เมืองไทย 360 องศา
เชื่อว่า คงเรียกเสียงฮือฮาโวยวายกันไม่น้อย สำหรับมาตรการใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำมาใช้อย่างเข้มงวดมากขึ้น โดยเน้นไปที่พวกที่ใช้โซเชียล หรือสื่อสังคมออนไลน์ที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่อ้างว่ามีความพยายามบิดเบือนสร้างความวุ่นวายให้เกิดโกลาหลในบ้านเมือง
สัญญาณดังกล่าวเริ่มเกิดขึ้นมาไม่นานมานี้ เมื่อทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ย้ำว่า จะบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว เนื่องจากเริ่มใช้สื่อโซเชียลบิดเบือนข้อเท็จจริง มีการตัดต่อภาพและเนื้อหาที่มีเจตนาโจมตีมากขึ้น
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ก็คือ การจับกุมแอดมินเพจถึงประเทศกัมพูชา จากการโพสต์ข้อความบิดเบือน หรือเป็นเท็จคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากกรณีน้ำมันราคาแพงโดย “บิดเบือนให้ไปเติมน้ำแทนน้ำมัน” และมีการส่งต่อกันในอินเทอร์เน็ต แน่นอนว่า เรื่องแบบนี้มันมีเจตนาใส่ร้าย ใช้ข้อความอันเป็นเท็จเพื่อสร้างกระแสเกลียดชังในบ้านเมือง เจตนาทำลายผู้นำประเทศอย่างชัดเจน แบบนี้ก็ไม่ต้องเอาไว้ ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย
ล่าสุด ก็มีการออกหมายจับและจับกุมคนไทยเพิ่มเติมอีกเป็นจำนวนถึง 29 คน ทั้งเป็นแอดมินเพจ konthai uk ที่เป็นคนไทยในอังกฤษ และคนไทยที่กดไลก์กดแชร์ข้อความในเพจดังกล่าวออกไป ซึ่งคนที่มีบทบาทสำคัญดำเนินการจับกุม ก็คือ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ที่ก่อนหน้านี้ก็ไปประสานจับกุมแอดมินเพจคนหนึ่งถึงประเทศกัมพูชา จากกรณีบิดเบือนคำพูดใส่ร้ายนายกรัฐมนตรีจากกรณีน้ำมันแพงดังกล่าว
แน่นอนว่า เรื่องแบบนี้หากทำผิดกฎหมายก็ว่ากันไป คงไม่มีใครไปก้าวก่ายตำหนิได้ แต่กรณีที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์มันก็ย่อมถูกมองว่าคาบเกี่ยวกับการเมือง นั่นคือ “มีเจตนากำจัดฝ่ายตรงข้าม” หรือ “ปิดปาก” ฝ่ายตรงข้ามไปในคราวเดียวกัน
ซึ่งมันก็ช่วยไม่ได้ที่จะต้องถูกมองและวิจารณ์แบบนั้น และยิ่งหากพิจารณาจากข่าวที่ปรากฏจากแอดมินเพจที่มีการออกหมายจับคนไทยในอังกฤษที่ว่านั้น ก็ปรากฏว่า มีการระบุว่าใส่ร้ายจากข้อความโจมตีในเรื่องการซื้อ “เรือเหาะ” และดาวเทียมทหารมูลค่ากว่า 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่าโครงการหลังนั้นมีการยืนยันจากกระทรวงกลาโหมแล้วว่ายังไม่มีการจัดซื้อ เป็นเพียงการศึกษาข้อดีข้อเสียและประโยชน์ในเบื้องต้นเท่านั้น และยังมีการขู่จะฟ้องนักเคลื่อนไหวบางคนที่นำข้อมูลดังกล่าวเปิดโปงตามมาอีกด้วย
สำหรับดาวเทียมทหารอาจพออนุโลมได้ว่ายังไม่เกิดขึ้นจริง เพราะมีการเปิดโปงเสียก่อนหรือไม่ หรือถ้าเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้รับรองว่าคงไม่ฉลาดนัก เนื่องจากคาดเอาไว้ล่วงหน้าได้เลยว่าจะต้องถูกถล่มยับเยินจนไปไม่รอด ทั้งคนที่ชงขึ้นมารวมไปถึงคณะรัฐมนตรีที่อนุมัตินั่นแหละ แต่เมื่อถอยออกมาแบบนี้ก็โอเค ส่วนที่ต้องวิจารณ์กันหน่อยก็คือเรื่อง “เรือเหาะ” มันมีหลักฐานคาตาว่า “ไม่คุ้มค่า” กับงบประมาณจัดซื้อและบำรุงรักษานับพันล้านบาท จนกระทั่งปลดระวางกันไปแบบที่กองทัพบกไม่อยากให้พูดถึงว่านี่คือความ “อัปยศ” ชิ้นหนึ่งในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์
หากพิจารณาจากโครงการดังกล่าวมันก็ย่อมอ่อนไหวสำหรับการวิจารณ์ และเป็นจุดอ่อนให้การเมืองฝ่ายตรงข้ามนำไปขยายผลได้ตลอดเวลา ซึ่งมันก็น่าจะเป็นเรื่องธรรมดา อีกทั้งหากพิจารณาทั้งคนจับ และคนที่สั่งให้จับมันก็ถูกมองว่าเป็น “เครือข่าย” เดียวกัน ถูกตั้งข้อสังเกตว่าขมีขมันเอาจริงเอาจังกับเรื่องที่จะทำให้ “นายตัวเองเดือดร้อน” เช่น ลงทุนเดินทางไปจับกุมแอดมินเพจถึงกัมพูชา จนถูกตั้งคำถามว่าทีเว็บอื่นๆ ที่ทำผิดเกลื่อนเมือง มีความกระตือรือล้นแบบนี้หรือไม่
กรณีเข้มงวดเอาผิดกับสื่อออนไลน์ แอดมินเพจที่กระทำผิดย่อมเป็นเรื่องที่อธิบายได้ และสมควรทำตามกฎหมาย แต่อีกด้านหนึ่งก็น่าห่วงว่านี่คือเจตนา “กวาดฝ่ายตรงข้าม” หรือปิดปากอีกฝ่ายโดยอ้างความมั่นคง อ้างกฎหมายบางอย่างไปในคราวเดียวกัน ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งมันก็อาจสร้างความเกลียดชังเพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็คือ รัฐบาล และ คสช. นั่นแหละซึ่งเรื่องแบบนี้มันอ่อนไหวนัก!!