xs
xsm
sm
md
lg

“ยธ.- กรมบังคับคดี” จัดประชุมคองเกรสนานาชาติของสภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศ ครั้งที่ 23

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - กระทรวงยุติธรรมและกรมบังคับคดี ร่วมกับสภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศ (UIHJ) เปิดการประชุมคองเกรสนานาชาติครั้งที่ 23 ภายใต้หัวข้อ “หลักประกันความยุติธรรมที่มั่นคงและยั่งยืน”

วันนี้ (2 พ.ค.) เวลา 10.15 น. ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานพิธีเปิดและกล่าวเปิดการประชุมคองเกรสนานาชาติของสภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศ ครั้งที่ 23 โดย กระทรวงยุติธรรมและกรมบังคับคดี ร่วมกับสภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศ (UIHJ) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ภายใต้หัวข้อ “หลักประกันความยุติธรรมที่มั่นคงและยั่งยืน เจ้าพนักงานบังคับคดี องค์ประกอบสำคัญของหลักธรรมาภิบาล” ซึ่งมี น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี พร้อม สมาชิกสภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศกว่า 50 ประเทศ ผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียน ผู้บริหารจากองค์กรระหว่างประเทศ นักวิชาการ ผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม ผู้บริหารและผู้แทนศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด ฯลฯ ประมาณ 400 คน เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้

น.ส.รื่นวดี กล่าวว่า การจัดการประชุมคองเกรสนานาชาติของสภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศ ครั้งที่ 23 ระหว่างวันที่ 1 - 4 พ.ค. 2561 เป็นไปตามมติที่ประชุมสภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศ ในการประชุมคองเกรสนานาชาติ ครั้งที่ 22 ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน พ.ศ. 2558 ที่ได้มีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ให้การประชุมคองเกรสนานาชาติ ครั้งที่ 23 จัดขึ้น ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย

โดยกระทรวงยุติธรรมและกรมบังคับคดีร่วมกับสภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศ (UIHJ) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ตามที่กระทรวงยุติธรรม โดยกรมบังคับคดีได้สมัครแข่งขันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าว และได้นำเสนอความพร้อมและศักยภาพของประเทศไทยในการจัดการประชุมระดับนานาชาติ ซึ่งถือว่าเป็นการจัดการประชุมคองเกรสนานาชาติของสภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศ (UIHJ) ในประเทศไทยและทวีปเอเชียเป็นครั้งแรกในรอบ 66 ปี

พล.อ.อ ประจิน เปิดเผยว่า การประชุมคองเกรสนานาชาติ ครั้งที่ 23 ที่จัดขึ้นในประเทศไทยถือเป็นเวทีการประชุมนานาชาติที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีแพ่งของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งที่เป็นเอกชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ระหว่างกันในประเด็นที่สำคัญและประเด็นที่มีความท้าทายต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับโลกาภิวัฒน์และดิจิทัล เพื่อกำหนดแนวทางปฎิบัติที่ดีรองรับพัฒนาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบังคับคดีมีความเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และพัฒนาวิชาชีพเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ถือเป็นกลไกสำคัญกลไกหนึ่งในการอำนวยความยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม เสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุน และสร้างหลักประกันความยุติธรรมที่มั่นคงและยั่งยืนให้กับประเทศ รวมทั้งการประชุมครั้งนี้ เป็นการเสริมสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ปฏิบัติงานด้านการบังคับคดีจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก

“สำหรับประเทศไทย รัฐบาลได้กำหนดวิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อนำประเทศไปสู่ความ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน และเป็นประเทศที่พัฒนาด้วยการนำหลักตามปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง โดยรัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการปฎิรูปประเทศ ซึ่งกระทรวงยุติธรรม โดยกรมบังคับคดีได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งที่มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 5 ก.ย.2560 โดยมีหลักการเพื่อปรับปรุงบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ลดขั้นตอนการบังคับคดี ปรับปรุงกระบวนการบังคับคดีให้ง่าย สะดวก รวดเร็ว เป็นธรรม และประหยัดค่าใช้จ่าย รองรับประเภทของทรัพย์สินประเภทใหม่ๆ ทั้งที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่าง ลดโอกาสในการใช้ช่องทางกฎหมายเพื่อการประวิงคดี และกำหนดให้มีมาตรการคุ้มครองคู่ความและบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้อง” พล.อ.อ ประจิน กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น