xs
xsm
sm
md
lg

“แม่น้ำเพชรบุรี” จ่อท่วม 3 ปีซ้อน ปัญหาซ้ำซากเกิดจากอะไร?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


... รายงาน

ผลกระทบจากฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายจังหวัดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก เช่นเดียวกับ จ.เพชรบุรี น้ำไหลเข้าเขื่อนแก่งกระจานสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แทบจะล้นทางระบายน้ำล้น หรือสปิลเวย์

ข้อมูล ณ วันที่ 4 ส.ค. อ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจานมีปริมาณน้ำ 690 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 97% จากความจุอ่างเก็บน้ำทั้งหมด 710 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลือพื้นที่เพียง 40 เซนติเมตรก็จะล้นสปิลเวย์

โดยน้ำจะไหลผ่านทางระบายน้ำล้นประมาณ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แบ่งเป็น 2 เส้นทาง ได้แก่ ลงแม่น้ำเพชรบุรี ที่รับได้ประมาณ 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และเขื่อนเพชรบุรีรับได้ 50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีจะมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 1-2 เมตร คาดว่าจะได้รับผลกระทบ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.แก่งกระจาน อ.บ้านลาด อ.ท่ายาง อ.เมืองเพชรบุรี และ อ.บ้านแหลม

“ปีนี้ (2561) คาดว่าน้ำที่ไหลท่วมจะระบายออกได้เร็วขึ้นอย่างน้อยใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ขณะที่พื้นที่ลุ่มต่ำก็น่าจะประมาณ 1-2 เดือน” นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ระบุ

ปัญหาน้ำท่วมในแม่น้ำเพชรบุรีไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2559 และ 2560 จังหวัดเพชรบุรีเกิดน้ำท่วมใหญ่ 2 ครั้งซ้อน แบบชนิดที่ว่าคนอายุกว่า 60 ปีบอกว่าไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้

โดยเฉพาะเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี น้ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดสูง 30-50 เซนติเมตร รถเล็กไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ทั้งเมืองกลายเป็นอัมพาต ร้านค้าต้องปิดทำการ ขายของไม่ได้นาน 3-4 วัน กว่าน้ำจะลดลง

ครั้งล่าสุด จากฝนตกหนักเมื่อวันที่ 20-21 พ.ย. 2560 พบว่ามีชาวบ้านได้รับผลกระทบ ถูกน้ำท่วม 8 อำเภอ 1 เทศบาล 17 ตำบล 285 หมู่บ้าน 8,069 ครัวเรือน และพื้นที่การเกษตร 62,800 ไร่

น้ำท่วมซ้ำซาก 2 ปีซ้อนแบบนี้ คนเมืองเพชรทราบดี และกังวลว่าอาจจะท่วมทุกปี ปีละหลายครั้ง

ที่ผ่านมาคนเมืองเพชรไม่ได้อยู่นิ่งเฉย มีการเปิดเวทีประชาชนหารือกันมาแล้ว สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเกิดจาก "แม่น้ำเพชรถูกบุกรุก" หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปล่อยปละละเลย

จากเขื่อนเพชรถึงแม่น้ำเพชรบุรีรองรับน้ำได้ไม่ถึง 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทั้งที่สมัยก่อนรองรับน้ำได้ 180-200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทั้งตลิ่งตลอดแนวเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรียังต่ำกว่าระดับน้ำในแม่น้ำอีก

เมื่อมองย้อนมายังลักษณะทางกายภาพ พบว่าแม่น้ำเพชรบุรีก่อนไหลลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจานจะมีแม่น้ำบางกลอย ห้วยบางยายมู และห้วยแม่ประโคน ไหลมาบรรจบกัน

เมื่อผ่านเขื่อนแก่งกระจานไปแล้วฝั่งทิศใต้จะต้องบรรจบกับห้วยยางชุม ห้วยสงสัย ฝั่งทิศเหนือจะต้องบรรจบกับแม่น้ำแม่ประจันต์ ที่ไหลมาจากกิ่ง อ.บ้านคา และ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ก่อนถึงเขื่อนเพชร

แม้ด้านแม่น้ำเพชรบุรีจะมีเขื่อนแก่งกระจานแล้ว แต่แม่น้ำแม่ประจันต์เขื่อนถูกขยับขึ้นไปสร้างสูงกว่าตำแหน่งเดิมที่วางไว้ อ้างว่าติดสัมปทานเหมืองแร่แห่งหนึ่ง และกักเก็บน้ำได้เพียง 42 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น

ขณะที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรีได้รับงบประมาณจากจังหวัดเพชรบุรี 327.86 ล้านบาท แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะเอาไปขุดลอกคลองและประตูระบายน้ำบางส่วน เกิดน้ำท่วมซ้ำสองในปี 2560

ที่ผ่านมาได้เสนอให้มีการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ได้แก่ ให้ขุดลอกแม่น้ำเพชรบุรีตั้งแต่เขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี ถึง อ.บ้านแหลม เพื่อให้น้ำไหลสะดวกขึ้น และเพิ่มคลองรับน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีลงสู่ทะเล

นอกจากนี้ ยังมีการเสนอขุดลอกคลองเพื่อบายพาสน้ำจากคลองชลประทานสาย 3 อ.ท่ายาง ออกไปทาง ต.ปึกเตียน อ.ท่ายาง หากแล้วเสร็จคาดว่าจะสามารถระบายน้ำลงทะเลได้ประมาณ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ที่ประชุม ครม.สัญจร เมื่อวันที่ 6 มี.ค. ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 574 ล้านบาท ขุดลอกคลองบายพาสไปปึกเตียน แต่ต้องรอต้นปี 2562 กว่าจะใช้เงินงบประมาณดังกล่าว และต้องผ่านกระบวนการประกวดราคา

ยังไม่ทันจะได้เห็นขุดลอกคลอง ก็จะเจอน้ำจะท่วมสามปีซ้อนขึ้นมาอีกจนได้



กำลังโหลดความคิดเห็น