูป ซึ่งจะทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องราคาตลาดตก โดยคิดเอ็มแอลอาร์ลบ 1 และรัฐบาลช่วยด้วยร้อยละ 3 และ (6. เกษตรกรที่ต้องการเพิ่มผลผลิตในไร่ของตนเอง ให้ ธ.ก.ส.เตรียมจัดเงินกู้จำนวน 1,150 ล้านบาท กู้รายละ 23,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 เป็นเวลา 3 ปี
นายจุรินทร์กล่าวว่า สำหรับปัญหาโรคใบด่างในมันสำปะหลังที่กำลังระบาดจากประเทศเพื่อนบ้านนั้น เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับการส่งออกของไทย คณะกรรมการฯ จึงมีมติให้จัดสรรงบประมาณ 248 ล้านบาท แก่ 17 จังหวัด และยังให้จัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจในการศึกษาแนวทางการจัดการกับโรคใบด่าง โดยให้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับไปดำเนินการ และเพื่อจัดการการแก้ปัญหานี้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว โดยให้ลดขั้นตอนทางกฎหมายโดยเร็วที่สุด แล้วให้กระทรวงเกษตรรายงานผลการดำเนินงาน ต่อที่ประชุมคณะกรรมการ มันสําปะหลังภายใน 1 สัปดาห์ อีกทั้งที่ประชุมรับทราบกับแนวทางการขยายตลาดมันสำปะหลังในต่างประเทศ ตามกลยุทธ์รักษาตลาดเดิม ฟื้นฟูตลาดเก่า และขยายไปยังตลาดใหม่ การรักษาตลาดเดิม ได้แก่ จีน โดยการเร่งรัดการจัดกิจกรรมในมณฑลสำคัญ เพื่อเพิ่มยอดส่งออก และการขยายตลาดใหม่ในตุรกี นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และอินเดีย รวมถฟื้นฟูตลาดเก่า คือ สหภาพยุโรป (อียู) โดยการเจรจากับสหภาพยุโรปให้เพิ่มการจัดสรรปริมาณโควตาภาษีสินค้าแป้งดิบ จากปัจจุบันไม่เกินปีละ 10,000 ตัน ให้ไทยได้รับโควตาสินค้าแป้งมันสำปะหลังในปริมาณเป้าหมายที่ 20,000 ตัน ซึ่งน่าจะเจรจาเสร็จสิ้นกลางปีหน้า
รายงานข่าวกรมการค้าภายในแจ้งด้วยว่า ที่ประชุมยังมีมาตรการอื่นเพิ่มเติม เช่น เห็นชอบที่จะส่งเสริมการใช้เอทานอลให้เป็นไปตามแผนพลังงานทดแทนฯ ที่กำหนดการใช้เป็น 11.3 ล้านลิตร ต่อวัน ในปี 2579 (ปัจจุบันมีการใช้อยู่ที่ 4.5 ล้านลิตรต่อวัน) และแก้ไขพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 ให้โรงงานสุรากลั่นแห่งอื่น นอกเหนือจากองค์การสุราฯ ผลิตสุราสามทับออกจำหน่ายภายในประเทศได้ และลดการนำเข้าเอทานอลเกรดอุตสาหกรรม โดยให้โรงงานเอทานอลในประเทศไทย สามารถผลิตและจำหน่ายให้แก่อุตสาหกรรมอื่นได้ หรือเป็นผู้รับจ้างผลิต (Outsource) ให้แก่องค์การสุราได้ด้วยการใช้เอทานอลที่ผลิตในประเทศ