รองนายกฯ รุดตรวจสถานการณ์น้ำเพชรบุรี คาดน้ำผ่านสปิลเวย์เขื่อนแก่งกระจานเพิ่มถึง 12 ส.ค. สั่งตัดน้ำเข้าระบบชลประทาน เบี่ยงทางน้ำผ่านเมืองเพชร พร้อมเสริมคันกั้นน้ำ-ระดมติดตั้งเครื่องสูบจุดเสี่ยง มั่นใจรัฐบูรณาการระบายน้ำลดผลกระทบน้ำท่วมได้
เมื่อวันที่ 6 ส.ค. เวลา 13.00 น. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีรมชลประทาน รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ลงพื้นที่ จ.เพชรบุรี เพื่อตรวจติดตามสถานการณ์การระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน พร้อมกำกับการดำเนินการของหน่วยที่เกี่ยวข้อง โดย พล.อ.ฉัตรชัยเดินทางไปยังห้องประชุมอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน เพื่อฟังบรรยายสรุปสถานการณ์การเตรียมความพร้อมของจังหวัด ภาพรวมสถานการณ์น้ำปัจจุบัน ก่อนเดินทางต่อไปยังเขื่อนแก่งกระจาน เพื่อติดตามการตรวจระดับน้ำเขื่อนเก็บน้ำแก่งกระจาน พร้อมขึ้นเฮลิคอปเตอร์ตรวจสภาพพื้นที่แม่น้ำเพชรบุรี และตรวจคันกั้นน้ำเพชรบุรี บริเวณ มทบ.15 ตรวจการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ และพบปะให้กำลังใจเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ที่ปฏิบัติงาน เพื่อเตรียมความพร้อมช่วยเหลือประชาชนกรณีประสบภัย
พล.อ.ฉัตรชัยเปิดเผยว่า จากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “เซินติญ” และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ในห้วงที่ผ่านมาทำให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่เทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำของอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน กรมชลประทาน ได้คาดการณ์น้ำที่ไหลผ่าน Spillway สูงสุดที่ 100 ลบ.ม./วินาที หรือ 8.64 ล้าน ลบ.ม./วัน ในวันที่ 10 ส.ค. 61 โดยมีระดับน้ำสูงขึ้นจากสัน Spillway ประมาณ 0.5-0.6 ม. ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค. 61 เป็นต้นไป คาดว่าจะมีน้ำจากการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน ประมาณ 210 ลบ.ม./วินาที และหากมีฝนตกในพื้นที่แม่น้ำเพชรบุรี จะมีปริมาณน้ำ 230-250 ลบ.ม./วินาที คาดว่าจะทำให้แม่น้ำเพชรบุรีมีปริมาณน้ำผ่านสูงสุดในวันที่ 12 ส.ค. 61
พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 230-250 ลบ.ม./วินาที ประกอบด้วย 1. หน่วงน้ำ ตัดน้ำเข้าระบบชลประทานฝั่งซ้าย ฝั่งขวา รวม 55 ลบ.ม./วินาที และ ผันเข้าคลองระบาย D9 ในอัตรา 35 ลบ.ม./วินาที ทั้งสองส่วนตัดน้ำก่อนถึงเขื่อนเพชรได้ 90 ลบ.ม./วินาที 2. ระบายน้ำผ่านเขื่อนเพชรในอัตรา 140-160 ลบ.ม./วินาที ซึ่งแม่น้ำเพชรบุรีมีการพร่องน้ำเตรียมไว้แล้ว ประกอบกับการเสริมคันกั้นน้ำ จะไหลผ่านหนองหญ้าปล้อง ท่ายาง บ้านลาด โดยไม่มีผลกระทบ และจะไหลผ่านเมืองเพชรบุรี ซึ่งมีความกว้างของแม่น้ำเพชรบุรีไม่มาก ทำให้มีระดับน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่ง/พื้นที่ชุมชน 0.2-0.3 ม. สำหรับมาตรการเตรียมการช่วยเหลือ คือ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดเสี่ยงที่อาจจะมีน้ำเอ่อเข้าท่วมชุมชน จำนวน 30 เครื่อง ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีเพื่อเร่งระบายน้ำในจุดที่ระบายน้ำได้ช้า จำนวน 44 เครื่อง เตรียมยานพาหนะ เครื่องจักรกล เช่น รถโกยตัก จำนวน 7 คัน ประจำในพื้นที่เพื่อขุดเปิดทางน้ำ
จากนั้น พล.อ.ฉัตรชัยให้สัมภาษณ์ภายหลังการลงพื้นที่ว่า ใน 3-4 วันนี้หากมีปริมาณน้ำเข้ามามากอีกจะมีการปรับแผนระบายน้ำเพิ่มเติม แต่หากไม่มีน้ำเพิ่มเติมการดูแลประชาชนก็จะอยู่ในระยะเวลาอันสั้น ขณะเดียวกันทาง ปภ.และทางจังหวัด ได้เตรียมความพร้อมช่วยเหลือประชาชนไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งตนได้สั่งให้ชี้แจงประชาชนให้มากขึ้น ถึงการระบายน้ำเพื่อให้ประชาชนเตรียมตัวป้องกัน พร้อมกันนี้ผู้ว่าฯ ร่วมกับทหารและจ้าหน้าที่ จ.เพชรบุรี ได้เตรียมกระสอบทราย ให้ประชาชนในจุดที่อาจจะได้รับผลกระทบ ส่วนด้านปลายน้ำที่จะออกอ่าวไทย ก็ได้มีการเตรียมเครื่องมือในการผลักดันน้ำออกให้เร็วที่สุด และจากที่ตนลงพื้นที่ดูวันนี้ ตั้งแต่อ่างเก็บน้ำแก่งกระจานจนถึงตัวเมือง ขณะนี้ยังไม่มีจุดใดที่น้ำล้นตลิ่ง อาจมีเพียงแพที่อยู่ในน้ำยกสูงขึ้นเท่านั้น และเชื่อว่าการทำงานบูรณาการครั้งนี้ จะลดผลกระทบจากน้ำท่วมและการระบายน้ำได้ดี