รมว.เกษตรฯ เผย ระดับน้ำเช้านี้ยังไม่ล้นตลิ่งเขื่อนแก่งกระจาน การบริหารจัดการน้ำยังทำได้ดี มั่นใจไม่ท่วมเมืองเพชรบุรีเหมือนปีก่อนแน่นอน ยันเขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์ ยังรับน้ำได้อีก ย้ำทุกเขื่อนยังมั่นคงแข็งแรงดี
วันนี้ (7 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ว่า การบริหารจัดการน้ำของเขื่อนดังกล่าว เราใช้ 3 ช่องทาง คือ ประตูปิดเปิดธรรมดา ช่องทางน้ำล้น (สปิลเวย์) และ ใช้เครื่องสูบน้ำออก ซึ่งมวลน้ำขนาดใหญ่ที่กำลังเคลื่อนตัวลงมาที่แม่น้ำเพชรบุรี โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) แยกมวลน้ำดังกล่าวให้ออกไปทางซ้ายและขวาของแม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งส่วนหนึ่งใช้เครื่องสูบน้ำ เป็นทางลัดไปสู่อ่าวไทย อีกส่วนกำลังสำรวจดูพื้นที่ว่างที่ยังไม่มีการทำเกษตรเพื่อนำน้ำลงพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นโมเดลเดียวกับที่ทำในพื้ นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
อย่างไรก็ตาม การใช้เครื่องสูบน้ำ และการผันน้ำออกทางซ้ายและขวา ทำให้น้ำที่จะลงไปสู่ตัวเมืองเพชรบุรี ลงไปช้าและมีปริมาณน้อยลง จึงมีเวลาให้ประชาชนในพื้นที่ ได้เตรียมความพร้อม
นายกฤษฎา กล่าวต่อว่า ในส่วนราชการทั้งระดับพื้นที่และส่วนกลางนั้น จะพยายามเร่งระบายน้ำตามวิธีดังกล่าว ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนในเมืองเพชรบุรีน้อยที่สุด ทั้งนี้ ตนได้รับรายงานล่าสุด เมื่อเวลา 7.00 น.ของวันเดียวกันนี้ ว่า ระดับน้ำยังอยู่ในระดับล่าง ไม่ขึ้นมาริมตลิ่ง ซึ่งแผนการบริหารจัดการน้ำ ก็ยังเป็นไปตามที่ตนกล่าวไว้ แต่ปัจจัยที่เรายังไม่กล่าวถึง คือ ฝนที่จะตกลงมาใหม่ซึ่งตลอด 24 ชม. ที่ผ่านมา ยังไม่มีฝนตกลงมาในปริมาณที่มาก ส่วนแผนรองรับในกรณีที่มีฝนตกหนักนั้น คาดการณ์ว่า ถ้ามีปริมาณน้ำไหลอยู่ที่ประมาณ 70-80 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ถ้าในปริมาณ 200-300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำในตัวเมือง จ.เพชรบุรี น้ำท่วม
“ยืนยันว่า น้ำจะไม่ท่วมกระจายเหมือนเมื่อก่อน เพราะเรามีพนังกั้น และเครื่องสูบน้ำคอยรองรับไว้ จากกรมชลประทานจำนวน 35 เครื่อง ซึ่งได้เริ่มสูบน้ำออกไปแล้ว”
เมื่อถามว่า นายกฯมีกำหนดการเดินทางไปตรวจราชการที่ จ.เพชรบุรี นายกฤษฎา ยืนยันว่า นายกฯ มีกำหนดการไปตรวจเยี่ยมประชาชน แม้ว่าน้ำจะยังไม่ท่วม แต่นายกฯจะไปดูการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งขณะนี้ทราบว่าผู้ว่าฯเพชรบุรี และหัวหน้าส่วนราชการได้เตรียมการได้อย่างดีแล้ว
ส่วนกรณีมีกระแสข่าวว่า เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี เสี่ยงเขื่อนแตกนั้น ซึ่งเขื่อนดังกล่าวใช้หลักการระบายน้ำแบบเดียวกัน ส่วนพื้นที่อื่นตามลุ่มแม่น้ำโขง ที่ตอนนี้ประสบปัญหาเช่นกันยังบริหารจัดการได้ แต่ด้วยปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงมีปริมาณที่มาก ทำให้การระบายทำได้ช้า ทั้งนี้ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ยังคงรับน้ำได้อยู่ น้ำจะไม่ท่วมแบบปี 2554 แน่นอน