เพชรบุรี - “พล.อ.ฉัตรชัย” มั่นใจควบคุมการระบายน้ำได้ สั่งเร่งพร่องน้ำในคลองระบายน้ำ 4 สายหลัก พร้อมเรือ ทร.ผลักดันน้ำที่ปากอ่าวทะเลบ้านแหลม พยายามจะให้น้ำเข้าสู่แม่น้ำเพชรน้อยที่สุด เพื่อเลี่ยงน้ำล้นท่วมตลิ่งในพื้นที่เศรษฐกิจ
วันนี้ (6 ส.ค.) พล.อ.ฉัตรชัย สาลิกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พร้อมด้วย นายสมเกียรติ ประจักษ์วงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน และรองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เดินทางมาที่อ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งขณะนี้มีปริมาณน้ำเต็มเกือบ 100% แล้ว และมีน้ำล้นสปีลเวย์ เพื่อตรวจติดตามสถานการณ์การระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ดังกล่าว โดยมี นางฉัตรพร ราษฎร์ดุษดี ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี และคณะที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำให้การต้อนรับ
โดยคณะรองนายกฯ ได้เข้าห้องประชุมเพื่อรับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำ และการเตรียมความพร้อมของจังหวัด โดย นางฉัตรพร ได้รายงานถึงภาพรวมในสถานการณ์น้ำปัจจุบัน นายสมเกียรติ นายทองเปลว ได้รายงานการเตรียมความพร้อมในการบรรเทาสาธารณภัยให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้อาจได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น
จากนั้นคณะได้เดินทางไปยังสันเขื่อนอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน เพื่อติดตามการตรวจระดับน้ำของเขื่อนดังกล่าว ก่อนขึ้นเฮลิคอปเตอร์ตรวจสภาพพื้นที่โดยรอบของอ่างเก็บน้ำ และแนวทางไหลของน้ำจากอ่างเก็บน้ำแก่งกระจานไปยังแม่น้ำเพชรบุรี ผ่านพื้นที่ อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด และลงเฮลิคอปเตอร์ที่มณฑลทหารบกที่ 15 (มทบ.15) ค่ายรามราชนิเวศน์ อ.เมือง จ.เพชรบุรี และตรวจคันกั้นน้ำที่ริมแม่น้ำเพชรบุรี ด้านทิศตะวันออกของ มทบ.15 เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาคันดินกั้นน้ำได้พังทลายลงเป็นเหตุให้น้ำท่วมเข้าสู่ ถ.เพชรเกษม และพื้นที่เขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี ซึ่งปีนี้คันกั้นน้ำด้วยซีเมนต์ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จสามารถป้องกันน้ำข้ามตลิ่งได้
พล.อ.ฉัตรชัย เปิดเผยว่า อิทธิพลของพายุโซนร้อนเซินติญ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่เทือกเขาตะนาวศรี เป็นเหตุให้น้ำบริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน มีปริมาณน้ำไหลเข้าตัวอ่างมาก แต่ด้วยศักยภาพของอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน สามารถช่วยในการชะลอน้ำหลากไม่ให้ลงพื้นที่ด้านล่าง คือ แม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งไหลผ่าน อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมือง และ อ.บ้านแหลม ได้มาก ขณะที่สภาพของแม่น้ำเพชรบุรีปัจจุบันมีปริมาณน้ำอยู่ประมาณ 30-40% ของความจุลำน้ำ ซึ่งยังสามารถรองรับน้ำจากการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำแก่งกระจานได้อีกพอสมควร
ด้านตัวแทนของชลประทานได้ร่วมกันแถลงโดยสรุปได้ว่า จากเหตุอุทกภัยเมื่อปลายปี 2559 และปลายปี 2560 ได้มีการดำเนินการไปแล้ว 2 ส่วน คือ เสริมคันกั้นน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อป้องกันน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำเพชร และเร่งขุดลอกท้ายน้ำของแม่น้ำเพชรบุรี เพื่อให้ระบายน้ำได้สะดวกขึ้น
โดยในช่วงที่ผ่านมา ได้เร่งพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำแก่งกระจานเพื่อรองรับน้ำฝนซึ่งมีข้อจำกัดที่โครงสร้างของระบบระบายน้ำได้สูงสุดไม่เกิน 8.64 ล้าน ลบ.ม./วัน ขณะที่ปริมาณน้ำไหลเข้ามีมากกว่านั้น ซึ่งกรมชลประทานได้ติดตั้งกาลักน้ำที่เขื่อนแก่งกระจาน จำนวน 12 แถว และเครื่องสูบน้ำ Hydro Flow อีก 20 เครื่อง เร่งพร่องน้ำออกจากอ่างฯ รวม 110 ลบ.ม./วินาที หรือ 9.50 ล้าน ลบ.ม./วัน แต่เนื่องจากมีน้ำไหลจากเหนืออ่างอย่างต่อเนื่อง ทำให้พร่องน้ำได้ไม่ทัน ทำให้น้ำล้นสปีลเวย์เขื่อนแก่งกระจาน ซึ่งมีระดับต่ำกว่าสันเขื่อนประมาณ 7.0 เมตร เมื่อตอนสายวันนี้ ซึ่งสปีลเวย์สามารถรองรับน้ำไหลผ่านได้สูงสุด 1,380 ลบ.ม./วินาที หรือ 119 ล้าน ลบ.ม./วัน
สำหรับอนาคตของสถานการณ์น้ำต่อจากนี้ กรมชลประทานได้คาดการณ์ว่าน้ำที่ไหลผ่านสปีลเวย์สูงสุดที่ 100 ลบ./วินาที หรือ 8.64 ล้าน ลบ.ม./วัน ในวันที่ 10 ส.ค.นี้ โดยจะมีระดับน้ำสูงขึ้นจากสันสปีลเวย์ประมาณ 0.5-0.6 เมตร ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค.นี้เป็นต้นไป คาดว่าจะมีน้ำจากการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน ประมาณ 210 ลบ.ม./วินาที และหากมีฝนตกในพื้นที่แม่น้ำเพชรบุรี จะมีปริมาณน้ำ 230-250 ลบ.ม./วินาที คาดว่าจะทำให้แม่น้ำเพชรบุรีมีปริมาณน้ำผ่านสูงสุดในวันที่ 12 ส.ค.นี้
สำหรับการบริหารจัดการน้ำที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากการคาดการณ์ดังกล่าว ประกอบด้วย 1.การหน่วงน้ำ/ตัดน้ำเข้าระบบชลประทานฝั่งซ้าย/ฝั่งขวา รวม 55 ลบ.ม./วินาที และผันเข้าคลองระบาย D9 ในอัตรา 35 ลบ.ม./วินาที ทั้งสองส่วนตัดน้ำก่อนถึงเขื่อนเพชร อ.ท่ายาง ซึ่งเป็นพื้นที่กระจายน้ำ 2.ระบายน้ำผ่านเขื่อนเพชรบุรี ในอัตรา 140-160 ลบ.ม./วินาที ซึ่งแม่น้ำเพชรบุรีมีการพร่องน้ำเตรียมไว้แล้ว ประกอบกับการเสริมคันกั้นน้ำจะไหลผ่าน อ.หนองหญ้าปล้อง อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด โดยไม่มีผลกระทบ และจะไหลผ่านตัวเมืองเพชรบุรีซึ่งมีความกว้างของแม่น้ำเพชรบุรีไม่มาก จะทำให้มีระดับน้ำเอ่อล้นตลิ่งท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่ง/พื้นที่ชุมชนประมาณ 0.2-0.3 เมตร
สำหรับมาตรการเตรียมการช่วยเหลือ ได้กำหนดให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ในจุดเสี่ยงที่อาจจะมีน้ำเอ่อเข้าท่วมชุมชน จำนวน 30 เครื่อง ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ ทร. ของกองทัพเรือ ในแม่น้ำเพชรบุรีใกล้ปากอ่าวทะเลบ้านแหลม อ.บ้านแหลม เพื่อเร่งระบายน้ำในจุดที่ระบายน้ำได้ช้า จำนวน 44 เครื่อง เตรียมยานพาหนะและเครื่องจักรกล เช่น รถโกยตัก จำนวน 7 คัน ประจำในพื้นที่เพื่อขุดเปิดทางน้ำ หากไม่มีฝนตกหนักเพิ่มเติมในบริเวณเหนืออ่างแก่งกระจาน เชื่อว่าจะไม่เกิดวิกฤตเหมือนปีที่ผ่านมา