xs
xsm
sm
md
lg

กกต.แจงชุดใหม่เปลี่ยนผู้ตรวจการเลือกตั้งได้ จ่อถกกรอบหาเสียงโซเชียลฯ-ค่าใช้จ่าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“จรุงวิทย์” ปฏิเสธ กกต.ทิ้งทวนเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง ยันจำเป็นต้องเลือก ระบุ กกต.ใหม่ไม่พอใจเปลี่ยนได้ เตรียมประชุมหน่วยงานวางกรอบหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย-ค่าใช้จ่ายเลือกตั้ง

วันนี้ (2 ส.ค.) พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า ทางสำนักงาน กกต.ได้เตรียมความพร้อมในการรับ กกต.ใหม่เมื่อเข้าปฎิบัติหน้าที่โดยจะมีการเร่งพิจารณาร่างระเบียบ ประกาศต่างที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว. โดยขณะนี้มีการปรับรูปแบบของคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ในการยกร่างระเบียบต่างๆ ใหม่เพื่อให้การยกร่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และในช่วงรอยต่อทาง กกต.เก่าก็ได้มีการเตรียมงานต่างๆ ไว้เพื่อที่เมื่อ กกต.ใหม่เข้ามาจะทำงานได้เลย เช่น การคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง ขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จจะมีการส่งไปประกาศตามจังหวัดต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้มีการตรวจสอบ คัดค้าน หากพบว่ามีผู้ที่คุณสมบัติไม่เหมาะสม ได้รับการคัดเลือกก็จะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ได้คนที่ดีเข้ามาทำหน้าที่ รวมทั้งจะต้องมีการจัดฝึกอบรมในตรวจสอบการเลือกตั้ง การรายงานเหตุต่างๆ เรื่องเหล่านี้ต้องอาศัยเวลา จึงทำให้ กกต.ชุดปัจจุบันเห็นว่าจำเป็นต้องคัดเลือกไปก่อน หากรอ กกต.ชุดใหม่เข้ามาดำเนินการและเป็นช่วงใกล้เลือกตั้งอาจเกิดปัญหา และทำให้เกิดคำถามว่าทำไม กกต.ชุดเก่าไม่เตรียมการไว้ ยืนยันว่าการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งไม่ได้เป็นการวางคนของ กกต.ชุดนี้ไว้

“เพราะเป็นการสรรหาและคัดเลือกทั่วประเทศ จึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะมีคนของใครคนหนึ่งอยู่ทั่วประเทศ และผู้ตรวจฯ ถึงเวลาเลือกตั้งก็เหมือนเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย หากทำผิดก็ต้องโดนดำเนินคดีได้เหมือนกัน และหนักกว่าคนปกติทั่วไป” เลขาธิการ กกต.กล่าว และว่าถ้า กกต.ชุดใหม่เห็นว่าไม่เหมาะสมก็สามารถปรับเปลี่ยน เพราะกฎหมายก็มีช่องในเรื่องการพ้นจากตำแหน่งอยู่

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ยังกล่าวถึงการที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ห่วงเรื่องการหาเสียงเลือกตั้งผ่านทางโซเชียล มีเดียว่า ทาง กกต.ได้มีการตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วย รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เลขาฯ กสทช. และผู้เกี่ยวข้องอีกหลายส่วน โดยจะมีการประชุมนัดแรกวันที่ 22 ส.ค.นี้ เพื่อจะพิจารณาถึงขอบเขตการหาเสียงผ่านทางโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะการจัดการกับการใส่ร้ายทางโซเชียล มีเดียว่าหากเกิดขึ้นจะมีการลบหรือดำเนินคดีกันอย่างไร และการห้ามหาเสียงหลัง 18.00 น.ก่อนวันเลือกตั้ง ซึ่งพยายามจะดูรายละเอียดต่างๆ ให้ครอบคลุม

เลขาธิการ กกต.ยังเปิดเผยว่า มีการตั้งคณะกรรมการที่ประกอบไปด้วยตัวแทนของพรรคการเมือง ซึ่งจะมีการนัดหารือเพื่อกำหนดค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ว่าควรจะเป็นเท่าใด แต่ทางสำนักงานเห็นว่าไม่น่าเกินกว่าของเดิม คือ 1.5 ล้านบาทต่อคน เนื่องจากตามกฎหมายใหม่ กกต.จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการหาเสียงในบางเรื่อง เช่น การจัดทำป้ายหาเสียง การจัดสรรเวลาในการออกอากาศ แต่ค่าใช้จ่ายที่จะกำหนดจะต้องมีความเท่าเทียมกันระหว่างพรรคการเมืองใหญ่กับพรรคการเมืองขนาดเล็ก



กำลังโหลดความคิดเห็น