xs
xsm
sm
md
lg

สัปดาห์หน้าอากาศร้อนขึ้น เสี่ยง “พิษสุนัขบ้า” ระบาดเพิ่ม เหตุสัตว์หงุดหงิดง่าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมควบคุมโรคเตือนสัปดาห์หน้าอากาศร้อนขึ้น เสี่ยง “พิษสุนัขบ้าระบาด” เพิ่ม เหตุสัตว์หงุดหงิดง่าย และเด็กปิดเทอม เสี่ยงถูกกัดข่วนมากกว่าเดิม ย้ำหากถูกกัดข่วนให้รีบล้างแผลและฉีดวัคซีน

วันนี้ (11 มี.ค.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า จากการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์ ช่วงวันที่ 12 - 18 มี.ค. 61 พบว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในปี 2561 นี้ มีรายงานผู้เสียชีวิตแล้ว 3 ราย ที่ จ.สุรินทร์ สงขลา และ ตรัง ซึ่งทั้ง 3 รายไม่ไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ส่วนในปี 2560 ที่ผ่านมา มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า 11 ราย จากการสอบสวนโรค พบว่า เมื่อถูกสุนัขกัดส่วนใหญ่ล้างแผลเองที่บ้าน ร้อยละ 82 ไปรักษาที่สถานพยาบาล เพียงร้อยละ 18 โดยสุนัขที่กัดเกือบครึ่งหนึ่งเป็นสุนัขจรจัด และพบว่าไม่มีประวัติหรือไม่ทราบการได้รับวัคซีนถึงร้อยละ 89.7

“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ เนื่องจากในช่วงนี้กำลังเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งอากาศที่ร้อนอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้สัตว์หงุดหงิดง่าย ประกอบกับเป็นช่วงปิดเทอม เด็กที่เล่นกับสุนัขจึงมีโอกาสถูกกัดได้ง่าย แม้ว่าจะเป็นสุนัขในบ้านที่ได้รับวัคซีนป้องกันแล้วก็ตาม อาจได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าจากที่สุนัขของตนเองไปเล่นกับสุนัขจรจัดนอกบ้านได้ กรมควบคุมโรค ขอแนะนำวิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ ผู้เลี้ยงสุนัขหรือแมว ควรนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และหากถูกสัตว์ที่ไม่ทราบประวัติกัดหรือข่วน ให้รีบล้างแผลทันทีด้วยน้ำสะอาดและฟอกสบู่หลายๆ ครั้ง เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโปรวิดีนหรือแอลกอฮอล์ จากนั้นรีบไปสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้เร็วที่สุด” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า การฉีดวัคซีนให้ครบชุดและตรงตามนัด จะได้ผลเพราะหากติดเชื้อพิษสุนัขบ้า และปล่อยทิ้งไว้จนเชื้อเข้าสู่ระบบประสาท แสดงอาการป่วยแล้ว ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย ขอให้ทุกคนช่วยกันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยนำสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ไปฉีดวัคซีน ครั้งแรกเมื่อมีอายุ 2 - 4 เดือน และฉีดซ้ำตามกำหนดทุกปี นอกจากนี้ ผู้ปกครองควรระมัดระวังเด็กในการเล่นกับสัตว์เลี้ยง ไม่ควรเล่นใกล้ชิดเกินไป ไม่แหย่หรือรบกวนสุนัข หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สัตว์ที่มีพฤติกรรมผิดปกติ ทั้งนี้ หากประชาชนพบสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตาย หรือมีอาการอัมพาต ขาอ่อนแรง คลุ้มคลั่งมีอาการทางสมอง โปรดแจ้งไปที่กรมปศุสัตว์ 02-653-4412 สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด หรือผู้นำชุมชนในพื้นที่ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422


กำลังโหลดความคิดเห็น