xs
xsm
sm
md
lg

บุรีรัมย์ระดมฉีดวัคซีน ชาวบ้าน-นักเรียนกว่า 140 คนเสี่ยงติดเชื้อพิษสุนัขบ้า หลัง ด.ญ.วัย 14 ปีเสียชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สธ. บุรีรัมย์ ร่วม รพ. ระดมจนท.ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับญาติ  ชาวบ้าน และ นักเรียน  143 คนกลุ่มเสี่ยงสัมผัสสุนัขและใกล้ชิดกับ ด.ญ.14 ปีที่เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า วันนี้ ( 21 มี.ค.)
บุรีรัมย์ - สธ.บุรีรัมย์ ร่วมโรงพยาบาลระดมเจ้าหน้าที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้แก่ญาติ ชาวบ้าน และนักเรียน 143 คนกลุ่มเสี่ยงสัมผัสสุนัขและใกล้ชิดกับ ด.ญ.อายุ 14 ปีที่เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าป้องกันติดเชื้อ เผยประวัติสอบสวนโรคเด็กถูกลูกสุนัขที่นำมาเลี้ยงข่วนตั้งแต่ ต.ค. 60

ด.ญ.14 ปี ที่เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า
วันนี้ (21 มี.ค.) ความคืบหน้ากรณีที่ ด.ญ.ชลธาร หรือน้องต่าย อายุ 14 ปี นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนบ้านสุขสำราญ อ.ปะคำ จ.บุรีรัมย์ เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าเมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมาเป็นรายแรกของจังหวัด และรายที่ 6 ของประเทศ ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ล่าสุดสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ได้ร่วมกับโรงพยาบาลบุรีรัมย์ และโรงพยาบาล อ.ปะคำ ระดมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้แก่ชาวบ้าน ญาติพี่น้อง ครูและนักเรียน จำนวน 143 คน ที่ผ่านการตรวจคัดกรองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สัมผัสกับลูกสุนัข และใกล้ชิดกับ ด.ญ.วัย 14 ปีที่เสียชีวิต เพื่อป้องกันการติดเชื้อพิษสุนัขบ้า

นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า หลังจากสาธารณสุขจังหวัดร่วมกับโรงพยาบาลบุรีรัมย์ และโรงพยาบาลปะคำ ได้ดำเนินการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยการเก็บน้ำลาย รากผม และชิ้นเนื้อจากเยื่อสมองของเด็กหญิงวัย 14 ปีที่เสียชีวิตไปตรวจ ผลยืนยันพบว่าติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าทั้ง 3 ตัวอย่าง ทั้งนี้ จากการสอบสวนโรคพบว่าครอบครัวของเด็กที่เสียชีวิตได้ขอลูกสุนัขอายุประมาณ 1 เดือนของคนรู้จักในอีกตำบลมาเลี้ยง 2 ตัวในช่วงเดือน ต.ค. 2560


โดยเด็กได้คลุกคลีใกล้ชิดกับลูกสุนัขตลอด และประวัติทราบว่าเด็กได้ถูกลูกสุนัขข่วนที่แขนช่วงที่เลี้ยงสัปดาห์แรก ทั้งยังทราบว่าลูกสุนัขตัวเดียวกันได้กัดพ่อ แม่ และยายของเด็กด้วย แต่ทั้ง 3 คนที่ถูกลูกสุนัขกัดได้ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่โรงพยาบาล แต่ ด.ญ.วัย 14 ที่ถูกข่วนญาติไม่ได้พาไปฉีดวัคซีนเพราะคิดว่าถูกข่วนเพียงเล็กน้อยไม่มีบาดแผล หลังจากนั้นไม่มีอาการผิดปกติอะไร กระทั่งวันที่ 16 มี.ค.ญาติได้พาน้องไปรักษาที่โรงพยาบาลปะคำด้วยอาการไข้สูง กระวนกระวาย ตื่นต่อสิ่งเร้ากระตุ้นง่าย โดยนอนรักษาที่โรงพยาบาลเพียงวันเดียววันต่อมาเสียชีวิต ซึ่งโรคพิษสุนัขบ้ามีระยะฟักตัวตั้งแต่ 7 วัน ถึง 1 ปี ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ถูกกัดหรือบริเวณที่ได้รับเชื้อว่าใกล้กับระบบสมองหรือไม่

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ทำการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงทั้งบุคลากรการแพทย์ คนในชุมชน ญาติพี่น้อง และนักเรียน ซึ่งสุ่มเสี่ยงสัมผัสสารคัดหลั่งของสุนัขหรือใกล้ชิดกับน้องที่เสียชีวิตรวมทั้งหมด 143 คน จะต้องทำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทั้งหมดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

“ฝากเตือนผู้ที่เลี้ยงสุนัข แมว หนู หรือสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งสามารถติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้ จะต้องนำสัตว์เลี้ยงไปรับการฉีดวัคซีนตามกำหนดเพื่อป้องกันการระบาดของโรค และหากใครถูกสุนัข แมว กัด ข่วน หรือสัมผัสสารคัดหลั่ง ควรรีบล้างแผลให้สะอาด ก่อนไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาในทันทีเพื่อความปลอดภัย” นพ.วิทิตกล่าว

นพ.วิทิต   สฤษฎีชัยกุล   นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์


กำลังโหลดความคิดเห็น