xs
xsm
sm
md
lg

ผวจ.พัทลุงเตือนประชาชนระวังโรคพิษสุนัขบ้า หลังมีการแพร่ระบาดอย่างหนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
พัทลุง - ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เตือนประชาชนระวังโรคพิษสุนัขบ้า เนื่องจากมีการพบเชื้อแล้วหลายจังหวัด รวมทั้งพัทลุง จึงขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับโรค

วันนี้ (11 มี.ค.) นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ฝากถึงประชาชนระหว่างการประชุมโครงการความร่วมมือการรณรงค์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ประจำปี 2561 ภายใต้โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทั้งนี้ เพื่อติดตามสถานการณ์ โรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ และมาตรการป้องกัน เพื่อมิให้ประชาชนประสบอันตรายการจากโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งมีอันตรายถึงชีวิต

โดยผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ระบุว่า โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นพาหะ โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงประเภทหมา และแมว ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับคน ดังนั้น เพื่อลดโอกาสการสัมผัสโรค จึงขอให้ประชาชนได้นำสัตว์เลี้ยงของตนไปฉีดวัคซีน และหลีกเลี่ยงการถูกกัด ถูกข่วน หรือถูกสุนัข และแมวเลีย แม้จะเป็นสัตว์เลี้ยงของตัวเอง เพราะโรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต
 

 
ด้าน นายณรงค์ สุทธิสังข์ ปศุสัตว์จังหวัดพัทลุง กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ได้ประกาศเขตระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ 13 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ ชลบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา น่าน บุรีรัมย์ อุบลราชธานี เชียงราย ร้อยเอ็ด สงขลา ระยอง ตาก และศรีสะเกษ ให้เป็นพื้นที่น่าเป็นห่วง “โซนสีแดง” และพื้นที่เฝ้าระวัง “โซนสีเหลือง” อีก 42 จังหวัด

และจากข้อมูลของกรมควบคุมโรค ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 พบว่า มีสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัข และแมวติดเชื้อแล้ว จำนวน 247 ตัว ซึ่งสูงกว่าปีก่อนถึง 1.5 เท่า และหากพบว่าสัตว์เลี้ยงของตนเองมีพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยเฉพาะการสัมผัสกับ “น้ำลาย” ของสัตว์ตัวอื่นที่ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า จะทำให้พบอาการป่วยใน 3 ระยะด้วยกัน
 

 
โดย “ระยะเริ่มแรก” สัตว์เลี้ยงจะแยกตัว ไม่ยอมเล่นกับเจ้าของเหมือนปกติ มีอาการหงุดหงิด ม่านตาขยาย ไม่ตอบสนองต่อแสงประมาณ 2-3 วัน ก่อนจะเข้าสู่ระยะที่ 2 ส่วนระยะที่ 2 คือ “ระยะตื่นเต้น” สัตว์เลี้ยงจะมีอาการกระวนกระวาย ตื่นเต้น ดุร้าย กัดทุกสิ่งที่ขวางหน้า มีเสียงเห่าหอนที่ผิดปกติ ลิ้นห้อย น้ำลายไหล ประมาณ 1-7 วัน ส่วนระยะสุดท้าย คือ “ระยะอัมพาต” สัตว์เลี้ยงจะมีอาการขาอ่อนเปลี้ย ลุกไม่ขึ้น เป็นอัมพาตทั้งตัว ก่อนจะตายในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคยังฝากเตือนประชาชนให้ปฏิบัติตัวอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะกรณีที่ถูกสุนัข และแมวกัดให้รีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนภายใน 2 วัน และต้องกักสุนัข หรือแมวตัวที่กัดไว้สังเกตอาการเป็นเวลา 10 วัน หากพบว่าสัตว์เลี้ยงตัวนั้นตาย ต้องรีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ให้ทราบทันที
 


กำลังโหลดความคิดเห็น