xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจฯ เชื่อมะกันไม่ตอบโต้ไทยเหตุแบน 3 สารพิษ จี้ ก.เกษตรฯ เร่งหาสารทดแทน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน
ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เชื่อสหรัฐฯ ไม่ตอบโต้ไทยจากเหตุแบน 3 สารพิษทางการเกษตร จี้ ก.เกษตรฯ เร่งหาสารชีวพันธุ์ทดแทน พร้อมแนะรัฐบาลสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตรให้เกษตรกรเพื่อลดต้นทุนการผลิต

วันนี้ (29 ต.ค.) พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวกรณีคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติแบน 3 สารเคมีทางการเกษตร ว่า เป็นเรื่องที่ดีที่คณะกรรมการชุดดังกล่าวมีมติยกเลิกการใช้สารดังกล่าวในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ ซึ่งเร็วกว่าที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อเสนอแนะ ส่วนการที่ยังมีเกษตรกรจำนวนหนึ่งยื่นเรื่องให้ศาลปกครองวินิจฉัย ถือเป็นสิทธิที่สามารถยื่นฟ้องได้ซึ่งในส่วนของผู้ตรวจฯ ได้ยึดในเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ โดยสามารถไปดูผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงได้กับเกษตรกรที่ จ.หนองบัวลำภู และ จ.น่าน ที่มีเกษตรกรได้รับผลกระทบจากสารเคมีดังกล่าว

“เรื่องนี้ถือเป็นการทำตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจฯ ที่ยึดผลกระทบด้านสุขภาพเป็นหลัก อยากให้เกษตรกรหรือผู้ที่ยังคัดค้านคิดว่าถ้ามีคนหนึ่งคนใดในครอบครัวของเกษตรกรล้มป่วยลง เป็นมะเร็ง เกษตรกรครอบครัวนั้นก็จะประสบในเรื่องของค่าใช้จ่าย แรงงานในครอบครัวก็ต้องกลับมาดูแล และครอบครัวนั้นก็จะประสบในเรื่องของความทุกข์ยาก ดังนั้นจึงอยากให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงเรื่องสิทธิ และความทุกข์ยาก” พล.อ.วิทวัสกล่าว

พล.อ.วิทวัสยังเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการณ์รองรับหลังยกเลิก 3 สาร ด้วยการหาสารชีวพันธุ์ทดแทนหรือวิธีการอื่น ไม่ใช่พึ่งอยู่แต่ 3 สารเพียงอย่างเดียวในการกำจัดหญ้าและวัชพืช ส่วนกรมวิชาการเกษตรต้องไปสร้างตัวอย่างไปให้คำแนะนำว่ามีเครื่องมือเครื่องจักรกลทางการเกษตรอะไรที่รัฐจะสามารถสนับสนุนได้ โดยเฉพาะเครื่องมือขนาดใหญ่ที่รัฐควรจัดสรรให้ และให้เกษตรกรยืมกันใช้ในชุมชนหรือตำบล ไม่ใช่ให้เกษตรกรเป็นเจ้าของเครื่องมือเกษตรใหญ่ๆ โดยในหลายประเทศก็ใช้วิธีการนี้เพื่อลดต้นทุนของเกษตรกร นอกจากนี้ หน่วยทหารในพื้นที่ เช่น หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ทหารบก ก็สามารถเข้าไปช่วยเหลือ ประกอบกับรัฐอาจออกมาตรการลดภาษีเครื่องมือเครื่องจักรทางการเกษตร

นอกจากนี้ พล.อ.วิทวัสเชื่อว่าสหรัฐอเมริกาไม่คิดจะตอบโต้ทางการค้า หลังไทยแบน 3 สารเคมี แต่เท่าที่ติดตามก็เห็นว่าทางการสหรัฐฯ กังวลเรื่องสารไกลโฟเซต ซึ่งสหรัฐฯ ใช้อยู่ เมื่อสหรัฐฯ ส่งสินค้าโดยเฉพาะองุ่นมาประเทศไทยหรือประเทศอื่นๆ หากมีสารดังกล่าวที่ตกค้างในองุ่นก็จะเกิดปัญหา ประเทศอื่นๆ ก็จะไม่นำเข้าได้ ซึ่งไทยและสหรัฐฯ เป็นมิตรที่ดีต่อกัน ก็เชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสามารถพูดคุยกันได้ ส่วนเรื่องจีเอสพีเชื่อว่าเป็นเรื่องของแรงงานมากกว่า อย่างไรก็ตาม ทางผู้ตรวจฯ ก็จะติดตามเรื่องของการใช้สารทดแทนและวิธีการอื่นๆ และการหาวัตถุทดแทนอื่นที่จะทำอย่างไรให้เกษตรกรลดต้นทุน รวมถึงทำอย่างไรให้เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้ ซึ่งเชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะต้องใช้เวลาพอสมควร แต่ที่ทำมาถือว่าทำได้ดี หากต่อไปยังเกิดปัญหาก็ขอให้พยายามแก้ไข อย่าได้หยุดยั้งเพียงแค่นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น