xs
xsm
sm
md
lg

ส่งศาล รธน.วินิจฉัยพันธมิตรฯ ชุมนุมหน้ารัฐสภาปี 51 อัยการมีอำนาจฟ้อง-ศาลอาญามีอำนาจพิจารณาคดีหรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายประพันธุ์ คูณมี(แฟ้มภาพ)
ศาลอาญาส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีที่แกนนำพันธมิตรฯ ถูกฟ้องกรณีชุมนุมหน้ารัฐสภาเมื่อปี 51 หลัง “ประพันธุ์ คูณมี” ยื่นคำร้องคัดค้านว่าอัยการไม่มีอำนาจฟ้องและศาลอาญาไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีเพราะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพที่ รธน.ให้สิทธิคุ้มครอง

วันนี้ (11 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ศาลอาญาได้นัดสืบพยานจำเลยในคดีดำเลขที่ อ.4924/2555 พ่วงคดีดำที่ อ.275/2556 ระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 กับนายสนธิ ลิ้มทองกุล กับพวกรวม 21 คน ในคดีที่ถูกฟ้องจากกรณีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่หน้ารัฐสภาเมื่อปี 2551

ขณะเดียวกัน ศาลอาญาได้พิจารณาแล้วเห็นสมควรให้ส่งคำร้องขอของ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 5 ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำร้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 212 และมาตรา 213 วินิจฉัยตามกฎหมายต่อไป และระหว่างนี้ให้พิจารณาสืบพยานคดีนี้ไปก่อน หากสืบพยานจำเลยทั้ง 26 ปากแล้วเสร็จ และศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัยออกมา ศาลก็จะจำหน่ายคดีนี้ไว้ชั่วคราวเพื่อรอฟังผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 8 พ.ค. นายประพันธ์ คูณมี ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาในคดีดังกล่าวที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 20 คน ที่เป็นแกนนำและผู้ร่วมชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชาชนเพื่อประชาธิปไตยว่าการชุมนุมเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2551 ถึง 3 ธ.ค. 2551 เป็นการชุมนุมโดยมิชอบ มีความผิดตามกฎหมายอาญาหลายมาตรา

โดยคำร้องของนายประพันธุ์ คูณมี ขอศาลอาญาส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง และศาลอาญาไม่มีอำนาจพิจารณาคดีเพราะเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนตามรัฐธรรมนูญและเป็นการใช้บทบัญญัติกฎหมาย การกระทำที่ขัดและแย้งต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

“เวลานี้ศาลอาญาได้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว นับว่าเป็นความกรุณาเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมแก่จำเลยอย่างยิ่งครับ ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะผูกพันทุกองค์กร และนี่เป็นกรณีแรกที่ประชาชนใช้สิทธิต่อสู้ทางคดี ตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องติดตามผลการวินิจฉัยนี้ อาจพลิกประวัติศาสตร์ทางกฎหมายและทางการเมืองได้” นายประพันธุ์ระบุ

ทั้งนี้ ในคำร้องโต้แย้งของนายประพันธุ์ คูณมี มีเนื้อหาโดยสรุปว่า การตั้งข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวนและโจทก์มีคำสั่งฟ้องจำเลยเป็นการกระทำขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ปี 50 มาตรา 6 ที่บัญญัติว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ซึ่งกฎหมายหรือบทบัญญัติอื่นจะขัดหรือแย้งไม่ได้ และเป็นการละเมิดต่อสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญให้สิทธิรับรอง

ขณะเดียวกัน บทบัญญัติดังกล่าวยังได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 60 ในมาตรา 212 และมาตรา 213 อีกด้วย โดย มาตรา 212 ระบุว่า “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้”

(รายละเอียดคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดี อ.4924/2555)

(รายงานกระบวนการศาลอาญา คดี อ.4924/2555)
























รายงานกระบวน ศ.อาญา อ.4924-55 (พนง.อัยการ-นายสนธิ)
รายงานกระบวน ศ.อาญา อ.4924-55 (พนง.อัยการ-นายสนธิ)
รายงานกระบวน ศ.อาญา อ.4924-55 (พนง.อัยการ-นายสนธิ)


กำลังโหลดความคิดเห็น