xs
xsm
sm
md
lg

ซัมมิต ACMECS ปิดฉากเห็นชอบปฏิญญากรุงเทพ ดันลงขันตั้งกองทุนพัฒนอนุภูมิภาค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ซัมมิต ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (ACMECS) ครั้งที่ 8 ปิดฉากที่ประชุมเห็นชอบปฏิญญากรุงเทพ จัดตั้งแผนแม่บทพัฒนาร่วมกัน 5 ปี เน้นความร่วมมือและเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ ดันตั้งกองทุนพัฒนาอนุภูมิภาคให้ประเทศสมาชิกร่วมลงขัน โดยไทยลงทุนประเดิมก่อน


วันนี้ (16 มิย.) ภายหลังเสร็จสิ้น การประชุมสุดยอดผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (ACMECS Summit) ครั้งที่ 8 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวผลการประชุม ณ ห้อง Ballroom 2 - 3 โรงแรมแชงกรี-ลา สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ACMECS ครั้งที่ 8 รวมถึงการประชุมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งมีผู้นำจากกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และ เวียดนาม รวมทั้งเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมการประชุม โดยที่ประชุมได้หารือถึงเป้าหมายและทิศทางที่จะเดินไปข้างหน้าเพื่อลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พร้อมแสดงความยินดีที่ ACMECS ได้รับความสนใจและการสนับสนุนจากประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา องค์การระหว่างประเทศ รวมทั้งสถาบันการเงินระหว่างประเทศกว่า 30 ภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน รัฐมนตรีต่างประเทศของเกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และผู้แทนระดับสูงจาก AIIB และ ADB ที่ได้ส่งสารแสดงความยินดีต่อการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ของไทย

ที่ประชุมต่างเห็นพ้องถึงการปรับภาพลักษณ์และโครงสร้างของ ACMECS ให้ทันสมัย ตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์ภายในอนุภูมิภาคและของโลก และสนับสนุนไทยที่ได้เสนอแนวคิดที่จะจัดทำแผนแม่บทฉบับฉบับแรกของอนุภูมิภาค เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานของ ACMECS ในระยะเวลา 5 ปี ข้างหน้า ภายใต้วิสัยทัศน์ “เสริมสร้าง ACMECS ที่เชื่อมโยงกัน ภายในปี ค.ศ. 2023”

โดยมีเป้าหมาย 3 ประการ ได้แก่ (1) การเสริมสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในอนุภูมิภาค โดยเน้นการเติมเต็มโครงสร้างพื้นฐานและเส้นทางคมนาคมขนส่งที่ยังขาดหาย ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล และการเชื่อมโยงโครงข่ายด้านพลังงาน (2) การสอดประสานด้านเศรษฐกิจ โดยเน้นการปรับแก้กฎระเบียบด้านการค้าและการลงทุนให้สอดคล้องกัน และความร่วมมือทางการเงิน และ (3) การพัฒนาภูมิภาคในลักษณะยั่งยืนและมีนวัตกรรม โดยเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และความร่วมมือในสาขายุทธศาสตร์ต่าง ๆ อาทิ สิ่งแวดล้อม การเกษตร การท่องเที่ยว สาธารณสุข การพัฒนาSmart City และความมั่นคงไซเบอร์ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมในสาขาต่าง ๆ เช่น การจัดการทรัพยากรน้ำการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ การส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงานและพลังงานหมุนเวียน

ผู้นำ ACMECS เห็นชอบให้ดำเนินโครงการตามระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก (East-West Economic Corridor - EWEC) และระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor –SEC) ในระยะแรก (Early Harvest/ Phase I) ในช่วง 2 ปีข้างหน้า เพื่อพัฒนาความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานและเส้นทางคมนาคมขนส่ง โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล และพลังงาน รวมทั้งการปรับแก้กฎระเบียบและระบบศุลกากรเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

ประเทศไทยยังให้ความสำคัญต่อการจัดหาแหล่งเงินทุนที่มีความยั่งยืน โดยริเริ่มแนวคิดในการจัดตั้งกองทุน ACMECS ซึ่งไทยจะมอบทุนเริ่มต้นในการก่อตั้งจำนวนหนึ่ง ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของรัฐบาล ให้ถูกต้องและเป็นไปตามกฎหมาย และได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกให้จัดการประชุมเจ้าหน้าที่การเงินอาวุโส เพื่อหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับรูปแบบการจัดตั้งและขอบเขตการทำงานของกองทุน ภายในปีนี้ นอกจากนี้ที่ประชุมได้เห็นพ้องถึงความสำคัญของบทบาทและการเข้าร่วมสมทบกองทุน จากประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาทั้งที่ปัจจุบันมีความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงดั้งเดิม รวมถึงประเทศที่มีศักยภาพ ทั้งในเอเชีย ยุโรป องค์กรระหว่างประเทศรวมถึงสถาบันการเงินต่างๆ โดยความสมัครใจ

นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า แผนแม่บทนอกจากจะช่วยกำหนดแนวทางความร่วมมือของสมาชิก ACMECS แล้วยังจะช่วยเติมเต็มแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. 2025 (Master Plan on ASEAN Connectivity 2025) ผู้นำ ACMECS มุ่งสร้างประชาคม ACMECS ที่เกื้อหนุนต่อกระบวนการสร้างประชาคม ASEAN ตลอดจนสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต

ทั้งนี้ นอกจากแผนแม่บทแล้ว ที่ประชุมยังได้รับรองปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) ซึ่งเป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกที่จะใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งและความหลากหลายของประเทศสมาชิกที่จะร่วมมือกันในลักษณะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน โดยมีแผนแม่บท ACMECS เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนความร่วมมือ พร้อมทั้งการกระชับความร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วนทางการพัฒนารวมทั้งสถาบันการเงิน เพื่อการบรรลุเป้าหมายของแผนแม่บท การประชุมครั้งนี้ยังได้ให้ความสำคัญและเห็นชอบกับนโยบายของไทยที่คำนึงถึงประเทศเพื่อนบ้าน ในการดำเนินกิจกรรมทุกประเภทภายใต้นโยบาย Thailand +1 เพื่อให้ประชาคม ACMECS เป็นประชาคมที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แสดงความยินดีอย่างยิ่งที่กัมพูชาจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งต่อไป

สำหรับกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการจัดประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมกลไกประชารัฐในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของ ACMECS ไทยจึงได้เชิญผู้แทนจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งประเทศที่มีศักยภาพในการเข้ามาเป็นประเทศหุ้นส่วนของ ACMECS องค์การระหว่างประเทศ และสถาบันการเงินต่างๆ กว่า 36 ประเทศ/องค์กร เข้าร่วมในกิจกรรมคู่ขนาน ได้แก่ การประชุม ACMECS CEO Forum งานเลี้ยงรับรองอาหารค่ำอย่างเป็นทางการ และพิธีเปิดการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 8 อย่างเป็นทางการ

การประชุม ACMECS CEO Forum ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2561 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “เสริมสร้างความเชื่อมโยงทุกมิติ เพื่ออนาคตร่วมกันของสมาชิกลุ่มแม่น้ำโขง” ซึ่งไทย กัมพูชา และเมียนมา รวมถึงผู้บริหารระดับสูงจากบริษัท JD สถาบันการเงินระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ อาทิ AIIB และ JBIC มาร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในการผลักดันความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ ใน ACMECS ซึ่งต่างเห็นพ้องว่าอนุภูมิภาค ACMECS มีศักยภาพ และสนใจที่จะเข้ามาลงทุน รวมทั้งชื่นชมข้อริเริ่มในการจัดทำแผนแม่บท ACMECS ภายใต้การเป็นประธานของไทยในปีนี้ พร้อมทั้งยังย้ำความสำคัญของการสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การค้า การลงทุน ตามนโยบาย PPP รวมทั้งการมีแหล่งเงินทุนมารองรับโครงการต่างๆ ภายใต้แผนแม่บท ACMECS

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณทุกหน่วยงานและประชาชนไทยที่ให้ความร่วมมือในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้ ทำให้การประชุมประสบความสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ทั้งนี้ ไทยจะยังเป็นเจ้าภาพการประชุมที่ทั่วโลกจะจับตามองอีก 2 การประชุมใหญ่ คือ ASEAN Summit ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพตลอดปี 2562 และการประชุมเอเปกในปี 2565 พร้อมเน้นย้ำว่าทุกฝ่ายจะร่วมช่วยผลักดันความร่วมมือภายใต้กรอบ ACMECS ให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงให้ก้าวเดินไปด้วยกันอย่างมั่นคง มั่นคั่ง และยั่งยืน เพื่อความผาสุกของประชาชน อนุภูมิภาค อาเซียน และประชาคมโลก ต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น