xs
xsm
sm
md
lg

ทำดีต้องชม!! “ฐากร”รู้จักแก้ไข ปรับจุดอ่อน-ไม่ซ้ำรอยเก่า ปิดประตูตาย “JAS” ร่วมประมูลคลื่นรอบใหม่ คสช.ช่วยแน่ แต่ไม่ผลีผลาม จะใช้ ม.44 ทั้งที “อุตสาหกรรม-รัฐ-ผู้บริโภค”ต้องวินทุกฝ่าย **“หมู่บ้านป่าแหว่ง”ถูกต้อง แต่ไม่เหมาะสม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: นกหวีด


ข่าวปนคน คนปนข่าว



**ทำดีต้องชม!! “ฐากร”รู้จักแก้ไข ปรับจุดอ่อน-ไม่ซ้ำรอยเก่า ปิดประตูตาย “JAS” ร่วมประมูลคลื่นรอบใหม่ คสช.ช่วยแน่ แต่ไม่ผลีผลาม จะใช้ ม.44 ทั้งที “อุตสาหกรรม-รัฐ-ผู้บริโภค” ต้องวินทุกฝ่าย


ปล่อยให้ลุ้นกันอีกสัปดาห์ .. เมื่อ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ยังไม่จรดปากกาเซ็นคำสั่ง ม.44 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล-ค่ายโทรศัพท์มือถือ ตามที่ กสทช.ชงค้างไว้ .. โดยมอบหมายให้ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พินิจพิเคราะห์มิติต่างๆ รวมทั้งต้องไขปมปัญหาที่ “ทีดีอาร์ไอ”แสดงความเป็นห่วงไว้อย่างรอบคอบ .. แม้รู้ว่าการตวัดลายเซ็นต์หนนี้ จะเป็นการ “ผ่าทางตัน”เพื่ออุตสาหกรรมทั้ง 2 แขนง แต่พอมีข้อหา“เอื้อนายทุน”ค้ำคออยู่ ก็ต้องตรองให้หนัก .. ไม่ผลีผลาม แบบนี้น่าจะเป็นคำสั่ง ม.44 ที่ทรงคุณค่าที่สุดฉบับหนึ่งเลยทีเดียว .. ถอดรหัสความเห็นของ “เลขาฯน้อย”ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ปล่อยความคิดอ่านมาตลอดในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็เชื่อว่า ม.44 งวดนี้ มาช้า แต่มาชัวร์ ด้วยมีเดิมพัน “เดดล็อก”ของฝั่งโทรคมนาคม คอยท่าอยู่ .. เมื่อคำสั่ง ม.44 ใกล้ได้บทสรุป ทีนี้ก็ขยับไปภารกิจที่สำคัญกว่า อย่างการประมูลคลื่นความถี่ 900 และ 1800 MHz รอบใหม่ .. โดยจะให้ “บอร์ด กสทช.รักษาการ”เคาะหลักเกณฑ์การประมูลส่งท้ายเก้าอี้ ในวันที่ 11 เม.ย.นี้ .. ด้วยหลังวันที่ 19 เม.ย. สนช.น่าจะโหวตเลือก 7 บอร์ด กสทช.ชุดใหม่ แล้วเสร็จ ก็มารับไม้คุมการประมูลต่อไป ..
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ และ พิชญ์ โพธารามิก
การประมูลรอบใหม่ กสทช. ต้องให้ความสำคัญกับคลื่น 1800 MHz ก่อน ด้วยเป็นย่านความถี่ ที่ “DTAC”กำลังจะหมดสัมปทานในเดือนกันยายนนี้ .. แล้วก็ต้องไม่ลืมปรบมือแซ่ซ้อง “เลขาฯน้อย”ที่รู้จักแก้ไขปรับจุดอ่อน ไม่ปล่อยให้ซ้ำรอยเก่า .. ออกปากชัดเจน“ปิดประตูตาย” บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด (JAS)ของ พิชญ์ โพธารามิก ต้องอดเข้ามาปั่นป่วนวงการอีกครั้งไปตามระเบียบ .. ด้วยมี “ตราบาป”ที่ปั่นราคาประมูลครั้งที่แล้ว จน“สูงเกินจริง” หากมีชื่อ JAS โผล่มาอีก โอเปอร์เรเตอร์รายอื่นคงเซย์กู๊ดบาย .. อันที่จริงชี้เป้าความผิดกันขนาดนี้แล้ว ก็น่าจะมีมาตรการอะไรไปไล่เบี้ยเอาผิดกับ JAS ที่ก่อความเสียหายให้แวดวงโทรคมนาคม จนทำให้ภาครัฐต้องโดดลงมาช่วยบ้างไม่มากก็น้อย .. เพราะแค่เบี้ยปรับ 199 ล้านบาท บวกกับเงินประกัน 600 กว่าล้านบาท ยังไม่ได้แค่เสี้ยวของความเสียหายที่เกิดขึ้นเลย ทางที่ดีให้ “ลุงตู่”เซ็น ม.44 ลงแส้ JAS เพิ่มอีกสักใบ ก็คงไม่มีใครเขาว่ากระไร ดีไม่ดีเรียกแต้มให้ คสช.ได้อีกโข .. เมื่อไม่มี JAS ก็จะเหลือแต่ผู้เล่นหน้าเดิม “AIS - True - DTAC" ที่คาดว่าจะเข้าร่วมประมูล .. โดยเฉพาะ DTAC ที่อยู่ในสภาวะ “ต้องเข้าร่วมประมูล”แถมหนนี้พลาดอีก ก็เท่ากับคลื่นไม่พอให้บริการ หนีไม่พ้นสถานการณ์“ซิมดับ” ..จึงต้องคอยดูว่า เพื่อนร่วมวงการอย่าง “AIS - True"จะเลือกเล่นเกมไหน .. ส่วน กสทช. หรือภาครัฐเองก็มีโจทย์ใหญ่ ที่ปล่อย“ค่ายสีฟ้า”ไปตามยถากรรมไม่ได้ หากเจอเกมโหดจากคู่แข่ง แล้วถอดใจ หายไปอีกเจ้า เหลือแค่ 2 ผู้เล่นหลัก จะยิ่งขับไสให้“ธุรกิจโทรคมนาคม”เข้าโหมด “ผูกขาด”มากขึ้น แบบนี้อันตราย
สวัสดิ์ สุรวัฒนานันท์  และ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท
**งบประมาณหรือความสง่างาม !? “หมู่บ้านป่าแหว่ง”ถูกต้อง แต่ไม่เหมาะสม มลทินองค์กรตุลาการ“วิญญูชน”ยี้อย่างแรง-ลั่นต้องรื้อลูกเดียว งบฯพันล้านค้ำคอ “ผบ.เจี๊ยบ”ยังเสียงอ่อย เลิกกลางคันลำบาก น่าห่วงอีกไม่เกิน 2 เดือนเสร็จสมบูรณ์ กลายเป็น“อนุสรณ์ความขัดแย้ง”ระหว่าง “ศาล-ภาคประชาชน”

ทำท่าจะจบไม่สวย .. หลังนัดหมายระหว่าง“ผู้แทนศาลอุทธรณ์ภาค 5”กับตัวแทนภาคประชาสังคม ในนาม“มูลนิธิรักษ์พื้นที่ป่าดอยสุเทพ”เพื่อทำความเข้าใจกรณีการคัดค้านการก่อสร้างบ้านพักตุลาการ-ข้าราชการศาล ซึ่งอยู่ติดเขตป่าอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ล่มไปอย่างน่าเสียดาย .. โดยทางภาคประชาชนอ้างว่า ตัวแทนศาลอุทธรณ์ภาค 5 เป็นฝ่ายขอยกเลิกนัดหมายอย่างกระทันหัน ด้วยเหตุผลว่า“ติดภารกิจ” ..ส่งผลให้กระแสต่อต้านคัดค้านแรงขึ้นไปอีกเป็นทวีคูณ ทั้งแนวรบด้านโซเชี่ยลฯ ผ่านเฟซบุ๊ก “ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ”ที่เคลื่อนไหวแทบจะนาทีต่อนาที ยกระดับยื่นคำขาดต้อง “รื้อลูกเดียว”.. แล้วก็ยังนำไปประจานตั้งชื่อ "หมู่บ้านป่าแหว่ง" ที่มี “รอยด่าง”ประจานว่า ผืนป่า 147 ไร่หายไป ตามภาพถ่ายหลายมุมยังมี “มือดี”ปักหมุดพิกัดลงบนแผนที่ Google Maps แต่ไม่นานก็ถูกลบออกจากสารบบไปอย่างไร้ร่องรอย .. ร้อนมาถึงทำเนียบรัฐบาล เมื่อ“นายกฯตู่”สั่งการให้ฝ่ายกฎหมาย คสช. เข้าไปเคลียร์ปมปัญหานี้โดยด่วน .. ที่ต้องรับหน้าเสื่ออย่างเลี่ยงไม่ได้ ก็ “บิ๊กเจี๊ยบ”พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ทั้งในฐานะ เลขาฯคสช. และในฐานะที่ ทบ. เป็นผู้ครอบครองพื้นที่ราชพัสดุตรงนั้น .. ที่น่าสนใจคือ กระแสต่อต้านครั้งนี้ไม่ได้จำกัดวงเป็น “นักอนุรักษ์”เสียด้วย ยังขยายวงไปในหมู่ประชาชนทั่วไป ที่เห็นว่าอะไรเป็นอะไร .. แม้ว่าทาง สวัสดิ์ สุรวัฒนานันท์ ประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 5 รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง จะชี้แจงว่า ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง ผ่านผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ให้ใช้พื้นที่ “อย่างถูกต้องตามกฎหมาย”มาตั้งแต่ปี 2549 หาใช่ใช้ “สิทธิพิเศษ”อย่างที่วิพากษ์กันก็ตาม .. แต่ก็ฟังไม่รื่นหูเท่าไร เพราะ “วิญญูชนทั่วไป”ต่างเห็นตรงว่า “มันถูกต้อง แต่ไม่เหมาะสม” ..
หมู่บ้านป่าแหว่ง
ที่น่าเสียดายก็คิวหล่อๆของ “ผบ.เจี๊ยบ”ที่เดิมก็เหมือนจะแตะเบรก แต่เมื่อเห็นว่า“ถูกกฎหมาย”ก็ต้องเลยตามเลย .. ด้วยว่าโครงการก่อสร้างจวนจะแล้วเสร็จใน 1-2 เดือนนี้ เสียงบประมาณเบ็ดเสร็จ 1,017 ล้านบาท .. ภาวการณ์ตอนนี้ดูคล้าย “กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง” ด้านหนึ่งก็มี“งบประมาณแผ่นดิน”อีกด้านก็มีเรื่อง “ความเหมาะสม”ที่กระทบต่อ “ความสง่างาม”ของ “องค์กรตุลาการ”อย่างแรง .. ครั้นจะยกเลิกกลางคัน ทุบบ้านพักทั้งหมดทิ้ง ก็ต้องถูกย้อนอีกว่า “ใครจะรับผิดชอบ”โดยเฉพาะค่าเสียหาย ทั้งสร้าง ทั้งรื้อถอน จะไปเช็กบิลกับใคร ในเมื่อทุกเสียงยืนยันว่าถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ .. หรือหากปล่อยไปจนเสร็จสมบูรณ์ ก็หนีไม่พ้นเป็น“อนุสรณ์แห่งความเกลียดชัง”ที่จะตอกย้ำความขัดแย้งของ“องค์กรตุลาการ” กับ “ภาคประชาชน”ไปตลอดกาล .. ที่น่าเจ็บใจก็ด้วยกระแสการคัดค้านไม่ได้เพิ่งมีวันสองวัน แต่เริ่มมาตั้งแต่ กลางปี 2558 ที่มีการแผ้วถางพื้นที่ใหม่ๆ ไฉนแล้ว “ผู้เกี่ยวข้อง”ถึงไม่นำพาแต่ต้น .. คราวซวยตกมาถึง“ผู้พิพากษา-ข้าราชการ”รุ่นปัจจุบัน ที่อาจจะไม่รู้เห็นด้วย ต้องมารับ“เผือกร้อน”ต่อ .. หรือกระทั่งอนาคต ใครจะเข้าไปอยู่อาศัย คงคิดแล้วคิดอีก แม้จะอยู่ในที่รโหฐาน วิวสวยสดขนาดไหน ก็คงหนีไม่พ้นอาการ “คับใจอยู่ยาก”กลายเป็น “บ้านพักอาถรรพ์”ที่มีแต่คนก่นด่า-สาบแช่ง อย่างช่วยไม่ได้
ไพรินทร์ ชูโชติถาวร  และ  พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร
** แอร์พอร์ตลิงค์-แอร์พอร์ตเละ!! “แอร์พอร์ตเรลลิงค์”เข้าขั้นวิกฤต เปลี่ยนผู้บริหารไม่ซ้ำหน้า ก็ยังไร้ทางสว่าง จนต้องแก้ผ้าเอาหน้ารอดรายวัน เสริม “รถไฟดีเซลราง”พิเศษเช้า-เย็น ลดความแออัด แปลกใจ “ไพรินทร์”ลั่นหลังสงกรานต์ซ่อมเสร็จ วิ่งเพิ่มได้ 6-7 ขบวน แต่กลับมีบางคนไอเดียกระฉูด หาเรื่องเช่ารถเพิ่ม น่ากลัวจะมีตกหล่นเบี้ยใบ้รายทาง

ยังเต็มไปด้วยปัญหา .. ตั้งแต่เริ่มให้บริการเมื่อปลายปี 2553 เป็นต้นมา โครงการรถไฟฟ้า“แอร์พอร์ตเรลลิงค์”เผชิญกับสารพัดปัญหาวนเวียนไม่รู้จบสิ้น ไม่สมกับงบประมาณกว่า 3 หมื่นล้านบาท ของโครงการแม้แต่น้อย .. คอยแต่โบ้ยไปว่า ภาครัฐประเมินผิดตั้งแต่เริ่มโครงการ จากรถไฟฟ้าเชื่อมต่อสนามบิน ถูกใช้เป็นรถไฟฟ้าในเมืองแทบจะเต็มรูปแบบ .. ยุคคสช. ลองเปลี่ยนสูตร จากผู้กำกับดูแล“คนใน”เป็น “คนนอก”ก็ยังไร้ทางสว่าง ทั้ง ออมสิน ชีวะพฤกษ์ ส่งไม้ต่อมาที่ ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม คนปัจจุบัน .. ส่วนบอร์ดบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ผู้รับผิดชอบโดยตรง ก็อุตส่าห์เอา “บิ๊กเยิ้ม” พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร สายตรง “นายกฯตู่”ออกจากหัวโต๊ะ แทนที่ด้วยมือดีจาก ปตท. วิชัย พรกีรติวัฒน์ อยู่ได้แปบเดียว ก็มาเป็น อาทิตย์ วุฒิคะโร อดีตปลัดกระทรวงอุตฯ นั่งประธานบอร์ดตอนนี้ .. ขณะที่ระดับบริหารยังหาตัวจริงไม่ได้ มีชื่อ วิสุทธิ์ จันมณี หนึ่งในบอร์ด เป็นรักษาการซีอีโออยู่ .. ระยะหลังยิ่งหนักเข้าขั้นวิกฤต ต้อง “แก้ผ้าเอาหน้ารอด”ปรับระบบกันไปวันๆ มาตรการล่าสุด ขยายเวลาเปิดให้บริการเร็วขึ้น 30 นาที เริ่มต้น 05.30 น.ของทุกวัน .. ไม่เท่านั้น ยังงัดไม้เด็ด แก้ปัญหาแบบ “รถไฟไทย”ย้อนยุคด้วยการเสริม “รถไฟดีเซลราง”ขบวนพิเศษเช้า-เย็น เป็น “ฟีดเดอร์”วิ่งจากสถานีลาดกระบัง ไปสถานีหัวลำโพง ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน .. เป็น “ตลกร้าย”ที่ต้องวกกลับมาใช้บริการ“ดีเซลราง”ทั้งที่เวลานี้เรากำลังผลักดันเรื่อง “รถไฟความเร็วสูง”กันอยู่ดีๆ ..

ทั้งหลายทั้งปวง ก็มาจากขบวนรถที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ใช้บริการ ตอนนี้เหลือวนกันอยู่ 5 ขบวน วันดีคืนดีหายไปสักขบวน ก็โกลาหล .. ความจริงตอนเริ่มโครงการ จัดซื้อเตรียมไว้ 9 ขบวน ทำไปทำมาเหลือวิ่งได้แค่ 5 ขบวน ส่วนอีก 4 ขบวน จอดไว้เฉยๆ พอถึงเวลาซ่อมใหญ่ ไร้งบประมาณ ไม่มีอะไหล่ 4 ขบวน ที่จอดอยู่ก็เลยกลายเป็นอะไหล่ซ่อม 5 ขบวนที่ยังวิ่งอยู่ .. เรื่องนี้รับรู้ปัญหามาหลายปีแล้ว ตั้งแต่ยุค “บิ๊กเยิ้ม”ที่มีการชงของบ 380 ล้านบาท เพื่อโอเวอร์ฮอล-ซ่อมใหญ่ ได้งบฯไปแต่ก็เหมือนไม่ได้ทำอะไรเลย .. ข้ออ้าง ขาดแคลนอะไหล่ จนทำให้การซ่อมบำรุงขบวนรถล่าช้ามาแรมปี จู่ๆตอนนี้มีบางคน “ไอเดียบรรเจิด”เสนอให้เช่าขบวนรถไฟฟ้ามาวิ่งในเส้นทาง แอร์พอร์ต เรล ลิงค์ เพิ่มเติม .. แล้วไปเจอทาง “ซีเมนส์”โขกด้วย “เงื่อนไข”ต้องเช่าอย่างต่ำ 15 ปี ที่ดูอย่างไรก็ไม่คุ้มค่าเท่าซื้อรถขบวนใหม่ .. ขณะที่ “ไพรินทร์”ก็ออกปากเองว่า ช่วงหลังสงกรานต์จะมีรถออกให้บริการได้ 6-7 ขบวน ที่เพียงพอต่อความต้องการในช่วงพีค และจะครบ 9 ขบวน ไม่เกินปลายปีนี้ .. ก็เข้าใจว่าการเช่าขบวนรถเพิ่ม อาจจะช่วยแก้ปัญหาได้จริง แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า มีใครพลิกวิกฤตเป็นโอกาส หาเรื่องให้มีสะตุ้งสตางค์ตกหล่น เป็น “เบี้ยใบ้รายทาง”หรือเปล่าน่ะสิ.

ช.ชฎา


ไม่ช่วยมีหวังพังกันหมด แต่ช่วยแล้วต้องตั้งกรรมการสอบคนทำพัง “ลุงตู่”จำใจเซ็น ม.44 ช่วย“ทีวีดิจิทัล-โทรคมนาคม” **ทหารบุกโรงแรมภูเก็ตต้นเรื่องแค่ขัดแย้ง“นายจ้าง-ลูกจ้าง”ไม่เห็นต้องถึงท็อปบูต **“ใต้โต๊ะ - เงินทอน”ระบาดหนัก ผู้รับเหมาพัทลุงโวยเจอเรียก15%
ไม่ช่วยมีหวังพังกันหมด แต่ช่วยแล้วต้องตั้งกรรมการสอบคนทำพัง “ลุงตู่”จำใจเซ็น ม.44 ช่วย“ทีวีดิจิทัล-โทรคมนาคม” **ทหารบุกโรงแรมภูเก็ตต้นเรื่องแค่ขัดแย้ง“นายจ้าง-ลูกจ้าง”ไม่เห็นต้องถึงท็อปบูต **“ใต้โต๊ะ - เงินทอน”ระบาดหนัก ผู้รับเหมาพัทลุงโวยเจอเรียก15%
ไม่ช่วยมีหวังพังกันหมด แต่ช่วยแล้ว ต้องตั้งกรรมการสอบคนทำพัง “ลุงตู่”จำใจผ่าทางตัน เซ็น ม.44 ช่วยอุตสาหกรรม “ทีวีดิจิทัล-โทรคมนาคม”ทั้งระบบ ฝ่าย กสทช. ควรสำเหนียกความผิดพลาดของตัวเอง อย่าก่อกรรมสร้างบาปอีกคำรบ คิวประมูลคลื่น 900-1800 MHz ต้องไม่ปล่อยให้ใครมาทำตำบอน เหมือน JASจนพินาศกันหมด ระวัง ม.44 ที่ปลดคนมาเยอะแล้ว จะแผลงศรมาถึง“ซอยสายลม”
กำลังโหลดความคิดเห็น