“ชาญชัย” ฟ้องบอร์ด ทอท.ฐานให้บริษัทเอกชนเช่าพื้นที่สุวรรณภูมิฐานทำรัฐ-ผู้ถือหุ้น เสียหายกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท พร้อมจ่อฟ้อง กสทช.และ 3 บริษัทมือถือที่ปล่อยให้มีการคิดค่าบริการเกินกว่าที่ กม.กำหนด จี้ “บิ๊กตู่” เร่งแก้ไข ขู่หากยังเฉยอาจถูกฟ้องด้วย
วันนี้ (3 พ.ค.) นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการทุจริตในการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) ว่ามีประเด็นเกี่ยวกับการบริหารงานของคณะกรรมการบริหารการท่าอากาศยานฯ (บอร์ด ทอท.) โดยจะดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลทุจริตกลาง กรณีที่บอร์ด ทอท.ไปอนุมัติเยียวยาให้บริษัทเอกชน อ้างเหตุกรณีเสื้อแดงเผาเมืองเมื่อปี 2553 และอ้างว่าบริษัทเอกชนต่างๆ ที่เช่าพื้นที่ภายในสนามบินได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้มีนักท่องเที่ยวลดลง รวมเป็นเงินเสียหายมูลค่าประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท
สาเหตุมาจากการเลื่อนจ่ายเงิน (ค่าผลประโยชน์ตอบแทนและลดรายได้ตัวเองลงนานถึง 6 ปี) และมีมติบอร์ด ทอท. ขัดกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไปทำการต่อสัญญาให้กับผู้รับอนุญาตขายสินค้าปลอดอากรเป็นเวลา 4 ปีโดยไปลดรายได้ของตัวเอง (ทอท.) ลงอีกปีละ 2-3% นานถึง 6 ปี และให้บริษัทเอกชนสามารถขนายเวลาขายสินค้าและบริการในสนามบินสุวรรณภูมิอีก 2 ครั้ง รวมระยะเวลา 4 ปี
“ผมจึงจะดำเนินการฟ้องบอร์ด ทอท.ฐานใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ และผู้ถือหุ้น รวมถึงตัวการผู้สนับสนุนที่เกี่ยวข้องที่ลงมติอนุมัติครั้งนั้น โดยขอให้ยึดเงินเข้าแผ่นดิน ซึ่งจะเป็นการฟ้องในคดีที่ 2 จากจำนวน 5 คดีที่จะฟ้อง ทั้งนี้ ตนจะทำหนังสือแจ้งข้อเท็จจริงให้นายกรัฐมนตรีให้ทราบอย่างเป็นทางการเพื่อสั่งการหน่ยงานที่เกี่ยวข้องและแก้ไขให้ถูกต้อง ในฐานะผู้มีอำนาจและหน้าที่ต่อไป และหากนายกฯยังไม่เร่งแก้ไขปัญหา หรือเพิกเฉยก็อาจจะฟ้องนายกฯ ด้วยเช่นกัน” นายชาญชัยกล่าว
นายชาญชัยยังกล่าวถึงการทำงหน่วยงานของรัฐ คือ กสทช. มีการกระทำอันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทเอกชน โดยรู้เห็น ปล่อยปละละเลยให้มีการคิดค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เกินกว่าที่กฎหมายและประกาศของ กสทช.กำหนด สร้างความเดือดร้อนและเสียหายแก่ประชาชนจำนวนมาก นับแต่ได้รับใบอนุญาตจนถึงปัจจุบันมีมูลค่าความเสียหายเกิดขึ้นกับประชาชนหลายสิบล้านคน และเกี่ยวข้องกับหมายเลขโทรศัพท์ประมาณ20 ล้านเลขหมายเป็นเงินเสียหายที่เตรียมการจะฟ้องเรียกคืนให้ประชาชนผู้บริโภคจากทั้ง 3 บริษัทผู้ประกอบการ คือ บ.ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น (เครือทรู) บ.แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค (เครือ เอไอเอส) และ บ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (เครือดีแทค) ค่าเสียหายคิดราคาเกินจริงกว่าที่ประกาศ กสทช.กำหนด ประมาณเดือนละ 4,000 ล้านบาท (รวม 22 เดือน 88,000 ล้านบาท)
เหตุเกิดหลังการลงนามในสัญญามีคำสั่ง กสทช.เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2559 เรื่องอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ให้บริการบนคลื่นความถี่สำหรับการประกอบกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ และย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ หรือค่าโทรศัพท์ไม่เกิน 69 สตางค์ต่อนาที รวมค่าเสียหายของประชาชนเป็นมูลค่า 88,000 ล้านบาท และต้องคิดตามอัตราความเป็นจริงซึ่งเป็นเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา
“แต่ กสทช.ละเว้นการควบคุมและมุ่งให้ประโยชน์ต่อทั้ง3 บริษัทผู้ประกอบการ โดยผู้มีอำนาจหน้าที่มิได้รักษากฎหมายและผลประโยชน์ของประเทศ หรือทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน โดยสร้างความเดือดร้อนเสียหายมากมายมหาศาล ซึ่งเคยมีกรณีคดีเปรียบเทียบที่ศาลคดีทุจริตกลางเคยมีคำพิพากษาไว้ว่าในหลักความผิดคล้ายกันในคดีที่นายสุธรรม มะลิลา อดีต ผอ.ทศท. ได้แก้ไขสัญญาให้ บ.เอไอเอสได้ประโยชน์ โดยการใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งโดยทุจริต คอร์รัปชั่น ก่อให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานรัฐ คือ ทศท.ในขณะนั้น
ทั้งนี้ ตนจะทำหนังสือแจ้งข้อเท็จจริงให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ทราบอย่างเป็นทางการเพื่อสั่งการแก้ไข ในฐานะผู้มีอำนาจและหน้าที่ต่อไป ซึ่งหากนายกฯยังเพิกเฉยปล่อยให้มีการเพิกเฉยก็มีสิทธิถูกฟ้องฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ปล่อยให้มีการทุจริตไปด้วย ซึ่งนับจากสัปดาห์นี้ตนจะแถลงข่าวกรณีทุจริตที่เกิดในรัฐบาลนี้และในอดีตอย่างต่อเนื่องอีกร่วม10 เรื่องให้สังคมและนายกฯ รับทราบ และพร้อมจะส่งเรื่องฟ้องศาลทุจริตกลางในฐานะผู้เสียหายและภาคประชาชนต่อไป” นายชาญชัยกล่าว