xs
xsm
sm
md
lg

“หมอประเสริฐ” ชี้ “ภาษีหมาแมว” ทำได้ยาก คนยังพาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนน้อย แนะสร้างความตระหนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค ชี้ “ภาษีหมาแมว” ทำได้ยาก ระบุฉีดวัคซีนพิษสุนัขให้สัตว์เลี้ยงบ้าตามกฎหมาย คนยังพาไปน้อย แนะสร้างความตระหนักให้ประชาชนร่วมมือ เหตุเป็นเรื่องในบ้าน ภาครัฐเข้าไปจัดการลำบาก

วันนี้ (19 มี.ค.) ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงแนวคิดการเก็บภาษีสัตว์เลี้ยงสุนัขและแมวเหมือนต่างประเทศ ว่า เรื่องนี้ถือเป็นแนวคิดอย่างหนึ่ง แต่ถามว่าจะสามารถปฏิบัติได้จริงหรือไม่ ซึ่งตนมองว่าเป็นเรื่องยาก เพราะแม้แต่การปฏิบัติตามกฎหมาย คือ การนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งที่ภาครัฐก็มีบริการฉีดให้ฟรี ก็ยังปฏิบัติตามกันน้อย โดยตนมองว่าปัจจุบันประชาชนมีความรู้ แต่ขาดความตระหนักและใส่ใจ จึงต้องส่งเสริมให้เกิดความรู้และตระหนักในเรื่องโรคพิษสุนัขบ้าให้แก่ประชาชนมากขึ้น อย่างกรมประชาสัมพันธ์ก็น่าจะต้องมาช่วยเหลือในเรื่องการสื่อสารแก่ประชาชนด้วย ไม่ใช่แค่ว่าเกิดเหตุการณ์คนเสียชีวิตแล้วก็มาฮือฮากันทีหนึ่งแล้วก็บ่นกันไป

“เรื่องนี้ต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจก่อนว่า เรื่องโรคพิษสุนัขบ้าเป็นปัญหาของตัวเอง จะหวังให้ทั้ง 2 กระทรวงคือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุข แก้ไขปัญหาอย่างเดียวไม่ได้ หรือแม้แต่ให้ดำเนินการเต็มที่แล้ว แต่หากประชาชนไม่ร่วมมือ ไม่ตระหนักใส่ใจปัญหา ก็ไม่ได้ผลเช่นกัน เหมือนกับเรื่องโรคไข้เลือดออก ที่ยุงลายและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอยู่ในบ้าน ในคอนโด ราชการจะเข้าไปฉีดยาไล่ยุงได้อย่างไร” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าว

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า ในอดีตโรคพิษสุนัขบ้าเคยตายมากถึง 370 คน และลดลงเหลือแค่ปีละ 4-5 ราย แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาอัตราการตายสูงขึ้น โดยปี 2559 พบเสียชีวิต 14 คน ปี 2560 พบผู้เสียเชีวิต 11 คนขณะที่การตรวจหัวสุนัขแล้วพบให้ผลบวกคือเจอเชื้อก็เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะที่พบเป็นประจำ อย่างภาคอีสาน คือ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ภาคกลาง เช่น ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ระยอง ภาคใต้ เช่น สงขลา นครศรีธรรมราช และ สุราษฎร์ธานี ส่วนสาเหตุที่ทำให้โรคพิษสุนัขบ้ามีปัญหามากขึ้น มีหลายสาเหตุ ทั้งกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. เทศบาล ไม่สามารถฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าในสัตว์ได้ เนื่องจากติดปัญหาเรื่องการใช้งบประมาณ แต่เมื่อปลดล็อกปัญหานี้ได้ก็ไม่มีวัคซีนให้ใช้ เพราะเมื่อขายวัคซีนไม่ได้ ก็ไม่มีการสั่งวัคซีนเข้ามา ขณะที่เรื่องของวัคซีนในสัตว์ไม่มีคุณภาพก็เป็นเรื่องเมื่อปี 2557 - 2558 แต่เมื่อคุณภาพวัคซีนดีแล้ว ก็มีปัญหาเรื่องบุคลากรที่จะออกมาฉีดของกรมปศุสัตว์มีเพียงพอหรือไม่ นอกจากนี้ เรื่องคุณภาพของวัควีนในสัตว์ต้องหาทางป้องกันด้วย คือ กรณีการขนส่ง การเคลื่อนย้าย การเก็บรักษาวัคซีน ที่ส่งผลต่อคุณภาพวัคซีนเช่นกัน ส่วนวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคนไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีองค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ควรมีการปรับการฉีดวัคซีนในคนจาก 28 วัน เหลือ 7 วันนั้น ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า ขณะนี้ทีมวิชาการอยู่ระหว่างประชุมหารือความเป็นไปได้ในการปรับเปลี่ยนอยู่ ซึ่งประชุมไปแล้ว 1 ครั้ง เหลืออีก 1 ครั้ง แต่แนวโน้มก็อาจจะเป็นไปได้ เพียงแต่ก็ต้องศึกษารายละเอียดเรื่องประสิทธิภาพด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น