“บิ๊กตู่” เผยวงถก คสช.จ่อปลดล็อกการเมือง ป้อง สนช.โละผู้ตรวจเลือกตั้ง ไม่ใช่ล้มล้าง แจง เปิดทาง กกต.ใหม่-เก่าร่วมคัดสรร ไม่ห้าม “เทือก” นำคาราวานเดินสายจ้อการเมืองที่รโหฐาน ลั่น คสช.จับตาภาพรวม เมิน “มาร์ค” แขวะ คสช.หนึ่งในสามก๊ก
วันนี้ (7 ส.ค.) เมื่อเวลา 13.10 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ให้สัมภาษณ์ถึงผลการประชุม คสช.ช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ว่า เป็นการดำเนินการในหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นการเตรียมการปลดล็อกอะไรต่างๆ ซึ่งจะต้องมีการหารือกันก่อนเพื่อไปสู่แนวทางมาตรการที่เหมาะสมในการดำเนินการ
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เตรียมเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อล้มการสรรหาผู้ตรวจการเลือกตั้ง เป็นการแทรกแซงการทำงานองค์กรอิสระหรือไม่ว่า ไม่ใช่เป็นการแก้กฎหมายเพื่อล้มล้างอย่างที่สื่อถามมา เป็นเรื่องของการที่จะทำอย่างไรให้ กกต.ใหม่และ กกต.ชุดเก่าได้ร่วมมือคัดสรรผู้ตรวจการเลือกตั้งเหล่านี้ให้เกิดความเหมาะสม ตนยังไม่ได้มองว่าจะไปล้มอะไรตรงไหนเลย และไม่เคยไปแทรกแซงการทำงานขององค์กรอิสระทั้งสิ้น เป็นเรื่องการพิจารณาร่วมกัน วันนี้ต้องให้เกียรติกับ กกต.ใหม่ด้วย เพราะต้องเป็นคนทำงานต่อไป กกต.เก่าก็ต้องส่งมอบหน้าที่ ฉะนั้น ต้องให้สองคณะนี้มีการพูดคุยหารือกันว่าจะทำอย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคร่วมพลังประชาชาติไทย เตรียมจัดคาราวานเดินสายปราศรัยทั่วประเทศ มีการขออนุญาต คสช.หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องนี้ตนไม่อยากจะตอบ ในภาพรวมที่มันเกิดผลกระทบกระทั่งกับใคร บอกไปแล้วว่าในช่วงนี้ทุกคนต้องขออนุญาตขึ้นมาว่าจะทำอะไร ส่วนจะได้รับอนุมัติหรือไม่เป็นเรื่องของ คสช.จะพิจารณา โดยจะมองในประเด็นความสงบสุข สันติสุข ถ้าทุกคนไปไหนมาไหนก็ได้ หรือมีอภิสิทธิ์นั้นตามปกติไม่ได้ จะเห็นว่ารัฐบาลวันนี้ผ่อนผันไปเยอะแล้ว มันก็ไม่ใช่กลุ่มนั้นกลุ่มนี้อย่างเดียว ทุกกลุ่มก็เคลื่อนไหวกันหมด แต่เราไม่ต้องการสร้างผลกระทบกับการจราจรหรือสร้างความวุ่นวาย เพราะวันนี้ยังไม่ได้ผ่อนผันเรื่องการเลือกตั้งการหาเสียงเลย อันนั้นคงต้องรอกฎหมายเลือกตั้งลงมาก่อน คสช.จึงจะคลายล็อกต่างๆ ให้สามารถดำเนินการได้ทุกอย่าง ขอให้รอซักนิด
“ในส่วนของการทำงานทางการเมือง อย่างที่บอกไปแล้ว ใครจะพูดอะไรก็พูดไป แต่อย่าบิดเบือนก็แล้วกัน ทั้งนี้ ต้องดูกติกาของ คสช.ด้วย การเดินสายต่างๆ เหล่านี้ต้องดู ตอนนี้ คสช.ดูอยู่แล้วไม่ต้องห่วง ถ้ามีอะไรที่ไม่ดีขึ้นมา ไม่ใช่เอื้อประโยชน์กับใครหรอก” นายกฯ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังตอบคำถามเสร็จสิ้น พล.อ.ประยุทธ์ถามสื่อว่า มีอะไรจะถามอีกหรือไม่ พร้อมกับกล่าวว่า “ขอร้องเถอะวันนี้บ้านเมืองก็ยังดีอยู่ในหลายๆ อย่างด้วยกัน ฉะนั้น ผมอาจจะนี่โน่นไปบ้าง ก็ขออภัยด้วยแล้วกัน พอดีเมื่อวานและวันก่อนหงุดหงิดเรื่องทำอย่างไรเราจะแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้อะไรได้ ก็สั่งการไปเยอะแยะ บางทีบางอารมณ์ก็รับคำถามไม่ได้ในบางครั้ง แต่หลายคนบอกว่านายกฯต้องรับได้หมด”
เมื่อถามว่าจะหยุดตอบโต้เรื่องการเมืองไปนานแค่ไหน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ที่พูดนี้ไม่มีการเมืองหรือ ทำไมจะปวดท้องหรือ การเมืองจะถามอะไรลองยกตัวอย่างมา ผู้สื่อข่าวจึงถามว่ามีความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผิดปกติหรือไม่ในตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่มีมั้ง ถ้ามีคงพูดแล้วแหละ ไม่มีหรอก ก็อย่าไปบอกว่าเข้าข้างโน้นข้างนี้ ไม่มี ตอนนี้ดูในภาพรวมอยู่ การเดินสายของพรรคการเมืองต้องขออนุญาต การเดินสายต้องดูด้วยว่าเขาเดินไปอย่างไร เขาเดินถนนไปหรือเปล่า ถ้าเขาไปพูดจาในที่รโหฐาน ที่ต่างๆ ก็ว่าไป พอนักข่าวไปถามเขาก็ตอบมาก็เท่านั้นเอง ก็อย่าไปให้ความสำคัญตรงนี้
เมื่อถามว่า ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาระบุว่า คสช.เป็นหนึ่งในสามก๊ก การเมืองไทย นายกฯ กล่าวว่า “ให้สื่อไปถามนายอภิสิทธิ์ ไม่เกี่ยวอะไรกับ คสช. ผมเป็นหัวหน้า คสช. ผมยังไม่ได้เกี่ยวอะไรกับใครสักคน แต่จะมองอะไรก็มองได้ ขอให้มองด้วยความเป็นธรรมหน่อย มองอดีต ปัจจุบัน อนาคต การเมืองไทยจะไปอย่างไร และการเลือกตั้งจะได้รัฐบาลมาอย่างไร หรือได้ ส.ส.มาอย่างไร ประชาชนเข้าใจการเลือกตั้งดีพอหรือยัง ไม่ใช่รณรงค์การเลือกตั้ง อยากเลือกตั้งแล้วได้อะไรกลับมา วันหน้าใครรับผิดชอบ ก็โทษ คสช.อีกใช่ไหม”
ผู้สื่อข่าวถามว่า มองการเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์อย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “ไม่เอา ไม่เอา ขี้เกียจฟัง เพื่อไทย ประชาธิปัตย์” เมื่อถามว่า แล้วสนใจพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “ไม่สนใจทุกพรรค”
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า คสช.ได้หารือถึงการยกเลิกข้อบัญญัติบางประการในคำสั่งหัวหน้า คสช.ทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย เกี่ยวกับการปฏิบัติเรื่องประมงที่ในคำสั่ง คสช.และในกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนกัน รวมถึงปัญหาการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และเรื่องของการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่จะต้องมีการคลายล็อกในบางเรื่อง อาทิ การจัดทำไพรมารีโหวต การประชุมใหญ่พรรคการเมืองเก่า นอกจากนี้ ที่ประชุม คสช.ยังได้ประเมินสถานการณ์การเมืองก่อนเข้าสู่การเลือกตั้งด้วย