“ดิสทัต” ร่อนหนังสือด่วน ย้อนกลับประธาน กมธ.ป.ป.ช. ถาม 2 ข้อกรณีเรียก “ประยุทธ์” ไปชี้แจง ใช้อำนาจใด ยกร่างกฎหมายอื่นที่พิจารณาไม่เห็นมีการทักท้วง
วันนี้ (29 ต.ค.) จากกรณีที่คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นประธาน ออกหนังสือเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ไปชี้แจงกรณีเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ทั้งที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 ต.ค. สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) โดยนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีหนังสือที่ นร 0404/10738 ด่วนที่สุด วันที่ 28 ต.ค.ถึงประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร อ้างถึงหนังสือคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ด่วนที่สุด ที่ สผ 0019.05/547 ลงวันที่ 25 ต.ค.
ตามหนังสือที่อ้างถึงคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบสภาผู้แทนราษฎร แจ้งว่า อาศัยอำนาจตามมาตรา 129 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 คณะกรรมาธิการได้มีหนังสือให้กราบเรียนเชิญนายกฯ และครม. มาร่วมประชุมเพื่อแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นกรณีการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาทั้งๆ ที่นายกฯ และ ครม.ยังไม่สามารถเข้ารับหน้าที่ได้เนื่องจากถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ยังไม่ถูกต้องครบถ้วน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 ความละเอียดทราบแล้วนั้น
สลน.ได้นำกราบเรียนนายกฯแล้วเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตลอดจนข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบซึ่งข้อ 90 (22) กำหนดให้มีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการพิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการและมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบจึงมีประเด็นขอความชัดเจนในเบื้องต้นก่อน ดังนี้
1. การเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เกี่ยวข้องกับการทุจริตประพฤติมิชอบอันอยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบสภาผู้แทนราษฎรอย่างไร 2. ประเด็นที่อ้างว่า ครม.ยังไม่สามารถเข้ารับหน้าที่ได้เนื่องจากเห็นว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่ถูกต้องครบถ้วน ข้อเท็จจริงปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 62 ไม่รับคำร้องของนายภาณุพงศ์ ชูรักษ์ ซึ่งเสนอโดยผู้ตรวจการแผ่นดินไว้พิจารณาวินิจฉัย ทั้งนี้ โดยมีเหตุผลสรุปได้ว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำทางการเมืองของ ครม.ในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ และการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด
นอกจากนี้ ยังมีข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในวันที่ 17 ต.ค. 62 ก่อนการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ครม.ได้เสนอ พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 และสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาอนุมัติ พ.ร.ก.ดังกล่าวโดยมีมติด้วยเสียงข้างมาก อีกทั้งก่อนหน้านี้ในวันที่ 8 ส.ค. 62 ครม.ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๑๐ พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ ๑๐ พ.ศ. ... ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาด้วยกรรมาธิการเต็มสภาและเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวไม่มีการทักท้วงและทำหน้าที่ของ ครม.แต่อย่างใด
กรณีจึงเป็นประเด็นที่ไคร่ขอความชัดเจนจากคณะกรรมาธิการเพื่อจักดำเนินการให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป จึงเรียนมาเพื่อโปรดแจ้งให้ทราบด้วย จักขอบคุณยิ่งขอแสดงความนับถือ