xs
xsm
sm
md
lg

ปรับสูตรสู้คดีปกครอง สลค.รับมือ “นายกฯ-ครม.” ถูกฟ้อง ย้ำ! สู้คดี “ขาดอายุความ” อย่าเอาเปรียบเอกชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ไฟเขียว สลค.ปรับแนวทางสู้คดีทางปกครอง รับมือ “นายกฯ-รองนายกฯ-ครม.” ถูกฟ้องคดีในศาลปกครอง พร้อมปรับแนวทางสู้คดีทางแพ่งให้ส่วนราชการ ปรับแนวทางสู้คดีอาญาเอาผิดคู่ขัดแย้ง หรือถูกเอกชนฟ้องกับราชการส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน ย้ำ! “คดีขาดอายุความ” ไม่ควรดำเนินการในลักษณะเอารัดเอาเปรียบเอกชน

วันนี้ (3 พ.ค.) แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแนวทางตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอปรับปรุงแนวทางเกี่ยวกับการดำเนินคดีแพ่งและคดีปกครอง รวมทั้งองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไว้โดยเฉพาะแล้ว ภายหลังมีการประกาศใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพิจารณาชี้ขาดการยุติข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐและการดำเนินคดี พ.ศ. 2561 ที่มีผลใช้บังคับแล้ว

ระเบียบดังกล่าวได้กำหนดแนวทางเกี่ยวกับการดำเนินคดีแพ่งและคดีปกครอง รวมทั้งองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไว้โดยเฉพาะแล้ว เพื่อให้มติคณะรัฐมนตรี มีความชัดเจนและไม่ซ้ำซ้อนกับระเบียบดังกล่าว ตามที่ได้ยืนยัน/แจ้งมติคณะรัฐมนตรี (12 ธันวาคม 2549 และ 23 มกราคม 2550) เกี่ยวกับเรื่องการยุติการดำเนินคดีอาญา คดีแพ่ง และคดีปกครอง และมติคณะรัฐมนตรี (9 มิถุนายน 2558 และ 18 เมษายน 2560) เรื่องการยุติการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมติคณะรัฐมนตรี (25 สิงหาคม 2554) เกี่ยวกับแนวทางในการดำเนินคดี ในศาลปกครอง

โดย ครม.เห็นชอบให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2549 (เรื่อง การปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีเรื่อง การดำเนินคดีอาญา คดีแพ่ง และคดีปกครอง) มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2550 (เรื่อง แนวทางในการดำเนินคดีอาญา คดีแพ่ง และคดีปกครอง) และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2558 และ 18 เมษายน 2560 (เรื่องการยุติการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง) และเห็นชอบแนวทางในการดำเนินคดีของราชการส่วนกลาง ราชการ ส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาซน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ดังนี้

1. การดำเนินคดีอาญา เมื่อมีการกระทำความผิดทางอาญาต่อราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ให้แจ้งความร้องทุกข์ให้พนักงาน สอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ไม่สมควรว่าจ้างทนายความยื่นฟ้องคดีอาญาต่อผู้กระทำความผิดเอง ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐดังกล่าวถูกเอกชนฟ้องเป็นคดีอาญา ให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการแก้ต่างคดี ถ้าพนักงานอัยการปฏิเสธหรือขัดข้องในการรับแก้ต่าง ให้หน่วยงานของรัฐดังกล่าวมีสิทธิ ว่าจ้างทนายความดำเนินคดีได้

2. การดำเนินการเกี่ยวกับข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐ กรณีคดีใกล้ขาดอายุความ เมื่อมีข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐ ให้หน่วยงานของรัฐใช้ความระมัดระวัง ในการดำเนินคดีเพื่อมิให้คดีขาดอายุความหรือพ้นกำหนดเวลาฟ้องคดี และในกรณีที่ต้องมีการดำเนินการ เกี่ยวกับการเบิกจ่ายงบประมาณ เนื่องจากงบประมาณไม่เพียงพอ หากคดีใกล้ขาดอายุความ หรือใกล้พ้นกำหนดเวลาฟ้องคดีและยังไม่สามารถส่งข้อพิพาทไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดได้ให้หน่วยงานของรัฐ ที่เกี่ยวข้องจัดให้มีการรับสภาพหนี้เพื่อมิให้เกิดความเสียหายขึ้น

3. การดำเนินคดีที่ขาดอายุความ กรณีคดีขาดอายุความแล้ว แต่หน่วยงานของรัฐ ยังยืนยันให้พนักงานอัยการดำเนินคดีให้ ทั้งที่เห็นได้ล่วงหน้าว่าหากดำเนินคดีต่อไปก็มีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ กล่าวคือ เสียค่าใช้จ่าย เสียเวลา เสียกำลังคนในการปฏิบัติงานโดยเปล่าประโยชน์ อีกทั้งการดำเนินคดีของรัฐ ไม่ควรดำเนินการในลักษณะที่เอารัดเอาเปรียบเอกชนด้วยการคาดหวังว่า เอกชนอาจไม่ยกอายุความขึ้นต่อสู้คดี เพราะความไม่รู้กฎหมายหรือความหลงลืม หรืออาจขาดนัดยืนคำให้การ หรือขาดนัดพิจารณา เพราะมีผลให้ การอำนวยความยุติธรรมของรัฐขาดความน่าเชื่อถือ ดังนั้น หน่วยงานของรัฐจึงไม่ควรนำคดีที่ขาดอายุความแล้ว ส่งให้พนักงานอัยการดำเนินการต่อไป

แหล่งข่าวระบุว่า ครม.ยังมีมติให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2554 (เรื่องการกำหนดหลักการ และปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการดำเนินคดีในศาลปกครอง กรณีคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถูกฟ้องคดีในศาลปกครอง) และเห็นชอบแนวทางในการดำเนินคดีในศาลปกครอง กรณีคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถูกฟ้องคดีในศาลปกครอง ดังนี้

1. มอบอำนาจในการดำเนินคดีปกครองในนามคณะรัฐมนตรีในศาลปกครอง ให้พนักงานอัยการเป็นผู้ว่าต่างแก้ต่างในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ฟ้องคดี หรือผู้ถูกฟ้องคดีปกครองทุกศาล และทุกขั้นศาลปกครองจนกว่าคดีถึงที่สุด และให้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใดได้ทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นไปในทางจำหน่ายสิทธิหรือไม่ก็ตาม เช่น การยอมรับตามที่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง การถอนฟ้อง การประนีประนอมยอมความ การสละสิทธิหรือใช้สิทธิในการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด หรือในการขอให้พิจารณาคดีใหม่ ตลอดจนให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงให้นิติกรไปดำเนินการใดๆ แทน

2. กรณีคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถูกฟ้องคดีปกครองในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมติคณะรัฐมนตรี และไม่มีหน่วยงานเจ้าของเรื่อง โดยตรงให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในการนำคำสั่งศาลปกครองที่ให้ทำคำให้การแก้คำฟ้อง เสนอนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายมีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป โดยให้ถือเป็นมติคณะรัฐมนตรีและไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ให้ประสานงานกับสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรวบรวมความเห็นแล้วยกร่างคำให้การยื่นต่อศาลปกครอง และดำเนินการหรือประสานงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีต่อไป

3. กรณีนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถูกฟ้องคดีปกครองในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับมติคณะรัฐมนตรีและไม่มีหน่วยงานหรือผู้รับผิดชอบโดยตรง ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบในการนำคำสั่งศาลปกครองที่ให้ทำคำให้การแก้คำฟ้อง เสนอนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายมีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ทั้งนี้ให้ประสานกับสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมความเห็นแล้วยกร่างคำให้การยื่นต่อศาลปกครอง และดำเนินการหรือประสานงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น