สตูล - สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสตูล ออกเตือนประชาชน หลังมีการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าอย่างหนัก พร้อมขอความร่วมมือหากพบเห็นสัตว์ที่ต้องสงสัยให้รีบแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ใกล้บ้านทันที
วันนี้ (21 มี.ค.) นายแพทย์สมบัติ ผดุงวิทย์วัฒนา นายแพทย์สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสตูล เปิดเผยว่า จากข้อมูลสถานการณ์การเกิดโรคพิษสุนัขบ้า ตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 จนถึง 19 มีนาคม 2561 พบโรคในสัตว์มีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ จำนวน 24 ตัวอย่าง พบผลบวกโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 6 ตัวอย่าง และเนื่องด้วยกรมปศุสัตว์ มีนโยบายในการเร่งรัดในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าในทุกพื้นที่ที่มีการเกิดโรคดังกล่าว จึงได้จัดระดับการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าขึ้น โดยยึดหลักนิยามจากองค์การโรคระบาดสัตว์ ระหว่างประเทศ หรือ OIE Office International DES Epizooties และข้อกำหนดหลักเกณฑ์การสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าของประเทศไทย
โดยกรมปศุสัตว์ ได้กำหนดพื้นที่ ประกอบด้วย A คือ พื้นที่สีเขียว หรือพื้นที่ที่ไม่มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า และไม่พบเชื้อในสัตว์ในพื้นที่ติดต่อกันอย่างน้อย 2 ปี พื้นที่ B คือ พื้นที่สีเหลือง หรือพื้นที่ที่ยังมีเชื้อในสัตว์ แต่ไม่พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ติดต่อกันอย่างน้อย 2 ปี และพื้นที่ C คือ พื้นที่สีแดง หรือพื้นที่ที่ยังมีเชื้อในสัตว์ และยังคงพบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่
นอกจากหลักเกณฑ์การสร้างพื้นที่ปลอดภัยของโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว ยังมีตัวชี้วัดอื่นเพิ่มเติม ซึ่งจะดำเนินการตรวจติดตามต่อไป โดยการแบ่งระดับการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ตามนโยบายเร่งด่วนของกรมปศุสัตว์ สำหรับจังหวัดสตูลนั้นจัดอยู่ในโซน B พื้นที่สีเหลือง จากทั้งหมด 41 จังหวัด เขตพื้นที่ที่ยังมีเชื้อในสัตว์ แต่ยังไม่พบผู้เสียชีวิต เป็นพื้นที่ที่จะต้องเฝ้าระวังเป็นอย่างมาก
สำหรับโรคพิษสุนัขบ้า เรียกอีกอย่างว่า โรคกลัวน้ำ เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า Rabies ซึ่งทำให้เกิดโรคในคน และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว ลิง ชะนี กระรอก ค้างคาว หรือสัตว์ป่าอื่นๆ ดังนั้น จึงมีแนวทางในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าด้วยคาถา 5 ย. คือ 1.อย่าแหย่ 2.อย่าเหยียบ 3.อย่าแยก 4.อย่าหยิบ และ 5.อย่ายุ่ง
ทั้งนี้ มาตรการในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ในปี 2561 โดยมีข้อแนะนำหากโดนสุนัข หรือแมวกัด ให้ล้างแผลด้วยน้ำ และสบู่หลายๆ ครั้ง อย่างน้อย 15 นาที ห้ามปิดแผล แล้วไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการรักษาโดยฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยเจ้าของสัตว์เลี้ยงควรนำสุนัข และแมวไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี
โดยการสังเกตอาการโรคพิษสุนัขบ้านั้น เชื้อเกิดจากน้ำลายของสัตว์เลี้ยงที่อาจจะกัด ข่วน หรือเลียตามบาดแผล เมื่อมีเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีลักษณะเบื่ออาหาร เจ็บคอ มีไข้ อ่อนเพลีย มีอาการคันในบริเวณที่ถูกกัด กระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม กลัวน้ำ มีอาการชักเกร็ง อาจจะเป็นอัมพาต และอาจจะเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งปัจจุบัน การรักษามีเพียงวัคซีนพิษสุนัขบ้าที่สามารถรักษาด้วยการฉีดเพียง 4-5 เข็ม
อย่างไรก็ตาม การป้องกันย่อมดีกว่าการแก้ไข ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนทุกคนร่วมกันสอดส่อง และเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้เกิดการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ หากพบเห็นสัตว์ที่ต้องสงสัยว่าอาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้า มีลักษณะอาการ คือ มีอาการหางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง ให้รีบแจ้งไปยังโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที หรือกลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสตูล หรือโทร.0-7471-1071 ต่อ 307