นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดประชุมผู้นำกลุ่มประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง หรือ ACMECS CEO Forum
วันนี้ (15 มิ.ย.) ที่โรงแรมแชงกรี-ลา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม ACMECS CEO Forum ภายใต้หัวข้อ Connecting our Future : Enhancing ACMECS Cooperation and Integration โดยมีสาระสำคัญคือเน้นความร่วมมือกันในภูมิภาคแบบไร้รอยต่อ ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน
โดยพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า นอกจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในด้านเทคโนโลยีแล้ว อนุภูมิภาค ACMECS ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงมีความจำเป็นเร่งด่วน ที่จะต้องบริหารจัดการความร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วน เพื่อการพัฒนาทั้งหลายให้มีสมดุล เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีความเป็นเอกภาพ สามารถรักษาบทบาทและความเป็นแกนกลางของอาเซียนเอาไว้ได้ ประการแรก ภาคเอกชน ACMECS ต้องร่วมมือกับภาครัฐในการขับเคลื่อนการลงทุนใน ACMECS เพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตในอนุภูมิภาค ACMECS และเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกอย่างครบวงจร
นายกฯ กล่าวว่า องค์กร ADB ได้ประเมินเอาไว้ว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวมต้องการเงินลงทุน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสูงถึงปีละ 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 6 ของ GDP ตัวเลขการลงทุนที่ว่านี้สูงเกินกว่าที่ภาครัฐจะสามารถดำเนินการได้ตามลำพัง แต่จำเป็นต้องร่วมลงทุนกับภาคเอกชนด้วยส่วนหนึ่ง ในรูปแบบ Public - Private Partnership หรือ PPP ซึ่งในส่วนของประเทศไทยเอง ก็ได้เริ่มดำเนินความร่วมมือ PPP กับภาคเอกชนไปแล้วส่วนหนึ่ง โดยโครงการลงทุนหลักที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ได้แก่ โครงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งรัฐบาลจะเปิดประมูลในโครงการ ด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ อาทิ การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 การพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 เป็นต้น
นายกฯ กล่าวว่า ประเทศไทยมองว่า หากโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในไทยสามารถเชื่อมโยงเข้ากับประเทศอื่น ๆ ใน ACMECS ได้ด้วย ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มพูนการค้าการลงทุนตามแนวชายแดน ซึ่งจะช่วยในการสร้างงานสร้างรายได้ ลดช่องว่างในการพัฒนา และกระตุ้นให้เศรษฐกิจทั้งอนุภูมิภาคขยายตัวเพิ่มมากขึ้น จึงได้ผลักดันให้แผนแม่บทบรรจุ เรื่อง การเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างไร้รอยต่อ เป็นหนึ่งในเสาหลักของทิศทางการพัฒนา ACMECS ในอนาคต และจะผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุน ACMECS ขึ้น เพื่อระดมทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของ ACMECS อย่างไรก็ดี ในการขับเคลื่อนกองทุน ACMECS ให้ประสบผลสำเร็จนั้น จำเป็นจะต้องมีการปรับปรุงกฎระเบียบด้านการเงินของภาครัฐให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
นายกฯ กล่าวว่า โดยประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาและภาคเอกชนจะต้องเป็นพลังสำคัญ ในการช่วยแสวงหาแหล่งทุนและช่วยระดมทุน สำหรับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา ACMECS โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ของไทย ซึ่งเป็นจุดที่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับแนวระเบียงเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่สำคัญของ ACMECS เช่น แนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ - ใต้ แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก นอกจากนี้ ยังสามารถเชื่อมโยงไปยังเส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเลได้อีกด้วย
นายกฯกล่าวอีกว่า ประการที่สอง ภาคเอกชนจำเป็นต้องเพิ่มบทบาทในการเตรียมพร้อมให้ ACMECS สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เข้ามามีบทบาทในเศรษฐกิจและอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อรูปแบบการทำธุรกิจในอนาคต ซึ่งหากปล่อยปละละเลย ไม่เตรียมการไว้ให้พร้อมแล้ว ก็อาจส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจของ ACMECS ในภาพรวม อีกทั้งยังอาจเป็นช่องทางให้เกิดอาชญากรรมทางเศรษฐกิจข้ามชาติได้ และขอเชิญชวนภาคเอกชนร่วมกำหนดเป้าหมายเร่งด่วน ในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และนวัตกรรม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในด้านเทคโนโลยี รวมถึงความเปลี่ยนแปลงในด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ต้องเร่งปรับตัว และรีบตักตวงโอกาสจากการที่ภูมิภาคเอเชียกลับมามีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง เพื่อต่อยอดให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและลดช่องว่างในการพัฒนาระหว่างกัน
นายกฯ กล่าวว่า ขณะนี้ อนุภูมิภาค ACMECS กำลังเป็นที่สนใจของนานาประเทศ ที่ประสงค์จะเข้ามาทำการค้า และการลงทุน ประเทศไทยตระหนักดีว่า เศรษฐกิจของชาติ ACMECS พึ่งพาการค้าชายแดนเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกัน ภาคเอกชน ACMECS ก็มีความสนใจที่จะขยายการค้าขายตามแนวชายแดน รัฐบาลไทยขอให้ความมั่นใจว่า ไทยมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับภาคเอกชนในการลดอุปสรรคทางการค้า และอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ที่ผ่านมาความพยายามดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ได้รับการยอมรับจากธนาคารโลก ซึ่งได้ปรับการจัดอันดับความสะดวกในการทำธุรกิจกับไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีมิติของความมั่นคงและผลกระทบด้านสังคมเพิ่มเข้ามาด้วยนั้น ตนขอความร่วมมือจากภาคเอกชน
ให้ร่วมกันทำงานกับภาครัฐและภาคประชาสังคม เพื่อสร้างบรรยากาศที่มีความมั่นคง ความเป็นมิตร และบรรยากาศของการทำงานข้ามพรมแดนร่วมกัน และช่วยกันรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงบริเวณชายแดน เพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจริมชายแดนที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
นายกฯ กล่าวว่า ทั้งนี้ ช่องทางหนึ่งที่ภาคเอกชนจะสามารถร่วมมือกันในด้านนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ การพูดคุยผ่าน CLMVT Forum. จึงขอเชื้อเชิญภาคเอกชนให้ร่วมกันพิจารณาดูว่า จะสามารถใช้ประสบการณ์และบทเรียนที่ได้จากการประชุมในครั้งที่ผ่านมา จัดทำข้อเสนอต่อภาครัฐ เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือที่ให้ผลสำเร็จเป็นรูปธรรม และ CLMVT Forum จะสามารถเพิ่มบทบาทในการส่งเสริมการพัฒนาแบบไร้รอยต่อใน ACMECS ได้อย่างไร ตนและผู้นำชาติ ACMECS ทุกท่านพร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอจากภาคเอกชน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้แทนภาคเอกชนทุกท่านที่มาเข้าร่วมงานในวันนี้จะมีข้อเสนอที่น่าสนใจให้ภาครัฐได้รับไปพิจารณา
นายกฯ กล่าวว่า ประการที่สาม ภาคเอกชน ACMECS ต้องร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ประเทศไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับชาติ ACMECS โดยยึดหลักการพัฒนาที่ครอบคลุม มีพลังจากความร่วมมือที่เป็นเอกภาพ เพื่อให้ทุกฝ่ายมีความเข้มแข็งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ขอยืนยันว่า เราพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ โดยเฉพาะในหลักสูตรการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อย่างไรก็ดี การดำเนินการของภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาแต่เพียงฝ่ายเดียว อาจไม่เพียงพอที่จะผลักดันให้เกิดการกระจายความเจริญได้อย่างเป็นระบบ เพราะในสภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้น ภาคเอกชนจึงต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการกระจายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปยังท้องถิ่นให้ทั่วถึงด้วย
นายกฯกล่าวว่า ความจริงนั้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ภาคเอกชนของไทยจำนวนมาก มีความพร้อมที่จะเข้าไปลงทุนในชาติ ACMECS ซึ่งหากภาคเอกชนไทยและชาติสมาชิก ACMECS อื่น ๆ สามารถที่จะเชื่อมโยงการลงทุนได้อย่างเป็นระบบ และดำเนินโครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมกันของชาติ ACMECS แล้ว ก็จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการกระจายเม็ดเงินลงทุนภายในอนุภูมิภาค และนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กันไปด้วย ตนมีความเชื่อมั่นว่า ภาคเอกชนไทยสามารถเชื่อมต่อกับภาคเอกชนของชาติ ACMECS ทุกชาติได้ง่าย เพราะมีความใกล้ชิดกันทั้งในด้านภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ในขณะที่การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศนอกภูมิภาค กลับดูเหมือนจะเป็นได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ ในสภาวะที่มีกระแสนโยบายกีดกันทางการค้าที่รุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับในเวทีเศรษฐกิจโลก
นายกฯ กล่าวว่า นอกจากการร่วมมือกันพัฒนาชายแดน และส่งเสริมการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุตสาหกรรมการผลิตแล้ว ภาคธุรกิจที่สามารถเร่งรัดการพัฒนาให้เห็นผลได้ในทันที ได้แก่ การท่องเที่ยวภายในอนุภูมิภาค ACMECS และการจ้างงานแรงงานจากชาติสมาชิก ACMECS ในด้านการท่องเที่ยว ซึ่งประเทศไทยมีนโยบายที่เปิดกว้างในการรับแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยเฉพาะจากประเทศสมาชิก ACMECS ที่มีชายแดนติดกับไทย
โดยรัฐบาลไทยได้จัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรือ SEZ จำนวน 10 แห่ง ตามบริเวณแนวชายแดน สำหรับสร้างเป็นฐานการผลิตที่มีความเชื่อมโยงกับชาติสมาชิก ACMECS อีกทั้งยัง มีมาตรการการอำนวยความสะดวกในการจ้างงานแรงงานต่างด้าวในพื้นที่เหล่านี้ ตนจึงขอเชิญชวนภาคเอกชนและนักลงทุนต่างชาติ พิจารณาเข้ามาทำการลงทุนในพื้นที่ SEZ รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องพึ่งพาสายพานการผลิตหรือห่วงโซ่มูลค่าระหว่างประเทศ ACMECS
"รัฐบาลไทยขอยืนยันต่อชาติสมาชิก ACMECS และภาคเอกชนว่า ไทยมีนโยบายต้อนรับแรงงานต่างด้าวที่เดินทางมาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เราตระหนักดีถึงบทบาทของแรงงานเหล่านี้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ และพร้อมที่จะให้การดูแลแรงงานเหล่านี้ให้ได้รับสิทธิต่าง ๆ อย่างเป็นธรรม ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลไทยก็ได้เร่งรัดการปฏิรูปการจัดทำทะเบียนประวัติ และการขออนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าว เพื่อสร้างระบบการจ้างงานที่เป็นธรรม และป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ ผมขอความร่วมมือจากภาคเอกชน ให้ช่วยกำกับดูแลการจ้างงานให้มีความเป็นธรรม หลีกเลี่ยงการจ้างงานที่มีลักษณะเป็นการเอารัดเอาเปรียบ ไม่เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อให้แรงงานจากทุกชาติได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจของ ACMECS โดยเท่าเทียมกัน"พล.อ.ประยุทธ์กล่าว