“บัณฑูร” เผยไทยตั้งศาลสิ่งแวดล้อมปี 65 พร้อมเร่งหาพื้นที่ทำแผนปฏิบัติการสิ่งแวดล้อม หลังแผนปฎิรูปมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายแล้ว
วันนี้ (15 เม.ย.) นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ โฆษกคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงความคืบหน้าในการทำแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรฯ ภายหลังจากที่ประกาศใช้แล้วว่า คณะกรรมการกำลังเริ่มหาพื้นที่ปฏิบัติการ เพื่อปฏิบัติตามแผนปฏิรูป เช่น น้ำ ป่าไม้ เขตควบคุมมลพิษ ผังเมือง รวมถึงเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยในเรื่องป่า จะใช้พื้นที่ จ.น่าน จ.แม่ฮ่องสอน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ส่วนเรื่องเขตควบคุมมลพิษ ดูพื้นที่ไว้ คือ ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี ที่มีปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กจากกิจกรรมเหมืองหินและโรงโม่หิน พื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งจะต้องมีการแก้ปัญหาให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ รวมไปถึงในเรื่องการยกเลิกใช้สารเคมีการเกษตรบางชนิดที่เป็นอันตราย มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมด้วย สำหรับในเรื่องการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือการประเมินยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืน (SEAs) เราจะใช้เคสของพลังงานภาคใต้ เพื่อตอบโจทย์ปัญหาโรงไฟฟ้า จ.กระบี่ และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา เป็นต้น
โฆษกคณะกรรมการ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสำคัญคือระบบยุติธรรมสิ่งแวดล้อม ที่ส่วนหนึ่งจะมีการตั้งศาลสิ่งแวดล้อม ในปีที่ 4 หลังจากแผนปฏิรูปมีผลบังคับใช้ คือ ประมาณปี 2565 ซึ่งในช่วงปี 1 - 2 จะเป็นการสร้างความรู้ การอบรมเตรียมความพร้อมบุคลากรที่เกี่ยวข้องเกี่ยวในด้านการประเมินความเสียหาย และการสืบสวนด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ขอยกตัวอย่างว่า หากมีการตั้งศาลสิ่งแวดล้อม กรณีการยิงเสือดำ ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ก็จะมีระบบการประเมินมูลค่าความเสียหายที่เหมาะสม เป็นต้น
โฆษกคณะกรรมการ กล่าวต่อว่า ในเรื่องการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามแผนการปฏิรูปนี้ ทางคณะกรรมการฯจะได้ทำงานร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่เป็นหน่วยงานหลัก โดยพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทส. ได้ตั้งสำนักงานบูรณาการแผนปฏิรูปประเทศ ให้ปลัด ทส. เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ซึ่งการปฏิรูปในแต่ละด้านจะมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในแต่ละปีด้วย ซึ่งในช่วงปีที่ 1 - 2 จะเป็นการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยและทันต่อเหตุการณ์ เช่น พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เป็นต้น
“ภายใต้แผนปฏิรูปสิ่งแวดล้อมเราใช้กรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 17 เป้าหมายเป็นกรอบในการทำแผนทุกเป้าหมาย โดยจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนแผนพร้อมๆกับการรักษาฐานทรัพยากรสิ่งแวดล้อมให้การพัฒนาประเทศเกิดขึ้นโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และคุณภาพชีวิต” โฆษกคณะกรรมการ กล่าว