“อนันต์ ดาโลดม” อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เตรียมให้ข้อมูลศาล ปค. ชี้ มติ คกก.วัตถุอันตรายแบน 3 สารพิษใช้ข้อมูลเก่า ถูก รมต.ชี้นำ เสี่ยงถูกฟ้อง ยันผลศึกษาไม่มีสารทดแทนที่ปลอดภัย เชื่อหลังยกเลิกมีลักลอบใช้-ของปลอมทะลัก
วันนี้ (30 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างศาลปกครองกลาง พักการไต่สวนเพื่อพิจารณาว่าจะกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวโดยระงับมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ให้ยกเลิกการใช้ 3 สารเคมี คือพาราควอต ไกลโฟเสต และ คลอร์ไพรีฟอส ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 62 นี้ ไว้ก่อน จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ตามที่เครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง พร้อมด้วย เครือข่ายผู้แทนเกษตรกร 6 จังหวัด รวม 1,091 คน ยื่นฟ้องหรือไม่ นายอนันต์ ดาโลดม อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ซึ่งมาเป็นพยานให้กับทางเครือข่ายฯ กล่าวก่อนให้ข้อมูลกับศาลในช่วงบ่าย ว่า หวังอำนาจศาลเป็นที่พึ่งสุดท้าย จะให้ความเป็นธรรม เพราะที่ผ่านมาไม่มีตัวแทนเกษตรกรแท้จริงเข้าไปร่วมพิจารณาทั้งในชั้นคณะกรรมการศึกษา คณะกรรมการวัตถุอันตรายก่อนที่จะมีคำสั่งแบน 3 สารดังกล่าว ข้อมูลที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาเป็นข้อมูลเก่าทั้งสิ้น ไม่มีข้อมูลใหม่ และเห็นว่า การพิจารณามีการชี้นำของรัฐมนตรีในการลงมติ จึงเป็นมติที่ขาดความชอบธรรม และเสี่ยงต่อการถูกฟ้อง
“การประชุมใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงก่อนยกเลิก 3 สาร ไม่มีการศึกษาอย่างรอบด้าน สมัยผมเป็นอธิบดีกรมวิชาการเกษตร จะแบนสารเคมี 4 ตัว ต้องใช้เวลาถึง 2 ปี เพราะต้องศึกษาผลกระทบ สารทดแทนให้ครบถ้วน การพิจารณาก็โปร่งใสทุกขั้นตอน แต่ครั้งนี้ กรรมการเหมือนถูกกดดันได้รับคำสั่ง ซึ่งเรื่องนี้เป็นการสู้กับกระบวนการที่ใหญ่มาก ภาคการเมืองเมื่อแบนแล้ว ไม่ได้สนใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรว่าจะเป็นอย่างไร”
นานอนันต์ ยังกล่าวอีกว่า ทางออกของเรื่องนี้ รัฐบาลควรมีการทบทวน แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีก็ได้สั่งให้มีการดูแลให้รอบคอบ เพราะท่านก็ทราบว่ายังไม่มีสารทดแทน ที่บอกกันว่า มีสารชีวพันธุ์ทดแทนจากผลการศึกษาที่ผ่านมา ก็พบว่า มีส่วนผสมของพาราควอต และไกลโฟเสต ทำให้ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน หรือที่ว่าจะใช้กลูโฟซิเนต ก็มีในประเทศไทยมานานแล้ว แต่เกษตรกรไม่ใช้เพราะราคาแพง และปริมาณการใช้ต่อไร่ก็ต้องมากกว่าพาราควอต และยังไม่แน่ว่าสารเคมีตกค้างอาจจะมากกว่า 3 สารที่ถูกแบน ขณะที่หากจะให้ใช้เครื่องจักรกลการเกษตรกับพืชไร่บางชนิด เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ก็ไม่สามารถใช้ได้ และอย่าไปแนะนำให้เกษตรกรถอนหญ้าในแปลงเกษตร ค่าแรงงานคนต่อไร่มันแพงกว่าและใช้เวลามากกว่า
นานอนันต์ กล่าวว่า หลังจากนี้ จะมีการลักลอบขาย 3 สารที่ถูกแบน และมีสารเคมีปลอมออกมาจำหน่าย พร้อมห่วงการนำเข้าสินค้าที่มีการใช้ 3 สาร จะเกิดผลกระทบจำนวนมาก การพิจารณาของรัฐมนตรีเอาแต่กระแสสังคม เอ็นจีโอ มากำหนดเป็นนโยบาย ปัญหานี้ยากต่อการแก้ไข รัฐบาลจะเอางบไหนมาชดเชยให้เกษตรกร
“เชื่อว่า นายกฯ รับทราบผลที่ตามมาเป็นเรื่องใหญ่ ท่านเคยมีบัญชาจากปี 2561 และเมษายน 2562 ให้ศึกษา แต่พอมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้ว เรื่องก็ไปอยู่ในมือของรัฐมนตรี สิ่งที่นายกฯ มีบัญชามา แต่รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกลับมติแบน” นายอนันต์ กล่าว
ด้าน นายสุกรรณ สังขะวรรณ์ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรกรปลอดภัย กล่าวว่า ทางเครือข่ายนำพยานมาให้ศาลไต่สวนรวม 10 ปาก ช่วงเช้าศาลได้ให้ น.ส.อัญชุลี ผู้ฟ้องชี้แจงประเด็นที่ฟ้อง และ นายอดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้แจงเพิ่ม บรรยายกาศการชี้แจงเป็นไปด้วยดี