xs
xsm
sm
md
lg

โครงการแหล่งน้ำขนาดใหญ่ หัวใจการขับเคลื่อนปัญหาน้ำของประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ต้องถือว่ารัฐบาล คสช.สร้างผลงานการแก้ไขปัญหาน้ำอย่างเป็นระบบเห็นเนื้อเห็นหนังได้เต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจใช้มาตรา 44 จัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการบูรณาการร่วมกับ 38 หน่วยงาน 7 กระทรวง เมื่อปลายปี 2560

ทันทีที่ขึ้นบริหารประเทศเมื่อปี 2557 รัฐบาล คสช.เร่งสร้างผลงานด้วยโครงการที่ถือเป็นแผนยุทธศาสตร์ระยะเร่งด่วน (พ.ศ. 2558-2559) ส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดเล็ก ลงมือทำได้ทันที เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของประชาชน เช่น แก้มลิง สระน้ำในไร่นา ตามมาด้วยการเสริมประสิทธิภาพความจุอ่างเก็บน้ำเดิม ซึ่งเป็นวิธีการเพิ่มปริมาณน้ำที่ง่ายและเร็วที่สุด โดยไม่ต้องรอการก่อสร้างโครงการใหม่ๆ ซึ่งต้องใช้เวลานาน ทั้งจากการศึกษาความเหมาะสมและการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน ให้ศึกษาเตรียมความพร้อมโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญด้วย

ก่อนจัดตั้ง สทนช.ไม่นานได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะสั้น (พ.ศ. 2560-2561) โดยเริ่มพัฒนาโครงการขนาดกลาง และทำแผนแม่บทพัฒนาลุ่มน้ำทั้งระบบ เช่น แผนบรรเทาอุทกภัย-ภัยแล้งในลุ่มเจ้าพระยา การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 4 แห่งใน จ.จันทบุรี ได้แก่ อ่างเก็บน้ำประแกด อ่างเก็บน้ำพะวาใหญ่ อ่างเก็บน้ำแก่งหางแมว และอ่างเก็บน้ำวังโตนด เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

เมื่อจัดตั้ง สทนช.สำเร็จ จึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะกลาง (พ.ศ. 2562-2565) เพื่อพัฒนาโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ โดยเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนในท้องถิ่น ควบคู่กับการสำรวจออกแบบโครงการ เช่น คลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา โครงการเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เลย เป็นต้น

“การขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญครั้งนี้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์น้ำของรัฐบาล (พ.ศ. 2561-2580) ผมเองจะร่วมรับฟังปัญหาอุปสรรคและหาแนวทางแก้ไข โดยจะลงพื้นที่ติดตามโครงการคลองระบายน้ำบางบาล-บางไทรเป็นแห่งแรกในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้” พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ภายใต้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กล่าว

ถ้าดูตามแผนยุทธศาสตร์ที่แบ่งซอยเป็นระยะๆ แล้ว เป็นท่าทีที่รัฐบาล คสช.ขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอน ไม่เน้นเฉพาะอันใดอันหนึ่งแต่รวมหมดทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสูตรสำคัญสำหรับประเทศไทยที่ไม่อาจแยกดำเนินการเฉพาะโครงการขนาดใดขนาดหนึ่งโดยสิ้นเชิงได้ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ (Area based) ซึ่งมีความหลากหลาย ตั้งแต่พื้นที่ขนาดเล็กระดับชุมชน จนถึงจังหวัด และกลุ่มจังหวัดตามขนาดของลุ่มน้ำ

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า โครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญในแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) มีด้วยกันทั้งสิ้นกว่า 300 โครงการ เฉพาะที่จะพัฒนาในแผนยุทธศาสตร์ระยะกลาง (พ.ศ. 2562-2565) มีจำนวน 31 โครงการ แบ่งเป็นภาคเหนือ 4 โครงการ ภาคกลาง 13 โครงการ ภาคอีสาน 10 โครงการ ภาคตะวันออกและภาคใต้ ภาคละ 2 โครงการ

“ประเดิมในปี 2562 รัฐบาลจะเริ่มขับเคลื่อนให้เกิดรูปธรรมจำนวน 9 โครงการ เมื่อแล้วเสร็จจะเพิ่มปริมาณน้ำได้ถึง 370 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์ 840,201 ไร่”

ทั้งนี้ โครงการขนาดใหญ่และขนาดสำคัญทั้ง 9 โครงการ ประกอบด้วย 1. โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2. โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จ.หนองคาย 3. โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เลย 4. โครงการประตูระบายน้ำน้ำพุง-น้ำก่ำ จ.สกลนคร 5. โครงการประตูระบายน้ำบ้านก่อ จ.สกลนคร 6. โครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชัยภูมิ 7. โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ (ระยะที่ 1) จ.ชัยภูมิ 8. โครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงตอนล่าง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชัยภูมิ และ 9. โครงการคลองระบายน้ำบางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา

โครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญไม่อาจขับเคลื่อนโดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งตามลำพังอีกแล้ว หากเป็นโครงการที่รัฐบาลต้องออกแรงขับเคลื่อนเองโดยตรง โดยผ่านการบูรณาการทุกส่วนโดย สทนช.ที่จัดตั้งขึ้นมา ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อให้โครงการสามารถเดินได้และเกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง

เป็นก้าวใหญ่ๆ ของรัฐบาล คสช.ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น