“สมคิด-บรรเจิด” ชี้สิทธิเสรีภาพตาม รธน.ใหม่ถูกจำกัดภายใต้ความมั่นคง ให้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ขัดขวางการใช้สิทธิของประชาชน ยก ม.44 กำจัดการชมชุมของ ปชช.ไม่ได้ ตั้งโจทย์แก้ปัญหาผิด สร้างปัญหาระยะยาว ต้องแยกให้ออกระหว่างความมั่นคงของรัฐและความมั่นคงของรัฐบาล
วันนี้ (15 พ.ค.) ที่รัฐสภา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สถาบันพระปกเกล้า และสมาคมรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดเวทีสัมมนาเรื่อง “การใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญกับการใช้อำนาจรัฐ” มีเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการอภิปรายเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่จะนำไปสู่ปัญหาในการตีความและการบังคับใช้
นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ สมาชิก สนช. อภิปรายว่า สิทธิเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญรับรอง ที่จะก่อให้เกิดหน้าที่แก่รัฐ ส่วนเสรีภาพเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ แต่ไม่ก่อให้เกิดหน้าที่ของรัฐ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ร่ำรวยรัฐธรรมนูญประเทศหนึ่ง เรามีรัฐธรรมนูญ 1 ฉบับในทุก 4 ปี รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มีสิทธิเสรีภาพของประชาชนจำนวน 40 มาตรา แต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีจำนวน 25 มาตรา แต่จำนวนมาตราที่น้อยจะหมายความว่าได้รับสิทธิเสรีภาพของประชาชนน้อย เพราะแนวคิดของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องการเขียนรัฐธรรมนูญให้สั้นลง
นายสมคิดกล่าวว่า ประเด็นสำคัญของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 อยู่ที่การกำหนดในมาตรา 25 ว่าให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพนอกเหนือไปจากที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ เป็นการสร้างนวัตกรรม แต่คำถามใหญ่ คือ ประชาชนจะมีสิทธิเสรีภาพอะไรบ้าง
“เดิมสิทธิเสรีภาพ ถ้ารัฐธรรมนูญเขียนไว้ 20 มาตรา ก็มี 20 แต่อาจารย์มีชัยมาเขียนในลักษณะ 25 มาตราบวกบวก สอดคล้องกับทฤษฎีที่ว่าคนเราเกิดมาจะมีสิทธิเสรีภาพติดตัวมาแต่กำเนิด และรัฐค่อยมารับรองสิทธิเสรีภาพนั้น แต่ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้น คือ อาจารย์มีชัยเขียนโดยมาตรา 25 ที่มีการบวกบวกเพิ่มเข้าไปนั้น มีทั้งเรื่องสิทธิและเสรีภาพเข้าไปพร้อมกัน ที่อาจจะมีปัญหาทางกฎหมายว่าที่สุดแล้วประชาชนจะมีสิทธิที่รัฐจะรับรองมีอะไรบ้าง” นายสมคิดกล่าว
นายสมคิดกล่าวว่า คนใช้กฎหมายต้องอ่านรัฐธรรมนูญให้ดี เช่น มาตรา 44 ว่าด้วยเสรีภาพของประชาชนในการชุมนุมนั้นไม่สามารถจะไปจำกัดได้ เว้นแต่เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ การระบุเช่นนี้เป็นการย้ำว่ารัฐธรรมนูญต้องการให้การชุมนุมเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ไปตีความว่าทุกเรื่องเป็นเรื่องการรักษาความมั่นคงของรัฐหมด แบบนี้การชุมนุมประท้วงจะทำไม่ได้เลย ถ้าเราอยากให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ก็ต้องยอมรับเรื่องความขัดแย้งและการชุมนุม มิเช่นนั้นการพูดเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน ประชาธิปไตยและเสรีภาพก็จะเป็นเพียงลมปากเท่านั้น
“ปัญหาใหญ่ คือ เราไม่อยากให้การชุมนุมทุกครั้งเป็นเรื่องที่ฝ่ายรัฐไม่ประสงค์ให้ชุมนุม ถ้าเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมายคิดในเชิงว่าการชุมนุมทุกอย่างคือความวุ่นวายและกระทบความมั่นของรัฐ การชุมนุมซึ่งบางเรื่องเป็นเรื่องที่ทำให้คนได้รับการศึกษาและสะท้อนให้ผู้มีอำนาจเห็นประโยชน์จากเรื่องนั้นมากยิ่งขึ้น เราก็น่าจะกระทำ” นายสมคิดกล่าว
นายสมคิดกล่าวว่า หลักของกฎหมาย คือ การใช้อำนาจรัฐต้องใช้ให้น้อยที่สุด เข้าใจว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ดูจากประสบการณ์ของประเทศช่วงปี 2553-2557 ที่มีการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย แต่ถ้าเอาโจทย์ร้ายแรงเป็นตัวตั้ง สิ่งที่ได้คือการสร้างเงื่อนไขจำนวนมาก ดังนั้น แม้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญจะมีเจตนาดีที่ต้องการให้ประเทศกลับมาในจุดที่เหมาะสม แต่เป็นห่วงเรื่องการใช้กฎหมาย
นายบรรเจิด สิงคะเนติ ผู้อำนวยการหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต นิด้า กล่าวว่า รากฐานของเสรีภาพทางการเมืองหรือเสรีภาพในทางประชาธิปไตย ต้องประกอบด้วยเสรีภาพ ดังนี้ 1. เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น 2. เสรีภาพในการชุมนุม 3. เสรีภาพในการรวมกลุ่ม และ 4. เสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง การแสดงความคิดเห็นเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกและยุบสภายังอยู่ในขอบเขตของรัฐธรรมนูญ การใช้เสรีภาพของบุคคลนั้นถ้าทำคนเดียวเสียงอาจจะไม่ดัง แน่นอนว่าจะต้องใช้การชุมนุมเข้ามา ดังนั้น ในสังคมประชาธิปไตยต้องมีเสรีภาพทั้ง 4 ประการ
นายบรรเจิดกล่าวอีกว่า ความมั่นคงของรัฐ กับความมั่นคงของรัฐบาล ต้องแยกออกจากกันให้ดี ส่วนตัวคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับเดิมบัญญัติไว้ชัดว่าการจะใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนจะกระทำไม่ได้ก็ต่อเมื่อเป็นการใช้ในลักษณะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ เช่น ไทยเป็นรัฐเดี่ยว ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถ้าใครใช้สิทธิเสรีภาพเป็นปฏิปักษ์กับสิ่งเหล่านี้จะกระทำไม่ได้ เป็นต้น ผิดจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่บัญญัติเรื่องการกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการตีความทันที
“การจะแก้ปัญหาการชุมนุม ผู้มีอำนาจทางการเมืองต้องแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง ตราบเท่าที่ความขัดแย้งทางการเมืองยังดำรงอยู่ การแสดงออกทางการเมืองย่อมเป็นเงาตามตัว” นายบรรเจิด