อดีตรองโฆษกปชป. บี้ กมธ.ป.ป.ช. ทบทวนบทบาท หลังมีมติมั่ว เชิญนายกฯแจง ทั้งที่ไร้อำนาจ ฉะอย่าใช้เป็นเครื่องมือการเมือง งงเสียงรบ.น้อยกว่าฝ่ายค้าน แนะรัฐปรับวิธีทำงานใหม่ หลังไม่ทันเกมฝ่ายค้าน ขู่ใช้กม.คำสั่งเรียกฯในทางที่ผิดระวังคุก
วันนี้ (30 ต.ค.) นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ Facebook เรื่อง "อย่าใช้กรรมาธิการของสภาเป็นกรรมาธิกูทางการเมือง" มีเนื้อหาว่า กรณีที่กรรมาธิการ ป.ป.ช.ของสภาผู้แทนราษฏรมีมติเชิญพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเข้าชี้แจงเรื่องการเสนอร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 และกรณีกล่าวหานายกรัฐมนตรีถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญนั้น มีประเด็นคำถามให้ชวนคิดมองได้อยู่สองมิติที่น่าสนใจกล่าวคือ มิติด้านบทบาทหน้าที่ของกมธ.ป.ป.ช. ซึ่งกรรมาธิการชุดนี้ไม่มีอำนาจที่จะเชิญนายกรัฐมนตรีมาชี้แจงเรื่องการเสนอร่างงบประมาณฯ และกรณีกล่าวหานายกรัฐมนตรีถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ใช่อำนาจหน้าที่โดยตรงกรรมาธิการป.ป.ช.มีหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริตและประพฤติมิชอบ....อีกทั้งกรณีนายกฯถวายสัตย์ไม่ครบศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยแล้วว่า ไม่มีองค์กรใดตามรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยได้ เนื่องจากเป็นเรื่องการกระทำทางการเมืองระหว่างองค์พระมหากษัตริย์กับฝ่ายบริหาร
การที่ผู้คนพุ่งเป้าตำหนิไปที่พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ประธานกมธ.ชุดนี้ ยังไม่ถูกต้องนัก เพราะเรื่องนี้เป็นมติของกรรมาธิการทั้งชุด จึงต้องถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของกรรมาธิการฯทั้งชุด ตนจึงอยากให้กรรมาธิการป.ป.ช.ตั้งหลักทบทวนบทบาทตัวเองใหม่ อย่าให้ใครใช้กรรมาธิการฯที่ต้องทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อประโยชน์ส่วนตน
นายเชาว์กล่าวต่อไปว่า ประการต่อมาคือเรื่องการทำงานในสภาระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน ซึ่งจากการตรวจสอบรายชื่อกรรมาธิการชุดนี้พบว่าฝ่ายค้านมีเสียงในกรรมาธิการฯมากกว่ารัฐบาลหนึ่งเสียงคือ 8 ต่อ 7 เท่ากับฝ่ายค้านคือผู้คุมเกมในกรรมาธิการฯชุดนี้เพราะเป็นเสียงข้างมาก ผมจึงไม่เข้าใจว่ารัฐบาลซึ่งมีเสียงข้างมากในสภาปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้อย่างไร และกรรมาธิการฯซีกรัฐบาลทำอะไรอยู่ เหตุใดจึงไม่คัดค้านเมื่อมีการกระทำที่เกินเลยไปจากอำนาจหน้าที่ของตัวเอง ทั้งกรณีกรรมาธิการป.ป.ช.และการที่สภารับรองชื่อหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ที่อยู่ระหว่างถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไปเป็นกรรมาธิการงบประมาณ สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไม่เท่าทันเกมการเมืองของฝ่ายค้าน จึงควรต้องปรับวิธีคิดและการทำงานใหม่ ที่สำคัญอยากฝากถึงทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านว่าการทำงานในกรรมาธิการฯควรคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง เดินหน้าไปด้วยกันโดยไม่มีฝ่าย จึงจะถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
"จึงฝากไปยังพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ให้ตระหนักด้วยว่าพ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ.2554 ที่นำมาใช้ขู่ว่าถ้าใครไม่มาตามคำเชิญมีโทษจำคุกนั้นออกในสมัยที่ท่านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี มีจุดประสงค์ให้ใช้กฎหมายนี้เพื่อประโยชน์ต่อการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ ให้มีประสิทธิภาพและได้ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วน บนหลักการยึดประโยชน์ชาติประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่กฎหมายที่มีไว้เพื่อให้ใครใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของฝ่ายตัวเอง ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่ามาตรา 12 ของกฎหมายฉบับเดียวกันนี้มีบทลงโทษสำหรับกรรมาธิการที่ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดมีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีหรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงควรหยุดใช้อำนาจกรรมาธิการฯพร่ำเพรื่อต่อไปความศักดิ์สิทธิ์จะลดลงกลายเป็นกรรมาธิกูทางการเมือง จะไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนตามเจตนารมณ์ที่มุ่งหวัง”นายเชาว์กล่าวทิ้งท้าย