“มีชัย” ติง สนช.ไม่ควรไปยุ่งกับ กกต. ชี้ถ้าผู้ตรวจการเลือกตั้งคนไหนไม่ถูกต้องก็ให้ กกต.ใหม่เข้ามาแก้ไขในภายหลังได้ ตอนนี้การแต่งตั้งยังไม่สมบูรณ์ยังอยู่ช่วงการรับฟังความเห็น
วันนี้ (7 ส.ค.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายเพื่อแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 เพื่อแก้ไขการสรรหาผู้ตรวจการเลือกตั้งว่า ผู้ตรวจการเลือกตั้งเป็นมือไม้ของ กกต.ในการทำงานในรูปแบบที่ไม่ได้เป็นคณะกรรมการเพื่อให้การทำงานเกิดความรวดเร็ว ส่วนตัวยังไม่ทราบถึงแนวทางที่สมาชิก สนช.ได้เสนอร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขกฎหมายดังกล่าว
“แล้วทำไมถึงจะไปยุ่งกับคนอื่นเขา เพราะนี่มันมือไม้ของ กกต.” นายมีชัยกล่าว
เมื่อถามว่า การใช้อำนาจของ สนช.ลักษณะนี้เป็นแทรกแซงการทำหน้าที่ของ กกต.หรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า ไปพูดอย่างนั้นก็คงไม่ได้ เพราะคงเป็นความคิดของ สนช.ที่จะมีการเสนอ
เมื่อถามว่า เริ่มมีหลายฝ่ายวิจารณ์การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้มีเหตุผลทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้งอาจไม่ถูกสเปก นายมีชัยกล่าวว่า “เป็นเรื่องนานาจิตตัง เวลาที่ สนช.ตั้งคณะกรรมการหรือคณะกรรมาธิการ ก็ไม่ได้แปลว่าคนข้างนอกจะพอใจ อะไรที่เป็นอำนาจของคนอื่นก็ต้องฟังคนอื่น”
เมื่อถามว่า โดยหลักแล้วการเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง ควรให้เป็นหน้าที่ของ กกต.ชุดปัจจุบันหรือชุดใหม่ นายมีชัยกล่าวว่า ต้องควบคู่กันไป ใครที่ถูกตั้งมาแล้วก็เป็นอำนาจของ กกต. เพราะกลัวว่าจะไม่ทันต่อการเลือกตั้ง จึงจำเป็นต้องสรรหาผู้ตรวจการเลือกตั้ง แต่ กกต.ชุดใหม่ก็มีสิทธิจะดำเนินการเช่นกัน เพราะท่าที่ดูประกาศของ กกต.ทำให้ไม่แน่ใจว่า กกต.ได้ทำการเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งแล้วหรือไม่ เพราะในตอนท้ายของประกาศมีการระบุว่าประกาศมาเพื่อทราบเพื่อเสนอความคิดเห็นและจะได้แต่งตั้งต่อไป ซึ่งดูเหมือนว่าจะยังไม่ได้ตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง ดังนั้น หากยังไม่ได้ตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง เท่ากับว่า กกต.ชุดใหม่สามารถเข้ามาพิจารณาได้และคิดว่าน่าจะแก้ไข หากพบว่ามีบุคคลที่ไม่เหมาะสม
“ผู้ตรวจการเลือกตั้ง คือ มือไม้ของ กกต. ไม่ใช่คนที่มาทำหน้าที่แทน กกต. เพราะอำนาจทั้งหมดอยู่ที่ กกต. ดังนั้น ต้องเลือกคนที่เขาไว้ใจได้มาเป็นหูเป็นตาแทนเขา นั่นคือเป้าหมายที่เราต้องมีไว้” นายมีชัยกล่าว
นายมีชัยกล่าวว่า เมื่อมีการดำเนินการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ กกต.แล้ว โดยปกติก็ต้องควรสอบถามความคิดเห็น กกต. เพราะขนาดตอนที่กรธ.ยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญยังต้องฟัง กกต.เป็นหลัก เพราะ กกต.มีประสบการณ์และพื้นฐานดีกว่า เว้นแต่ในทางทฤษฎีทีมีความคิดเห็นไม่ตรงกันก็มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ แต่หาก สนช.จะทำการเสนอร่างกฎหมายแต่เพียงฝ่ายเดียวก็ย่อมทำได้ เพราะเป็นอำนาจทางนิติบัญญัติ