ชาวเน็ตด่ายับ “กฤษฎา บุญราช” รมว.เกษตรฯ ให้ข่าวไม่น่าเชื่อถือ หลังบอกว่าน้ำไม่ล้นเขื่อนแก่งกระจาน แต่ของจริงล้นแล้วเมื่อ 10 โมงเช้าที่ผ่านมา ยัง...ยังไม่เข็ด บอกว่ายังมีเขื่อนเพชรบุรีที่กั้นลำน้ำไว้ ทั้งที่เป็นเขื่อนทดน้ำ ยันคำเดิม ประชาชนอย่าตื่นตระหนก
วันนี้ (6 ส.ค.) จากกรณีที่น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ล้นความจุอ่าง 710 ล้านลูกบาศก์เมตร ไหลลงทางระบายน้ำล้นฉุกเฉิน หรือสปิลเวย์ ไปเมื่อเวลา 10.00 น.ที่ผ่านมา ในระดับ 1 เซนติเมตร โดยน้ำจากเขื่อนแก่งกระจานจะไหลลงแม่น้ำเพชรบุรี ในอัตรา 200-250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะใช้เวลาเดินทางถึงเขื่อนเพชร 10 ชั่วโมง เข้าตัวเมืองเพชรบุรี อีก 12 ชั่วโมง คาดว่าช่วงเย็นวันที่ 7 ส.ค.จะเริ่มส่งผลกระทบถึงเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี นั้น
ก่อนหน้านี้เมื่อค่ำวันที่ 5 ส.ค. นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ จ.เพชรบุรี เพื่อช่วยสนับสนุนเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นดูแลบริหารจัดการน้ำ ติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง พร้อมยืนยันว่าน้ำไม่ล้นสันเขื่อนแน่นอน อ้างว่าเขื่อนแก่งกระจานมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเฉลี่ย 21 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือ 245 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สามารถระบายน้ำได้มากกว่า 5 เท่าของปริมาณที่ไหลเข้าเขื่อน โดยใช้สปิลเวย์ 1,380 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ยืนยันตัวเขื่อนมีความมั่นคงแข็งแรง มีเครื่องมือและระบบตรวจสอบ บำรุงรักษาตามข้อกำหนดอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ได้พาดหัวว่า “รมว.เกษตรฯ ยืนยันน้ำไม่ล้นเขื่อนแก่งกระจาน วอนประชาชนอย่าตื่นตระหนกข่าวลือ” ผ่านไปข้ามคืน เมื่อเกิดน้ำล้นความจุอ่างเมื่อเวลา 10.00 น. ทำให้ในโลกโซเชียลมีเดียต่างตำหนิ รมว.เกษตรฯ และสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ ว่าน้ำได้ล้นความจุอ่างไปแล้ว ให้ข่าวไม่น่าเชื่อถือ
ล่าสุด นายกฤษฎาให้ข่าวอีกครั้งว่า น้ำในเขื่อนแก่งกระจานขณะนี้ได้สูงถึงอาคารระบายน้ำล้นแล้ว ในแม่น้ำเพชรบุรียังมีเขื่อนเพชรบุรีที่กั้นลำน้ำไว้ ซึ่งใช้เป็นเครื่องมือหน่วงนี้ชะลอการไหลให้ช้าลงและระบายไปในปริมาตรที่เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อนน้อยที่สุด ขอให้ประชาชนอย่าตระหนกและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตามฟังคำเตือนต่างๆ อีกทั้งในพื้นที่ยังติดธงเป็นสัญลักษณ์เตือนถึงระดับของสถานการณ์ซึ่งขณะนี้เป็นธงสีเหลือง คือ อยู่ในสถานการณ์เฝ้าระวัง
ทั้งนี้ จากการทำงานอย่างเต็มที่ของกรมชลประทานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการบริหารจัดการน้ำเขื่อนแก่งกระจานได้ผลเป็นที่น่าพอใจ สามารถยืดระยะเวลาได้เกือบ 12 ชั่วโมง ก่อนที่น้ำในอ่างจะเพิ่มระดับจนถึงอาคารระบายน้ำล้นฉุกเฉิน (Spillway) ช่องทางการพร่องน้ำทำโดยการระบายผ่านประตูระบายน้ำของเขื่อนการระบาย โดยกาลักน้ำและเครื่องสูบน้ำระบบไฮดรอลิกกำลังสูงที่ปากแม่น้ำเพชรบุรีที่จะออกสู่ทะเล กรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ รวมทั้งได้รับเรือผลักดันน้ำของกองทัพเรือมาสนับสนุนเพิ่ม เพื่อผลักดันน้ำแม่น้ำเพชรบุรีที่มีปริมาณสูงขึ้น ออกอ่าวไทยไปให้มากที่สุด แม่น้ำเพชรบุรีจะได้มีพื้นที่รองรับน้ำจากเขื่อนแก่งกระจานเพิ่ม นอกจากนี้ยังตัดยอดน้ำเข้าคลองในระบบชลประทานอีก 2 สาย ช่วยระบายสู่ทะเล รวมทั้งผันน้ำเข้าคลองส่งน้ำไปให้พื้นที่เกษตรที่ยังต้องการใช้น้ำ
นายกฤษฎากล่าวว่า การที่ชะลอน้ำไว้ได้เป็นผลให้ยืดระยะเวลาที่น้ำในแม่น้ำเพชรบุรี จะล้นตลิ่งท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำและระยะเวลาที่น้ำจะไหลเข้าไปท่วมตัวเมืองเพชรบุรี ประชาชนสามารถขนย้ายข้าวของขึ้นสู่ที่สูงได้ทัน เกษตรกรย้ายปศุสัตว์และสัตว์น้ำจากพื้นที่ก่อนน้ำท่วม ถึงแม้ว่าระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจนถึงอาคารระบายน้ำล้นก็ไม่ต้องเป็นกังวล เพราะระบบได้ออกแบบให้เป็นช่องทางระบายน้ำในกรณีฉุกเฉินอีกทางหนึ่ง แต่ยังควบคุมอัตราการไหลและทิศทางการไหลของน้ำได้ ทั้งนี้ อธิบดีกรมชลประทานยืนยันว่า น้ำจะไม่ล้นถึงสันเขื่อนจนเป็นอุบัติภัยแน่นอน
อนึ่ง ผู้สื่อข่าว MGR Online รายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับเขื่อนเพชร เป็นเขื่อนทดน้ำและระบายน้ำ ไม่ใช่เขื่อนกักเก็บน้ำ สร้างปิดกั้นแม่น้ำแม่เพชรบุรี ที่ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี มีช่องระบายน้ำ กว้าง 6 เมตร 4 ช่อง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2485 เสร็จ พ.ศ. 2493 ปลายเขื่อนทั้งสองข้างมีลักษณะเป็นฝาย เพื่อช่วยระบายน้ำในเวลาน้ำนอง ทดน้ำส่งให้พื้นที่ในเขตโครงการชลประทานเพชรบุรี รวมพื้นที่ 336,000 ไร่