xs
xsm
sm
md
lg

ซักซ้อม “ท้องถิ่น” ผุดแผนป้องกัน-จัดงบ ใช้ความเห็นกฤษฎีการับมือโรคพิษสุนัขบ้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กสถ.ซักซ้อม อปท.ทั่วประเทศ บรรจุแผนป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในแผนพัฒนาท้องถิ่น 4 ปี ตามความเห็นกฤษฎีกา พร้อมจัดทำข้อบัญญัติ-เทศบัญญัติงบประมาณ หวั่นท้องถิ่นมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน ให้เน้นดำเนินการตามประกาศกรมปศุสัตว์เดินหน้าฉีดวัคซีนสัตว์ฟรี

วันนี้ (21 มี.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (กสถ.) มีหนังสือด่วนที่สุด ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ดำเนินการซักซ้อม แนวทางการปฏิบัติการดำเนินงานท้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยขอความร่วมมือจังหวัดให้แจ้ง อปท.ดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ตามแนวทางที่กระทรวงมหาดไทย กำหนดไว้ในหนังสือแนวทางการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 และคณะที่ 10 ได้ให้ความเห็นในเรื่องเสร็จ ที่ 442/2554 ว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดในการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า และเป็นโรคติดต่อตามพระราชบัญญัติว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 แสะระเบียบที่เกี่ยวข้องซึ่งกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการบรรจุหรือปรับแผนพัฒนาท้องถิ่นสี่ปี ให้มีโครงการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า และนำแผนงาน/โครงการดังกล่าวมาเป็นแนวทางในการจัดทำ ข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติงบประมาณ

“โดยให้ตั้งงบประมาณการดำเนินงานโครงการท้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ไว้ในหมวดค่าใช้สอย ประเภทรายจ้ายเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติราชการที่ไม่เข้าลักษณะรายจ่ายหมวดอื่นๆ ได้”

หนังสือของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นระบุด้วยว่า เนื่องจากได้ปรากฏข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ในประเด็นว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังไม่มี ความชัดเจนเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ในการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งอาจทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขน้า ซึ่งกรมปศุสัตว์ ได้มีประกาศกำหนดให้เขตท้องที่กรุงเทพมหานคร และเขตท้องที่ทุกจังหวัด เป็นเขตท้องที่ทำการฉีดวัคซีน ป้องก้นโรคพิษสุนัขบ้าให้แก่สัตว์ควบคุม โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2553 จึงขอให้ อปท.ทั่วประเทศดำเนินการตามความเห็นในเรื่องเสร็จ ที่ 442/2554 เพี่อให้เกดความขัดเจนในทางปฏิบัติ

สำหรับความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมคณะที่ 1 และคณะที่ 10) พิจารณาข้อหารือของกรมปศุสัตว์แล้ว มีความเห็นดังต่อไปนี้

ประเด็นที่ 1 การดำเนินการตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 ถือเป็นภารกิจของหน่วยงานใด ระหว่างกรมปศุสัตว์กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น เห็นว่า โดยที่พระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 มุ่งประสงค์ให้กรมปศุสัตว์ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมและป้องกันโรคระบาดสัตว์ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 เป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย เนื่องจากมีสัตวแพทย์เพียงพอปฏิบัติหน้าที่อยู่ทั่วประเทศ และสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสำหรับสัตว์ได้เองในราคาถูก ตลอดจนเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมและเหมาะสมในการควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

กรมปศุสัตว์จึงมีหน้าที่ในการควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้าฯ และมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2557 ด้วย

อย่างไรก็ตาม กฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายฉบับได้กำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการป้องกันและระงับโรคติดต่อหรืออำนาจหน้าที่ในด้านการสาธารณสุขไว้ ได้แก่ มาตรา 67 (3) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 มาตรา 50 (4) มาตรา 53 (1) มาตรา 56 (1) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และมาตรา 62 (14) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 นอกจากนั้น ในมาตรา 89 (16) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 กำหนดให้กรุงเทพมหานครมีอำนาจหน้าที่ในด้านการสาธารณสุข การอนามัยครอบครัว และการรักษาพยาบาลด้วย

อีกทั้งบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้าฯ ได้กำหนดหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าให้แก่เจ้าพนักงานท้องถิ่น สัตวแพทย์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และราชการส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องดำเนินการหลายประการ

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดในการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าซึ่งเป็นโรคติดต่อตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อด้วย

ประเด็นที่ 2 หากกรมปศุสัตว์ได้ออกประกาศตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 กำหนดเขตท้องที่เพื่อทำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนและดำเนินการตามประกาศกรมปศุสัตว์ได้หรือไม่ นั้น

เห็นว่า เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดในการป้องกันและระงับโรคติดต่อซึ่งรวมถึงโรคพิษสุนัขบ้าด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีอำนาจที่จะตั้งงบประมาณเพื่อการดำเนินการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าเพื่อใช้ในการจัดซื้อและฉีดวัคซีน ตลอดจนคุมกำเนิดสัตว์ควบคุมในพื้นที่ของตนได้ โดยการใช้จ่ายเงินงบประมาณต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

แต่โดยที่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า กรณีของเทศบาลตำบลสุรนารีตามที่หารือมานี้ ไม่มีการประกาศของอธิบดีกรมปศุสัตว์กำหนดเขตท้องที่ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้าฯ ครอบคลุมพื้นที่เทศบาลตำบลสุรนารี เจ้าของสัตว์ควบคุมจึงต้องเสียค่าธรรมเนียมการฉีดวัคซีนสัตว์ควบคุมตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

อย่างไรก็ดี ในกรณีที่หารือมานี้ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า เทศบาลตำบลสุรนารีได้รับแจ้งขอความร่วมมือจากจังหวัดนครราชสีมาว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมปศุสัตว์) กระทรวงสาธารณสุข (กรมควบคุมโรค) กระทรวงมหาดไทย (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินโครงการรณรงค์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี โดยในปี พ.ศ. 2556 ได้กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มีนาคม ถึง 30 เมษายน 2556 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สุนัขและแมวได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นครอบคลุมทุกพื้นที่ และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าและการดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างถูกต้อง รวมถึงมีความรับผิดชอบต่อสัตว์เลี้ยงของตนเอง ซึ่งจะช่วยลดการเกิดโรคในสัตว์และจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าได้ และช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามแผนยุทธศาสตร์การกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปภายในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งทำให้เทศบาลตำบลสุรนารีเชื่อโดยสุจริตว่าจะมีการออกประกาศของอธิบดีกรมปศุสัตว์กำหนดเขตท้องที่ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้าฯ ครอบคลุมถึงพื้นที่เทศบาลตำบลสุรนารีด้วย เหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติมาในทุก ๆ ปี ประกอบกับเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของเทศบาลตำบลสุรนารีในการป้องกันและระงับโรคติดต่อตามมาตรา 50 (4) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496

ดังนั้น จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นจึงเห็นว่า แม้ในปี พ.ศ. 2556 ไม่มีการประกาศกำหนดเขตท้องที่ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 ครอบคลุมถึงพื้นที่เทศบาลตำบลสุรนารีก็ตาม เทศบาลตำบลสุรนารีก็ย่อมดำเนินการฉีดวัคซีนและให้ยาคุมกำเนิดสัตว์ควบคุม โดยไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากเจ้าของสัตว์ควบคุมได้ตามอำนาจหน้าที่ของตน


กำลังโหลดความคิดเห็น