“หมอธีระวัฒน์” สงสัยปศุสัตว์มั่วตัวเลขฉีดวัควีน-ทำหมัน “หมาจรจัด” เหตุ “พิษสุนัขบ้า” ไม่ลด ซ้ำเจอเหตุการณ์วัคซีนด้อยคุณภาพ นำเข้าไม่ผ่าน อย. เจ้าหน้าที่ฉีดไม่เพียงพอ ค้านเก็บภาษีเลี้ยงหมา ทำคนเลี้ยงหมาในชุมชนเลิกดูแล หนุนทำหมันสุนัขตัวผู้ด้วยการฉีดไข่
จากกรณีการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าในสัตว์ที่ไม่ได้คุณภาพ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิต (สตง.) ตีความว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถใช้งบประมาณในการซื้อวัคซีนพิษสุนัขบ้าในสัตว์มาฉีดได้ ทำให้เกิดช่วงว่างในการฉีดวัคซีน ขณะที่จำนวนประชากรสุนัขจรจัดก็ยังไม่สามารถควบคุมได้
วันนี้ (20 มี.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีการจัดเวทีอภิปรายหัวข้อ “ตอบโจทย์สังคม โรคพิษสุนัขบ้า” โดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้าที่ระบาดนั้นเกิดจากการควบคุมประชากรสุนัขจรจัดไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถฉีดวัคซีนในสุนัขตามเป้าหมายได้ แต่การรายงานข้อมูลที่ผ่านมาจะบอกว่าฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าและทำหมันในสุนัขจรจัดได้ตามเป้าตลอด 70-80% ตัวเลขเหล่านี้มาจากไหน เพราะเอาเข้าจริงแล้วจำนวนประชากรสุนัขจรจัดอาจจะมีมากกว่า 10 ล้านตัว หากดำเนินการได้ตามนี้จริง เหตุใดจึงมีจึงจำนวนสุนัขจรจัดเพิ่มขึ้น มีคนถูกกัดเพิ่มขึ้น และพบโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มขึ้น บางพื้นที่พบการระบาดเพิ่มขึ้น 10-20% ขณะที่บางพื้นที่การตรวจหัวสุนัขแล้วพบไวรัสพิษสุนัขบ้าเพิ่มถึง 50% ประเด็นนี้เราตั้งข้อสังเกตมาตั้งแต่ปี 2559 แล้ว แต่เรื่องเงียบไป จนมาเกิดปัญหามากขึ้น อีกประเด็นคือ วัคซีนในสัตว์มีจำนวนเพียงพอและมีคุณภาพหรือไม่ เพราะช่วง 2-3 ปีที่มีการทำลายวัคซีนในสัตว์ที่ตกคุณภาพ ซึ่งมีคำถามว่าครั้งนั้นใช้วัคซีนจากไหน จากประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่ ขณะที่บุคลากรที่ฉีดก็ต้องยอมรับว่าไม่พอ แล้วเอาใครที่ไหนไปฉีดถึงได้ความครอบคลุมถึงร้อยละ 80 จากข้อมูลพบว่ามีการเอาวัคซีนไปให้ชาวบ้านฉีดเองอยู่เนืองๆ
“เชื่อว่าเรื่องการทำหมันและฉีดวัคซีนมีการโกงตัวเลข และสงสัยว่ามีการหักเหงบประมาณหรือไม่ วัคซีนทุกชนิดทั้งในคน ในสัตว์ ต้องผ่านการประเมินคุณภาพจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่ใช่แค่ดูใบรับรองจากประเทศต้นทาง และเท่าที่ทราบมีการส่งตรงวัคซีนมาจากกรมปศุสัตว์ และเกิดเรื่องคุณภาพวัคซีนไม่ดี มีการเรียกเก็บ และเอาวัคซีนที่ไหนมาใช้ โดยวันนี้ได้ข้อมูลจากสัตวแพทย์ที่ไม่ประสงค์ออกนามอย่างน้อย 5 คน บอกว่าวัวัคซีนยังขาดแคลนมากและไม่รู้ว่าจะใช้ตัวไหน ซึ่งเมื่อรู้ปัญหาทำไมไม่แก้ไข ในที่สุดก็จะมาแก้ตอนนี้และเพิ่งมาบอกว่าได้รับงบประมาณมา 360 ล้านบาทเพื่อนำเข้าวัคซีน และก่อนหน้านั้นหายไปไหน คือจะของบอย่างเดียวหรืออย่างไร เรื่องนี้คล้ายกับคดีหวย 30 ล้านบาท พอความมาแตกก็มีการอธิบายต่างๆ จะไปโทษสตง.อย่างเดียวไม่ได้ที่สั่งห้าม ซึ่งเหตุผลเพราะตรวจเจอวัคซีนที่ไม่ได้มาตรฐาน และช่วงที่สั่งห้ามก็ยังมีอีกหลายวิธีในการแก้ปัญหา แล้ว 2-3 ปีที่ผ่านมาทำอะไร” ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว และว่ากรณีที่เกิดขึ้นที่เอามาใช้ในประเทศไทยได้ผ่านการตรวจสอบแล้วหรือไม่ ใครเป็นคนควบคุม และใครเป็นคนสั่งตรงจากบริษัทและมาใช้ทั้งประเทศ แม้จะบอกว่าผ่านมาแล้ว แต่ก็ต้องถามว่ามีการตรวจสอบคุณภาพหรือไม่อย่างไร
ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า สำหรับประเด็นการเก็บภาษีสัตว์เลี้ยงมองว่าประเทศไทยยังไม่ถึงเวลา เพราะจะยิ่งผลักให้คนใจบุญที่ดูแลสุนัขในชุมชน พาไปฉีดวัคซีนและทำหมัน ละทิ้งไม่เลี้ยงดูต่อให้กลายเป็นสุนัขจรจัดแบบ 100% การแก้ปัญหาต้องยอมรับความจริงว่าบกพร่องตรงไหน และบูรณาการการทำงานอย่างชัดเจนทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมปศุสัตว์ และเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นควรเปิดเผยข้อมูลจริง และเอาจริง ไม่ใช่นุ่มนวล หรือเบี่ยงประเด็น เมื่อรู้และแก้ไขตรงนี้ได้ถึงจะเรียกว่าเซ็ตซีโรของประเทศไทยจริงๆ ส่วนการทำหมันโดยใช้ “ซิงค์กลูโคเนต” ฉีดใส่ไข่ของสุนัขตัวผู้ เพื่อทำให้ท่ออสุจิตีบ ค่าใช้จ่ายตก 8 บาทต่อหลอดเท่านั้น ถือว่าถูกมาก เป็นวิธีที่สะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องใช้ยาสลบ ไม่ต้องกักสุนัขไว้ดูอาการเหมือนอย่างการผ่าตัด ซึ่งวิธีฉีดนี้มีการใช้ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการแล้วช่วยลดประชากรสุนัขจรจัดลง มีคุณภาพชีวิตดี ไม่ต้องเจ็บทรมานจากแผล
ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า นอกจากนี้ การประกาศพื้นที่สีแดง เขียว และเหลืองก็เป็นปัญหา เพราะประชาชนเชื่อทางการมาก หากบอกเป็นพื้นที่สีเขียว เวลามีสัตว์ป่วยตายเขาก็เอามากิน ถ้าบอกพื้นที่สีแดงก็ไม่กิน แต่ฝังกลบอย่างดี ปีที่แล้วมีชาวบ้านกินวัวที่ตายเพราะพิษสุนัขบ้าต้องไปฉีดวัคซีนเป็นร้อยคน ดังนั้น ประเทศไทยตอนนี้ควรประกาศเป็นพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด เพราะตราบใดที่ยังควบคุมประชากรสุนัขและแมวไม่ได้ ฉีดวัคซีนไม่ได้ตามเป้าก็เสี่ยงทั้งหมด และเมื่อพบสัตว์ป่วยไม่ใช่ดูแค่เดือนเดียวแล้วบอกว่าปลอดโรค แต่ต้องติดตามต่อเนื่องทุกๆ 6 เดือน เนื่องจากสุนัขมีโอกาสแพร่เชื้อให้ตัวอื่นได้กว่า 10 ตัว และแต่ละตัวมีอาการแสดงโรคต่างกัน เช่น 3 เดือน 4 เดือน หรือ 6 เดือน และถ้าจะปลอดจริงๆ คือต้องไม่มีเลยตลอด 2 ปี จากนโยบายจังหวัดปลอดโรคพิษสุนัขบ้าในคน พอมีปัญหาทางจังหวัดก็ไม่กล้าส่งตรวจ เพราะกลัวว่าจะเจอแล้วทำให้จังหวัดเสียคะแนน ดังนั้น การจะยกย่องจังหวัดใดเป็นพื้นปลอดโรคไม่ใช่ไปเชิดชูจังหวัดที่ไม่มีคนป่วยหรือเสียชีวิตเลย แต่ควรยกย่องจังหวัดที่ดูแลเข้มข้น จากที่เคยปรากฏโรคก็กลับไม่มี แบบนี้ถึงจะเรียกเอาจริง
ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า สำหรับคนที่ถูกสัตว์กัด ข่วน เลีย ขอให้ทำทำความสะอาดแผลและไปรับวัคซีนป้องกันโรค และขณะนี้อยู่ระหว่างรอให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาโปรแกรมฉีดวัคซีนใหม่ คือ 3 เข็มใน 7 วัน จาก 5 เข็ม ใน 28 วัน และการให้เซรุ่มเท่าที่จำเป็นกรณีที่เกิดบาดแผลมีเลือด ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำด้วย ซึ่งตัวเซรุ่มจะฉีดเข้าที่บาดแผลเพื่อช่วยไปกดเชื้อและทำลายเชื้อบางส่วนไป ระหว่างรอให้วัคซีนที่ฉีดเข้าไปสร้างภูมิคุ้มกันซึ่งใช้เวลาประมาณ 10 วัน