“เทือก” เปิดเวทีชำแหละปฏิรูป ตร.“บรรเจิด” แจง 4 ปมต้องปฏิรูป หวั่นระบบพีระมิดทำองคาพยพ ตร.พัง หาก ผบช.อยู่ใต้การเมือง ยกปมโดดตึก ชี้ ต้นทางกระบวนการยุติธรรมมีปัญหา หนุนอัยการร่วมทำสำนวน “คำนูณ” เผยร่าง พ.ร.บ.ตร.ผ่านกฤษฎีกาแล้ว พร้อมสาระสำคัญ แบ่ง 5 สายงาน
วันนี้ (29 ก.ค.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิ ย้ำความสำคัญของการปฏิรูปตำรวจ ว่า เพื่อให้ตำรวจเป็นของประชาชน ไม่ใช่ตำรวจเป็นของนักการเมือง หรือผู้มีอิทธิพล จึงต้องปฏิรูปให้ตำรวจมีความเป็นมืออาชีพ และเป็นตำรวจของจังหวัด ไม่ควรโยกย้ายไปจังหวัดอื่น เพราะประชาชนคาดหวังให้ตำรวจเป็นผู้รู้จักพื้นที่ สามารถดูแลประชาชนได้
นายบรรเจิด สิงคะเนติ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ชี้ถึงความจำเป็นที่ต้องมีการปฏิรูปตำรวจ ว่า 1) โครงสร้างตำรวจแบบพีระมิดหากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งอยู่บนยอดสูงสุดอยู่ภายใต้การเมือง ก็เท่ากับว่า องคาพยพทั้งหมดก็จะอยู่ภายใต้การเมืองเช่นเดียวกัน 2) การแต่งตั้งโยกย้ายและการเข้าสู่ตำแหน่งต้องใช้ต้นทุนที่สูงมาก 3) ปัญหาการสอบสวนไม่มีการถ่วงดุล ไม่เป็นไปตามหลักสากล และ 4) ไม่มีหลักประกันความอิสระของพนักงานสอบสวนในการสั่งคดีต่างๆ
นายบรรเจิด ยังยกตัวอย่างกรณีกระโดดตึกศาลอาญา จากกรณีที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องคดีที่บุตรชายถูกแทงจนเสียชีวิต ว่า เป็นตัวอย่างหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมต้นทาง หรือตำรวจที่มีปัญหา สวนทางกับหลักการสากลที่ต้องพิสูจน์หาข้อเท็จจริงจนปราศจากข้อสงสัยก่อน จึงควรให้อัยการมีส่วนร่วมกับตำรวจในการแสวงหาข้อเท็จจริงตั้งแต่ต้นทาง โดยเฉพาะคดีสำคัญ ไม่ใช่แสวงหาข้อเท็จจริงจากเอกสารสำนวนเพียงอย่างเดียว หากระบบการสอบสวนได้รับการแก้ไข ความจำเป็นที่ต้องตั้งองค์กรพิเศษมาดูแลก็จะน้อยลง
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ผ่านการพิจารณาวาระหนึ่งของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ส่วนร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญาก็มีความคืบหน้า 3 ใน 4 ส่วนแล้ว โดยกฎหมายใหม่ทั้งสองฉบับมีสาระสำคัญ 6 ประการ คือ 1) ตำรวจเติบโตด้วยความรู้ความสามารถ ไม่ต้องพึ่งระบบอุปถัมภ์ 2) กำลังตำรวจปฏิบัติภารกิจป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ในจุดที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด คือ สถานีตำรวจ 3) การสอบสวนคดีอาญามีความเป็นอิสระ 4) กระบวนการสอบสวนประสิทธิภาพมากขึ้น ให้อัยการมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นในคดีอุกฉกรรจ์และคดีสำคัญ 5) คุ้มครองสิทธิเสรีภาพในกระบวนการสอบสวนมากขึ้น เช่น การจับกุม การถูกปล่อยให้ถ่ายรูป สัมภาษณ์ หรือปรักปรำฝ่ายเดียวไม่ได้ และ 6) ประชาชนมีกลไกตรวจสอบภายนอกมากขึ้น หากพบความไม่ชอบมาพากล มีกลไกร้องเรียนได้โดยตรง
นายคำนูณ ขยายความเพิ่มเติมถึงโครงสร้างของตำรวจที่แบ่งออกเป็น 5 สายงาน คือ 1) ป้องกันและปราบปราม 2) สอบสวน 3) วิชาชีพเฉพาะเทคนิคพิเศษ 4) บริหาร 5) อำนวยการและสนับสนุน โดยเน้นย้ำถึงสายงานสอบสวนที่มีอิสระมากขึ้น มีสายงานบังคับบัญชาที่แยกออกจากสายงานปกติ มีวิธีการทำงาน วิถีชีวิต รายได้ ให้สมกับผู้ประกอบวิชาชีพในกระบวนการยุติธรรม เช่นเดียวกับ อัยการ ศาล แม้จะยังอยู่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ตาม
ส่วนหลักประกันในการแต่งตั้งโยกย้าย นายคำนูณ บอกว่า ที่ผ่านมา คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. ก็จะเป็นผู้กำหนดรายละเอียด แต่ครั้งนี้จะมีการกำหนดรายละเอียดหลักการใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้แก้ไขได้ยากขึ้น โดยกำหนดให้ตำรวจเติบโตในสายงาน หากจะโยกย้ายข้ามสายงานจะต้องเป็นตำแหน่งในระนาบเดียวกันเท่านั้น ส่วนการพิจารณาเลื่อนขั้น จะมีการกำหนดไว้ว่าจะต้องอยู่ในตำแหน่งเดิมไม่น้อยกว่ากี่ปี จึงจะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้น โดยการพิจารณาจะเป็นไปตามลำดับคะแนนเต็ม 100 คะแนน โดย 50 คะแนนมาจากความอาวุโส 20 คะแนนมาจากความรู้ความสามารถ และอีก 30 คะแนนมาจากความพึงพอใจของผู้รับบริการ โดยจะกำหนดให้สำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นผู้สำรวจความพึงพอใจของประชาชน แต่ทั้งนี้ นายคำนูณ ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ อาจบังคับใช้ไม่ทันการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจรอบต่อไป
นายคำนูญ ยังยกประเด็นสำคัญในร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ เกี่ยวกับการอารักขาบุคคลสำคัญ โดยคณะรัฐมนตรีต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ชัดเจน ว่า ตำแหน่งใดบ้างที่ต้องมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอารักขา หากพ้นจากตำแหน่งแล้วต้องส่งตัวกลับภายใน 180 วัน ยกเว้นอดีตนายกรัฐมนตรีที่สามารถขอตำรวจอารักขาได้ แต่ไม่รวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกศาลสั่งลงโทษ