เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำฯ รับปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่บางแห่งมากกว่าปี 54 จริง สั่งเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 11 แห่ง โดยเขื่อนน้ำอูน สกลนคร และเขื่อนแก่งกระจานน่าห่วงแต่ยังควบคุมได้ เตรียมเปิดศูนย์เฉพาะกิจร่วมเฝ้าระวังใกล้ชิด 24 ชม.
วันนี้ (2 ส.ค.) ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในขณะนี้ว่า เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ได้มีการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำเชิงลึกซึ่งต้องเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 11 แห่งที่คาดการณ์ว่าอีก 1 เดือนข้างหน้าปริมาณน้ำอาจจะสูงมากกว่านี้ จึงต้องมีมาตรการพร่องน้ำ โดยอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์มี 2 แห่ง คือ ที่เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร และที่เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ที่เราให้ความสำคัญเป็นกรณีพิเศษให้มีการระบายน้ำมากกว่านี้ ทั้งนี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ดำเนินการภายใน 5 วันให้ได้ โดยก่อนระบายน้ำให้แจ้งผู้ว่าฯ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยก่อน 3 วัน เพื่อให้ภาคประชาชนรับรู้ และจัดทำรายงานผลกระทบท้ายน้ำว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และหากระดับน้ำอยู่ในะดับวิกฤต นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้สั่งการ แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำโดยรวมขณะนี้อยู่ในเกณฑ์สีเหลือง หรือในระดับเตรียมการเท่านั้น
นายสมเกียรติกล่าวอีกว่า ในวันที่ 3 ส.ค.เวลา 08.00 น.จะมีการเปิดศูนย์เฉพาะกิจร่วม ที่กรมชลประทาน โดยศูนย์ดังกล่าวจะดำเนินการร่วมกันตลอด 24 ชั่วโมงอย่างใกล้ชิด มีเจ้าหน้าที่ร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อให้ได้ข้อมูลชุดเดียวกัน อย่างไรก็ตาม แม้ปริมาณฝนในช่วงต้นเดือน ส.ค.อาจจะไม่มาก ในภาคกลางและภาคเหนือนั้นสถานการณ์ยังไม่น่าเป็นกังวล แต่ในภาคอีสานปริมาณน้ำในเขื่อนที่มากกว่าความจุร้อยเปอร์เซ็นต์ในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีจำนวนมากกว่า 50 แห่ง ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด จึงต้องวิเคราะห์ความสมดุลในการรับน้ำและระบายน้ำนอกจากนี้อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กกว่า 1,000 แห่ง ตรงนี้ได้มอบหมายให้ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าไปดูแลในเบื้องต้นก่อน หากจำเป็นต้องระบายน้ำฉุกเฉินจะต้องดำเนินการแห่งใดบ้าง ซึ่งยังมีเวลาเตรียมการ1-2 สัปดาห์ ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดสถานการณ์ใด ณ วันนี้
เมื่อถามว่ากรณีที่มีกระแสข่าวว่าปริมาณน้ำปีนี้มากกว่าปี 2554 ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นายสมเกียรติกล่าวว่า ปริมาณน้ำเมื่อวันที่1 พ.ค.ที่ผ่านมาโดยรวมถือว่าสูงกว่า เป็นข้อเท็จจริง แต่มีปริมาณสูงกว่าในเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เพียงบางแห่งเท่านั้นเช่นในเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ โดยในภาคกลางได้มีการเฝ้าระวังเรื่องแผนบริหารจัดการน้ำ และเราไม่ประมาท ตามที่มีพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาว่าพายุจะเข้ามาช่วงกลางเดือน ส.ค.นี้ ขณะที่สถานการณ์น้ำริมฝั่งแม่น้ำโขงมีการเร่งสูบน้ำระบายออก
โดยที่ จ.อุบลราชธานี ปริมาณน้ำลดลงแล้ว แต่ที่ จ.เลย จ.หนองคาย จ.นครพนม จ.มุกดาหาร ปริมาณน้ำมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น 70 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร เนื่องจากมวลน้ำอาจถูกปล่อยมาจากจีนและ สปป.ลาว จึงประสานกับสองประเทศว่าจะมีปริมาณน้ำปล่อยลงมาจำนวนเท่าใด ซึ่งผู้ว่าฯ ได้รับทราบและแจ้งเตือนประชาชนแล้ว