นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 8 มีผู้นำจาก เมียนมา เวียดนาม ลาว และกัมพูชา เข้าร่วมโดยสนับสนุนความริเริ่มแผนแม่บท 5 ปีที่เน้นความร่วมมือและการเชื่อมโยงถึงกันแบบไร้รอยต่อ
วันนี้ (16 มิ.ย.) ที่โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 8 โดยมีผู้นำสมาชิก ACMECS ได้แก่ สมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อู วิน มยิน ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และ ดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ็อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมด้วย
ภายหลังเสร็จสิ้น พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นับตั้งแต่การก่อตั้ง ACMECS เมื่อปี 2546 จนถึงวันนี้ ACMECS ได้กลายมาเป็นอนุภูมิภาคที่มีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจ มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 6 - 8 ต่อปี มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรกว่า 230 ล้านคน รวมทั้งการมีที่ตั้งบนพื้นที่ยุทธศาสตร์ โดยเป็น “สะพาน” เชื่อมต่อเศรษฐกิจและตลาดระหว่างมหาสมุทรอินเดีย กับมหาสมุทรแปซิฟิก พร้อมกับมีบทบาทสำคัญมากขึ้น ในการส่งเสริมความเชื่อมโยงภายในภูมิภาคในอาเซียน และระหว่างภูมิภาคต่างๆ ขณะเดียวกัน ACMECS ก็กำลังเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ และการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคดิจิทัล ตลอดปีที่ผ่านมา ประเทศไทยจึงได้ผลักดันอย่างแข็งขันที่จะดำเนินการตามความเห็นชอบของการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 7 ณ กรุงฮานอย ที่ปฏิรูป ACMECS เพื่อให้สามารถรับมือกับบริบทใหม่ของโลกและสิ่งท้าทายที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทย ในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำ ACMECS ในครั้งนี้ ได้ตั้งหัวข้อการประชุม ว่า “การก้าวไปสู่ประชาคมลุ่มแม่น้ำโขงที่เชื่อมโยงกัน” เพราะเชื่อว่าการรวมตัวและความเชื่อมโยงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันสร้างประชาคม ACMECS ที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียว มีความร่วมมือ และเดินหน้าไปร่วมกันอย่างมีบูรณาการ และมีส่วนสำคัญในการสร้างผลประโยชน์ในภูมิภาคและเป็นแกนนำสำคัญในการเสริมสร้างประชาคมอาเซียน
ทั้งนี้ ประเทศไทย โดยการสนับสนุนจากสมาชิก ACMECS ได้ริเริ่มจัดทำแผนแม่บท ACMECS (ค.ศ. 2019 - 2023) ซึ่งเป็นแผนแม่บทฉบับแรกของอนุภูมิภาค เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานของ ACMECS ในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า ภายใต้วิสัยทัศน์ “เสริมสร้าง ACMECS ที่เชื่อมโยงกัน ภายในปี ค.ศ. 2023” ซึ่งให้ความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมาย 3 ประการ ภายใต้สโลแกน “3S” ได้แก่ (1) การเสริมสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในอนุภูมิภาค (Seamless Connectivity) โดยเน้นการเติมเต็มโครงสร้างพื้นฐาน (2) การสอดประสานด้านเศรษฐกิจ (Synchronizes ACMECS Economies) โดยเน้นการปรับแก้กฎระเบียบด้านการค้าและการลงทุนให้สอดคล้องกัน ลดความซับซ้อนของกฎระเบียบ (3) การพัฒนาภูมิภาคในลักษณะยั่งยืนและมีนวัตกรรม (Smart and Sustainable ACMECS) โดยเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่
ในการนี้ เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินการให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นในการบรรลุเป้าหมายของแผนแม่บท ACMECS ผู้นำ ACMECS ต่างเห็นพ้องที่จะจัดทำโครงการระยะเริ่มแรก 2 ปี เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงตามระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก - ตะวันตก (EWEC) และระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ อย่างไรก็ตามการดำเนินการภายใต้แผนแม่บท คงจะดำเนินการด้วยความลำบากหากยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของแหล่งเงินทุน ในการนี้ ประเทศไทยจึงให้ความสำคัญต่อการจัดหาแหล่งเงินทุนที่มีความยั่งยืน โดยเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุน ACMECS (ACMECS Fund) เพื่อระดมทุนสำหรับพัฒนาโครงการต่าง ๆ ภายใต้แผนแม่บทฯ ทั้งสามเสา โดยประเทศไทยพร้อมที่จะสนับสนุนการจัดตั้งกองทุน ACMECS ด้วยทุนเริ่มต้นในการก่อตั้งจำนวนหนึ่ง พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนประเทศสมาชิก และประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาทั้งที่ปัจจุบันมีความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงดั้งเดิม รวมถึงประเทศที่มีศักยภาพ ทั้งในเอเชีย ยุโรป องค์กรระหว่างประเทศรวมถึงสถาบันการเงินต่างๆ เข้ามาเข้าร่วมสมทบกองทุน ACMECS ดังกล่าว
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า รัฐบาลไทยได้ดำเนินนโยบายภายในต่างๆ ซึ่งช่วยสนับสนุนแผนแม่บท ACMECS ที่เน้นการสร้างความเชื่อมโยงภายในอนุภูมิภาค อาทิ นโยบาย Thailand 4.0 การพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง และการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยรัฐบาลไทยให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการดังกล่าวภายใต้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Private-Private Partnership) ตามนโยบายประชารัฐควบคู่กับการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย และกลุ่มสตาร์ทอัป นอกจากนี้ ไทยเชื่อว่า อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงจะเข้มแข็งได้ ก็ต่อเมื่อทุกประเทศเจริญก้าวหน้าไปพร้อมๆ กัน โดยไม่ทิ้งประเทศใดไว้ข้างหลัง ดังนั้น ไทยจึงให้ความสำคัญกับความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้จัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรือ SEZ จำนวนทั้งสิ้น 10 แห่ง ตามบริเวณแนวชายแดน ซึ่งมีความเหมาะสมสำหรับสร้างเป็นฐานการผลิตที่มีความเชื่อมโยงกับประเทศสมาชิก ACMECS อื่นๆ มีศักยภาพที่จะรองรับแรงงานต่างด้าวได้เป็นจำนวนมาก และรัฐบาลเองก็มีมาตรการการอำนวยความสะดวกในการจ้างงานแรงงานต่างด้าวในพื้นที่เหล่านี้
นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่า ความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิก ACMECS ที่จะร่วมมือกัน และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการดำเนินการตามแผนแม่บทฯ จะทำให้ ACMECS เป็นประชาคมแม่น้ำโขงที่เชื่อมโยงกันอย่างแท้จริงในห้าปีข้างหน้า และต่อจากนั้น เราจะได้เห็น ACMECS เป็นอนุภูมิภาคที่มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และคนข้ามพรมแดนอย่างไร้รอยต่อในอนุภูมิภาค และเป็นอนุภูมิภาคที่เป็นสะพานที่แท้จริงที่เชื่อมต่อเศรษฐกิจและตลาดของมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิกและของเศรษฐกิจอื่นๆ กับภาคพื้นทวีปเอเชียและของโลก
นับจากนี้ ACMECS จะเป็นอนุภูมิภาคที่มีความรับผิดชอบและมีส่วนร่วมที่สร้างสรรค์ในประชาคมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องของการส่งเสริมพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ประชาชน ผู้ประกอบการและเกษตรกรจะเป็นคนยุคใหม่ที่ก้าวหน้า สามารถนำเทคโนโลยีและดิจิทัลเข้ามาผสมผสานกับวิถีชีวิตและการปฏิบัติงานทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม นอกจากนี้การพัฒนาจะต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
ในการนี้ นายกรัฐมนตรีมีความยินดีที่ความพยายามของประเทศสมาชิก ACMECS ที่จะสนับสนุนความเชื่อมโยงและการพัฒนาแบบยั่งยืนได้รับการสนับสนุนจากประชาคมโลก โดยหวังว่า ประเทศและองค์กรเหล่านี้ จะสามารถสนับสนุนแผนแม่บท ACMECS เพื่อสร้างความเชื่อมโยงทั้งสามเสาได้เป็นอย่างดี โดยคำนึงถึงการบรรลุผลประโยชน์ร่วมกัน และสะท้อนถึงความต้องการที่แท้จริงของประเทศสมาชิก ACMECS
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การรวมตัวของสมาชิก ACMECS ในวันนี้ ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณสำคัญต่อประชาคมโลกว่า ACMECS พร้อมที่จะผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อเดินหน้าและกำหนดทิศทางขับเคลื่อนความร่วมมือของ ACMECS ในการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในอนุภูมิภาค โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง และมั่นใจว่า หากสมาชิกสามารถร่วมมือกัน มีการสอดประสานกันด้านนโยบาย มีการเชื่อมต่อกับทุกภาคส่วน ACMECS จะกลายเป็นอนุภูมิภาคเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นส่วนสำคัญของความกินดีอยู่ดีของโลกได้อย่างแท้จริง