เมืองไทย 360 องศา 18
เห็นอาการเคลื่อนไหวเวลานี้ของแต่ละกลุ่มการเมือง รวมไปถึงพรรคการเมืองใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย และ พรรคประชาธิปัตย์ ก็ทำให้พอมองเห็นแนวโน้มการเมืองนับจากนี้ไปจะต้องออกไปทางเดือดพล่านกว่าเดิมแน่นอน
ที่เห็นแววอยู่ตรงหน้าชัดเจนแล้ว ก็คือ ในเดือนพฤษภาคม คือ เดือนถัดไปจากเดือนเมษายน ซึ่งเป็นวันครบรอบ 4 ปี ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เวลานี้ทางฝ่ายตรงข้ามกำลังบิวท์อารมณ์กันอย่างเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ โดยสังเกตเห็นความเคลื่อนไหวมาตั้งแต่สองสามเดือนที่แล้ว และมาหยุดเว้นวรรคเอาไว้ชั่วคราวในช่วงหยุดเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมานี่เอง และคาดว่า กำลังจะเริ่มกันใหม่ทันที
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากภาพความเคลื่อนไหวที่เป็นอยู่ในเวลานี้ตามสภาพความเป็นจริงแล้วยังถือว่า “เงื่อนไข” ยังไม่ได้ หรือไม่สุกงอมพอ ทางหนึ่งอาจเป็นเพราะทางฝ่ายรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พยายามปิดจุดอ่อนอย่างเต็มที่ แม้ว่าเมื่อเวลาผ่านไปก็มีจุดอ่อนออกมาให้เห็นเรื่อยๆ แต่ก็ถือว่าหากไม่ “พลาด” ไปมากกว่านี้ก็ยังประคองไปได้อีกระยะหนึ่ง
ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งเมื่อพิจารณาจากฝ่ายต่อต้านก็ถูกมองว่า “มีวาระซ่อนเร้น” ไม่ใช่พลังบริสุทธิ์อย่างแท้จริง เป็นเพียงการเคลื่อนไหวเพื่อหวังผลทางการเมืองให้ฝ่ายการเมือง “อีกขั้วหนึ่ง” เท่านั้น และที่ผ่านมา ก็ถูกมองว่า ยัง “ไร้เดียงสา” หรือ “กระจอก” เกินไป ยังสร้างพลังหรืออารมณ์ร่วมจากสังคมส่วนใหญ่ได้ไม่มากพอ
หากมองกันตามความเป็นจริงกลุ่มการเมืองที่ออกมาเคลื่อนไหวเวลานี้แทบทั้งหมดล้วนเป็นแนวร่วมของเครือข่ายพรรคเพื่อไทยที่สนับสนุนครอบครัวชินวัตร ของ ทักษิณ ชินวัตร ที่สรุปกันง่ายๆแบบว่า “การเลือกตั้งคือประชาธิปไตย” แบบที่คนพวกนี้กำลังรณรงค์กันอยู่
แน่นอนว่า การเลือกตั้งก็คือประชาธิปไตย แต่รับรองว่ามันไม่ใช่ทั้งหมด มันต้องมีองค์ประกอบเรื่องอื่นเข้ามาด้วย เหมือนกับระบบ “เสียงข้างมาก” ที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย หรือมีประโยชน์เสมอไป เพราะหากเสียงข้างมากที่เลว ไม่ได้รักษาประโยชน์ของคนส่วนใหญ่มันก็คือ “เผด็จการ” ที่รักษาประโยชน์ของคนเฉพาะกลุ่มนั่นแหละ เพียงแต่ว่าเข้ามาโดยการแอบอ้างประชาชนเท่านั้น
สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองและพรรคการเมืองในเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคใหญ่หลักๆ ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ พิจารณาตามไทม์ไลน์ที่พวกเขาหวังผลมีเป้าหมายไปสู่การเลือกตั้งที่กำหนดเอาไว้คร่าวๆ เวลานี้ ว่า น่าจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า (ปี 2562) เมื่อนับนิ้วดูแล้วมันก็ใกล้เข้ามาทุกที ก็ต้องทำแต้ม ก็ต้องเร่งโหมโจมตีหรือดิสเครดิตให้ได้มากที่สุด
ขณะที่พรรคเพื่อไทยแม้ว่าในภาพใหญ่จะเคลื่อนไหวไม่ต่างจากพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ยังมีแนวร่วมจากฝ่ายมวลชนที่เกาะติดกันมานานออกมาร่วมวงเคลื่อนไหวควบคู่กันไปด้วย
อีกด้านหนึ่งสำหรับรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มองภาพได้ชัดแล้วว่ายังต้อง “รักษาอำนาจ” เอาไว้ให้นานที่สุด ซึ่งแบบนี้แหละก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะ และทำให้การเมืองจะเริ่มเดือดขึ้นไปเรื่อยๆ ตามเงื่อนไข และ “สิ่งเร้า” ต่างๆ ที่ต้องเร่งสร้างกันขึ้นมา
อย่างที่บอกตั้งแต่ต้นแล้วว่า ตั้งแต่เดือนเมษายนต่อเนื่องไปจนถีงเดือนพฤษภาคมที่เป็นวันครบรอบ 4 ปีของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 22 พฤษภาคม ที่จะถึงนี่แหละ ที่ตอนนี้เริ่มมีการเคลื่อนไหวชุมนุมใหญ่ของบางกลุ่มการเมือง แต่เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในเวลานี้มันยังถือว่ายังไม่มีอารมณ์ร่วม อีกทั้งเมื่อมีการกำหนดวันเลือกตั้ง และยืนยันกันว่า ยังเดินไปตามโรดแมปมันก็ไม่ได้สร้างเงื่อนไขเพิ่ม แต่ในทางตรงกันข้ามเมื่อใดก็ตามที่ได้เห็นความไม่ชอบมาพากล นั่นแหละถึงจะป่วน
ขณะเดียวกัน แม้ว่า เวลานี้ทั้งรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเริ่มอยู่ในภาวะ “ขาลง” แต่ก็ถือว่าโดยรวมยัง “ลงแบบช้าๆ” ยังกุมสภาพโดยรวมได้อยู่ และยังมีโอกาสทำแต้มได้มากกว่าเดิม หากการลุยล้างทุจริตแบบไม่ลูบหน้าปะจมูก หรือมาตรการในการแก้ปัญหาปากท้องในช่วงเวลาที่เหลือมำได้เข้าตาชาวบ้านมากกว่าเดิม ที่สำคัญ “อย่าให้พลาด” ซ้ำขึ้นมาอีกก็แล้วกัน เพราะไม่มีโอกาสแก้ตัวแล้ว !!