เลขาฯ กกต.ยันทำตามกฎหมาย สรรหาผู้ตรวจการเลือกตั้งตามระเบียบ ชี้ยกเลิกคงไม่ได้ เหตุไม่ทันเลือกตั้ง ย้อนกฎหมาย กกต.ปัจจุบันก็ออกโดย สนช.จะแก้ไขอีกต้องคิดให้รอบคอบ
วันนี้ (7 ส.ค.) พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอแก้ไข พ.ร.บ.รัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เกี่ยวกับที่มาของผู้ตรวจการเลือกตั้งว่า เมื่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.ออกมาแล้วเราก็ต้องดำเนินการตามระเบียบ แต่ถ้าหากกฎหมายเปลี่ยนไปเราก็ค่อยมาพิจารณาอีกที เพราะ กกต.เป็นผู้ปฏิบัติไม่ใช่ผู้ออกกฎหมาย ซึ่งได้ดำเนินการคัดสรรผู้ตรวจการเลือกตั้งออกมาแล้ว และได้ปิดประกาศไว้ที่จังหวัดต่างๆ เพื่อให้ประชาชนช่วยตรวจสอบในเรื่องคุณสมบัติ หากประชาชนมีข้อมูลก็ขอให้ยื่นคำร้องเข้ามา เราก็จะพิจารณาประกอบ คาดว่าต้นเดือน ก.ย.จะประกาศผลได้
พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นก็จะต้องมีการอบรมผู้ตรวจการเลือกตั้ง แต่จะให้อบรม 600 กว่าคนทีเดียวทั้งประเทศใช้เวลา 3-5 วัน แบบนั้นคงจะไม่มีคุณภาพพอที่จะไปตรวจสอบได้ จึงต้องแบ่งการอบรม และเมื่ออบรมแล้วก็มีการประเมิน ถ้าประเมินไม่ผ่านก็จะคัดออก เพราะเมื่อจะไปตรวจสอบเขา ผู้ตรวจการเลือกตั้งก็ต้องมีความรู้มากกว่าคนที่จะได้รับการตรวจด้วย โดยการอบรมจะเกี่ยวกับเรื่องของการเลือก ส.ว.ว่าต้องเป็นอย่างไร ผู้ตรวจการเลือกตั้งต้องไปทำอะไรบ้าง ถ้ามีผู้กระทำความผิดในการเลือกตั้งจะต้องดำเนินการอย่างไร
ทั้งนี้ การเลือกตั้ง ส.ว.ที่จะเกิดขึ้น คงจะต้องใช้ผู้ตรวจการเลือกตั้งชุดนี้ดำเนินการเลย เนื่องจากเมื่อดู พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ที่ สนช.นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา หากนับไป 90 วัน คือประมาณวันที่ 15 ก.ย. พ.ร.บ.ส.ว.จะมีผลบังคับใช้ ดังนั้นกระบวนการต่างๆ ต้องเริ่มแล้วเพื่อเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง ส.ว.
เมื่อถามว่า เหมาะสมหรือไม่ที่จะมาแก้ไขกฎหมายในตอนนี้ พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวว่า พ.ร.บ.กกต.ก็ออกโดย สนช.ขณะที่ตัวแก้ไขก็ขอแก้โดย สนช. ดังนั้น สนช.คงจะดูอย่างรอบครอบแล้วว่าควรจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง แต่การจะให้ยกเลิกผู้ตรวจการเลือกตั้งไปก่อนนั้น เท่าที่ดูจากระเบียบแล้วคงจะไม่ได้ และผู้ตรวจการเลือกตั้งถือเป็นเครื่องมือของ กกต. ถ้าไม่มีแล้วเกิดการทุจริตหรือฮั้วกันในการเลือกตั้ง ส.ว.ก็อาจจะกลายเป็นจุดบกพร่องของการทำงานได้
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ยังกล่าวถึงการมาชี้แจงต่อคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 ในส่วนงบ กกต.ว่า ทาง กกต.ได้ของบเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง โดยในส่วนของการเลือกตั้ง ส.ส.ได้ขอจำนวน 5.5 พันล้านบาท แต่ได้เพียง 4 พันล้านบาท ขณะที่การเลือกตั้ง ส.ว. ทางเราขอไป 2 พันล้านบาท แต่ได้เพียง 1.3 พันล้านบาท ทั้งนี้เหตุที่ต้องใช้งบประมาณมากเพราะมีค่าใช้จ่ายในเรื่องการจัดการเลือกตั้งรวมทั้งค่าใช้จ่ายของผู้ตรวจการเลือกตั้งด้วย